ลูกวัยรุ่น ไม่วุ่นอย่างที่คิด

ไม่มีเด็กคนไหนที่ไม่มีปัญหา แต่ละปัญหามักแตกต่างกันไป ซึ่งคนเกี่ยวข้องไม่มีสิทธิ์ที่จะท้อถอย แต่ในฐานะผู้ที่ผ่านโลกใสจนมาถึงวัยนี้แล้ว ต้องใช้วิธีทั้งการส่งเสริมป้องกัน โดยให้พื้นที่ให้เด็กหรือวัยรุ่นได้ทำกิจกรรมที่เสริมสร้างคุณค่าให้แก่ตัวเองมากกว่าการคอยห้ามปรามหรือตำหนิพวกเขา

ลูกวัยรุ่น ไม่วุ่นอย่างที่คิด

ในส่วนของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ต้องร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เข้าใจธรรมชาติของเด็ก ช่วยพวกเขาหาตัวตนให้ได้ พัฒนาความฉลาดทางอารมณ์ อย่างไรก็ตาม เรื่องดังที่กล่าวมาอาจไม่สำเร็จได้ หากขาดหน่วยงานที่ให้ความรู้อย่างถูกต้อง นี่จึงเป็นที่มาของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์

พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวว่า เราเป็นหน่วยงานที่เข้ามาช่วยป้องกันการเกิดปัญหาของเด็ก โดยร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ในด้านระบบการทางด้านการแพทย์ คัดกรองเด็กกลุ่มเสี่ยง เพื่อสามารถแก้ไขปัญหาได้ทันที ให้เขากลับมาเป็นเด็กปกติ ทำให้เขามีชีวิตที่ดี รู้อนาคตตัวเอง รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไป หรือเป้าหมายในชีวิต

“อย่างเช่น เด็กสมาธิสั้นก็ส่งตัวมาให้รักษา เด็กก็ปกติ จะไม่เกเร หรืออย่างเด็กอยู่ดีๆ ก็ซึม แยกตัวจากเพื่อน เขาก็ส่งมาให้เราแก้ไข สาเหตุอาจเป็นเรื่องการปรับตัวหรือเข้ากลับที่บ้านไม่ได้ เราอาจเรียกพ่อแม่และเด็กมาบำบัดร่วมกัน ก็จะทำให้เด็กมีความสุขขึ้น กลับไปเรียนหนังสือได้ตามปกติ” พญ.วิมลรัตน์ กล่าว

พญ.วิมลรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับปัญหาใหญ่ตอนนี้คือ เด็กทะเลาะวิวาท ยกพวกตีกัน เกิดจากหลากหลายปัจจัย อาทิ ปัจจัยภายใน คือการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย การเปลี่ยนแปลงด้านฮอร์โมน พื้นฐานอารมณ์ เช่น อารมณ์ร้อน  อารมณ์เย็น หรือหวั่นไหววิตกง่าย ซึ่งติดตัวเด็กมาตั้งแต่เกิด

วัยรุ่นไม่เห็นคุณค่าในตัวเอง ซึ่งเมื่อใดที่เด็กหรือวัยรุ่นมองไม่เห็นคุณค่าของตัวเองและถูกดูแคลนว่าด้อยความสามารถ พวกเขาก็จะแสดงออกเพื่อเรียกร้องความสนใจทั้งจากสังคมทั่วไปและจากภายในกลุ่มเพื่อน การทะเลาะวิวาท ทำร้ายร่างกาย ยกพวกตีกัน เป็นวิธีการหนึ่งที่คิดและทำได้ง่าย ทำให้รู้สึกเด่นดัง เพื่อนเห็นความสามารถและได้รับการยอมรับ

ลูกวัยรุ่น ไม่วุ่นอย่างที่คิดสำหรับความก้าวร้าวของเด็ก พญ.วิมลรัตน์กล่าวว่า ความอดทนและความก้าวร้าวสัมพันธ์กันอย่างมาก เพราะเมื่อไม่ได้อะไรดั่งใจ ทนไม่ได้ อึดน้อย ก็ต้องระบายออกถึงความผิดหวัง เสียใจ ซึ่งแต่ละคนก็จะแสดงความก้าวร้าวรุนแรงมากน้อยแตกต่างกัน อาจโวยวาย ด่าว่า ทำร้ายตัวเอง และทำร้ายผู้อื่นในที่สุด ครอบครัว โรงเรียน และชุมชน

