วัฒนธรรม ‘การอ่าน’ ในลมหายใจ ‘ปกาเกอะญอ’
เรื่องโดย อาภาวรรณ โส๓ณธรรมรักษ์ Team content www.thaihealth.or.th
ในประเทศไทยมีจำนวนพี่น้องชาติพันธุ์หลายๆ ชนชาติอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก กระจายตัวในพื้นที่จังหวัดต่างๆ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก กำแพงเพชร แพร่ และสุโขทัย หนึ่งในนั้นคือ ‘กลุ่มปกาเกอะญอ’ ซึ่งเป็นชนเผ่าดั้งเดิมที่อยู่ในประเทศไทยแถบลุ่มแม่น้ำทางภาคเหนือมานานกว่า 100-200 ปี มีประเพณีและวัฒนธรรมเป็นของตนเอง อีกทั้งยังผูกพันกับวิธีของธรรมชาติอย่างเหนียวแน่น
“หนูรักบ้านของตัวเอง และอยากพัฒนาให้ดีขึ้น ซึ่งตอนนี้ก็เป็นแกนนำเยาวชนด้านการอ่านด้วย” สุมาลี ภูมิภัทรคีรี มัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านพะเด๊ะ จ.ตาก เล่าให้ฟังด้วยแววตาที่มุ่งมั่น พร้อมกับความภาคภูมิใจในชาวปกาเกอะญอของเธอ
– สุมาลี ภูมิภัทรคีรี –
ในพื้นที่บ้านพะเด๊ะ ต.พระธาตุผาแดง อ.แม่สอด จ.ตาก มีชาวปกาเกอะญอ กลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์ ได้รวมกลุ่มกัน ณ โบสถ์คาทอลิกนักบุญเปโตรบ้าน พะเด๊ะ เพื่อทำกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ ด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงด ละ เลิกเหล้าบุหรี่ การจัดการขยะ การอ่าน และสร้างเครือข่ายสร้างสุขภาวะร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
สุมาลี บอกกับเราว่า ที่มูลนิธิคาทอลิกนครสวรรค์ มีโครงการอ่านเชื่อมใจ สองวัยสร้างสุข ซึ่งเธอเองเป็นแกนนำเยาวชน โดยนำเรื่องการอ่านเข้าไปอยู่ในวัฒนธรรม ประเพณี วิถีชีวิต กิจกรรมต่างๆ
“เสาร์ – อาทิตย์ หนูก็จะรวมกลุ่มกับเพื่อนๆ ไปอ่านหนังสือให้น้องฟังที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยอ่านหนังสือนิทานพื้นบ้านของชาวปกาเกอะญอที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์ป่าไม้ ประเพณีวัฒนธรรม และหนูก็ชอบอ่านการ์ตูน นิทาน นิยายต่างๆ” สุมาลี เล่าในฐานะที่เป็นแกนนำเยาวชนในด้านการอ่าน เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนใน “โครงการอ่านเชื่อมใจ สองวัยสร้างสุข” โดยมูลนิธิคาทอลิกนครสวรรค์ จ.ตาก ร่วมกับ แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส.
ชาวปกาเกอะญอมีวิถีชีวิตที่ผูกพันกับป่าไม้อย่างแนบแน่น ทั้งประเพณี พิธีกรรม และความเชื่อ ก็ล้วนเกี่ยวข้องกับลมหายใจของธรรมชาติแทบทั้งสิ้น นับตั้งแต่ประเพณีการเกิด การบอกรัก การแต่งงาน งานศาสนา ฯลฯ ดังนั้นการบอกเล่าและถ่ายทอดวิถีชีวิตของปกาเกอะญอจะถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นอย่างต่อเนื่องจนมาถึงรุ่นเยาวชนในหมู่บ้าน
ความเป็นชาวปกาเกอะญอถูกถ่ายทอดลงมาได้อย่างเต็มวัยในช่วงอายุวัยรุ่นของ สุมาลี ทั้งการสื่อสาร การแต่งกาย งานฝีมือทอผ้า (ที่ผู้หญิงจะต้องทอผ้าพื้นเมืองเพื่อใส่เอง หรือมากไปกว่านั้นคือการทอผ้า ทอย่ามเพื่อขาย และอนุรักษ์การทอผ้าไว้อย่างเหนียวแน่น)