การฝึกความอึดหรือความอดทนให้กับเด็ก โดยไม่ตามใจหรือช่วยเหลือมากเกินไป ควรให้พวกเขาเจอกับปัญหาอุปสรรคบ้าง เพื่อให้รู้จักการแก้ปัญหาด้วยตนเอง รู้จักการควบคุมอารมณ์ มีความอดทนในการรอคอย มีระเบียบวินัยในตนเอง ก่อนที่เขาจะแสดงความก้าวร้าวรุนแรงเกินเหตุจนกลายเป็นอาชญากรที่เราคาดไม่ถึง” รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์  กล่าว

พญ.วิมลรัตน์ บอกว่า การสังเกตว่าเด็กหรือวัยรุ่นจะมีแนวโน้มเป็นคนก้าวร้าว ใช้ความรุนแรงในการแก้ปัญหาหรือไม่นั้น นอกจากการสังเกตได้ง่ายจากเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมด้านอารมณ์อยู่แล้ว เช่น ชอบก่อกวน โหดร้ายทารุณสัตว์ ชกต่อย ทำร้ายร่างกายตนเองและผู้อื่น ทำลายข้าวของ ขู่คุกคาม ไม่เคารพกฎระเบียบต่างๆ เด็กวัยรุ่นที่เก็บตัว เก็บกด ไม่เคยได้ระบายความรู้สึกออกมาอย่างเหมาะสม ก็เป็นกลุ่มเด็กที่น่าเป็นห่วงและควรเฝ้าระวังด้วยเช่นกัน เพราะมีโอกาสที่จะแสดงความก้าวร้าวรุนแรง เป็นอันตรายต่อตนเอง คนรอบข้าง และสังคมได้ทุกเมื่ออย่างน่ากลัว

ลูกวัยรุ่น ไม่วุ่นอย่างที่คิดรองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวถึงสถานการณ์ปัญหาของวัยรุ่นอื่นๆ ว่า สถานการณ์ที่น่าเป็นห่วงคือเซ็กซ์ เรื่องยาเสพติด เป็นปัญหาจากอดีตมาถึงปัจจุบัน ทั้งที่มีหลายหน่วยงานพยายามแก้ไข แต่ต้องแก้แบบบูรณาการ อย่างการแก้เรื่องเซ็กซ์ มีหลายหน่วยงานแก้ไขเยอะไปหมด แต่สุดท้ายก็ยังมีเด็กท้อง อาจเป็นเพราะความไม่เข้าใจของเด็ก หรือสิ่งแวดล้อมที่เด็กต้องมีแฟนเร็วๆ จึงต้องเข้ามาช่วยเหลือกันทุกหน่วยงาน

นอกจากนี้ “เขา” ยังกล่าวถึงสถานการณ์การแต่งตัวของวัยรุ่นที่อินเทรนด์เกาหลีว่า ปกติจะทำตามสมัยนิยม เพราะต้องการความยอมรับภายในกลุ่มเป็นเรื่องสำคัญ การแต่งกายจึงเป็นไปตามเทรนด์ อย่างตอนนี้เกาหลีมาแรงก็จะแต่งในแนวทางนั้น แต่เด็กส่วนใหญ่ก็จะดูความเหมาะสมในการแต่งตัว อย่างเวลาไปเที่ยวกับเพื่อน บางครั้งแต่งตัวเรียบร้อย อาจจะมีสไตล์ที่เหมาะสมขึ้น ส่วนการแต่งตัวในสถานที่ช็อปปิ้งก็แต่งตัวอีกแบบความเหมาะสม