“ชีวิตหนูที่หมู่บ้านมีความเรียบง่าย แตกต่างจากคนเมืองใหญ่ๆ อย่างเห็นได้ชัด หนูชอบความสงบและสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้ เราทำไร่ ทำนา และมีวัฒนธรรม ‘การมัดมือ’ ในเดือนสิงหาคมให้กับเด็กๆ เพื่อเรียกขวัญและกำลังใจ นอกจากนี้พวกเรายังฝึกเล่น ‘ลาวกระทบไม้’ เพื่อแสดงถึงความกลมเกลียวและความสามัคคี ในวันหยุดพวกเราก็จะทำ ‘ขนมพื้นบ้าน’ ที่ทำจากแป้งและมะพร้าวกินกันอีกด้วย” สุมาลี เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงที่แจ่มใส
“การเตะบอลเป็นกิจกรรมที่เด็กๆ ชื่นชอบมากกว่าการอ่านหนังสือ ดังนั้นเราจึงให้เด็กๆ อ่านหนังสือก่อนและจึงออกไปเล่นกันได้” นิดต์ มือแป ผู้ประสานงานโครงการอ่านเชื่อมใจ สองวัยสร้างสุขโดยมูลนิธิคาทอลิกนครสวรรค์ จ.ตาก เล่าให้ฟังถึงการอ่านที่เกิดขึ้นในชุมชน
นิตย์ ยังเล่าให้ฟังต่อว่า ในวันหยุดเด็กๆ จะมาร่วมกันทำกิจกรรมโดยผสมผสานเรื่องการอ่านเข้าไปอยู่ในกิจกรรม เช่น เล่านิทาน การเรียนภาษาปกาเกอะญอ รวมไปถึงการเรียน ‘ขับลำนำ หรือธา’ ซึ่งเป็นบทกวี ลำนำเพลง และวรรณกรรม โดยเนื้อหาจะเกี่ยวกับวิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ธรรมชาติที่ผูกพันของปกาเกอะญอ โดยจะผลัดกันขับลำนำและขับรวมกัน โดยใช้ในงานศพ งานแต่งงาน งานทางศาสนา เคล้าคลอไปกับเครื่องดนตรีพื้นบ้านอย่าง ‘เตหน่า หรือ พิณของปากาญอ’ ทำจากวัสดุที่หาได้ในท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันเด็กๆ ที่เป็นแกนนำเยาวชนก็สามารถเล่น เตหน่า กันได้ เพื่อสืบถอดวัฒนธรรมนี้ต่อไป
“การอ่านนับเป็นพื้นฐานและการจุดประกายให้เกิดกิจกรรมต่างๆ ในชุมชน เพื่อเชื่อมร้อยทั้งผู้ใหญ่และเด็ก ทำให้กลุ่มคนทั้งสองวัยมีกิจกรรมร่วมกัน และเด็กๆ ยังได้เรียนรู้ประเพณี วัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอเพื่อสืบทอดต่อไป” นิดต์ บอก
การผลักดันและขับเคลื่อนด้านการอ่านในประเทศไทย แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. นับว่าเป็นแผนงานที่สำคัญยิ่งในการสนับสนุนให้เกิดพื้นที่อ่านยกกำลังสุขขึ้นทั่วประเทศ นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. บอกเล่าถึงโครงการการอ่านที่เกิดขึ้นพื้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอว่า โครงการอ่านฯ เราทำกันทั้งประเทศ พยายามผลักให้เป็นนโยบายสาธารณะระดับชาติ ที่นี่เป็นที่เดียวที่เน้นส่งเสริมการอ่านในกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ซึ่งน่าสนใจ เพราะหากสามารถส่งเสริมการอ่านอย่างเป็นรูปธรรมได้ ก็จะเป็นพื้นที่ต้นแบบการอ่านให้กับกลุ่มปกาเกอะญอที่เหลือทั้งประเทศในอนาคต ทั้งนี้ภาคีต่างๆ ในพื้นที่ น่าจะช่วยเป็นแรงผลักดันให้การสร้างวัฒนธรรมการอ่านในพื้นที่เติบโตขยายผลไปพร้อมๆ กันพื้นที่อื่นๆ ทั้งประเทศแน่นอน
ความมหัศจรรย์ของ “การอ่าน” เป็นพลังที่สำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นที่ส่งเสริมให้เกิดสุขภาวะทั้ง 4 มิติ กาย จิต สังคม และปัญญา เมื่อเด็กและเยาวชนมีฐานการอ่านที่มั่นคง ก็จะเติบโตขึ้นเป็นพลเมืองที่ตื่นรู้ นำพาการเปลี่ยนแปลงที่สร้างสรรค์มาสู่สังคมไทย