“ปัญหาที่เกิดขึ้นคือแต่งแล้วไม่เหมาะสม เช่น โป๊เกินไป ร้อนเกินไป เด็กจะเรียนรู้ตามกลุ่มเพื่อนเขาเอง หากเพื่อนแต่ง เขาไม่แต่ง ก็จะอยู่ในกลุ่มไม่ได้  แต่หากไม่ให้เด็กไปตามเทรนด์แฟชั่นก็เป็นไปไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่ที่ผู้ใหญ่จะนำเทรนด์ตรงไหนมานำเสนอให้เกิดกระแสนิยม ตั้งแต่สื่อ ดารา อะไรที่แต่งแล้วภาพลักษณ์ดูดี เพราะหากทุกอย่างตอบสนองเด็กก็จะไปตามนั้น”

รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กล่าวอีกว่า การแต่งตัวของเด็กที่ไม่เหมาะสมบางครั้งอาจไม่ทราบข้อเท็จจริงโดยเฉพาะเด็กผู้หญิง บางครั้งใสชุดบางๆ สั้นๆ โดยที่เขาคิดเพียงว่าสวย ไม่ได้คิดมากกว่านั้น โดยเด็กผู้ชายจะทำตามฮอร์โมนทางเพศ พอเห็นจะควบคุมตัวเองไม่ได้และกลายเป็นเรื่องเซ็กซ์ไปได้ อันตรายของเด็กผู้หญิงจึงเกิดขึ้นตรงจุดนี้ เพราะแค่เขาอยากสวย แต่เป็นความเข้าใจผิด

ภาพรวมการแต่งตัวของเด็กไทยยังไม่น่ากังวล แต่จะมีบางกลุ่มที่แต่งตัวแรง เพราะการเข้าถึงง่ายกว่าแต่ก่อนมาก ซึ่งกระจายไปทุกกลุ่มตั้งแต่ระดับมัธยมเป็นต้นไป เพราะเป็นธรรมชาติของวัยรุ่นที่อยากหาสไตล์เป็นที่ยอมรับ

การควบคุมดูแลมีหน่วยงานรับผิดชอบมากทั้งเอกชนและภาครัฐ จะทำให้เด็กมีความเหมาะสมทางวัฒธรรม จึงเป็นเรื่องของการรณรงค์ โดยการสร้างกระแสมาจากสื่อสารมวลชนที่เป็นกลไกลสำคัญที่เด็กเข้าถึง ในทางโทรทัศน์ อินเทอร์เน็ต หากออกมาสร้างกระแสดีๆ ก็จะส่งผลให้เด็กแต่งตัวเช่นนั้นตามความเหมาะสม ตามเทรนด์ที่ต้องการ

ลูกวัยรุ่น ไม่วุ่นอย่างที่คิด

“ดาราไทยมีอิทธิพลต่อการแต่งตัวของเด็กมหาศาล 100% แต่ถามว่าเหมาะสมหรือไม่ ต้องยอมรับว่าดาราไทยต้องทำ เพราะไม่ทำเขาก็เชย เพราะเขาไม่ทำ แต่คนอื่นทำ เขาก็อยู่ไม่ได้ เปรียบเหมือนเด็กเช่นเดียวกัน เขาก็อยู่ไม่ได้ จึงต้องเป็นความร่วมมือ”

พญ.วิมลรัตน์ แนะการแต่งตัวของเด็กว่า ให้ดูเวลาสถานที่และตัวบุคคลที่เราอยู่ด้วย หากแต่งตัวสุดๆ ไปบ้านเพื่อนหรืองานปาร์ตี้ แต่งตัวเรียบร้อยคงอยู่ไม่ได้ จึงดูว่าเราไปอยู่กับใคร สถานที่จะไปเป็นอย่างไร เป็นโรงเรียน เป็นวัด ว่าควรจะแต่งตัวอย่างไร หรือกลางคืนเปลี่ยวๆ ควรแต่งตัวอย่างไร

  เร็วๆ นี้ สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นฯ จะเปิดอบรม “(รู้)…ทันลูก (รู้)…ทันเกม” ในวันที่ 28 มี.ค.54 เวลา 09.00-12.00 น. โดยมีรายละเอียดดังนี้ การเข้าใจธรรมชาติลูกวัยรุ่น รู้จักเกมคอมพิวเตอร์ แนวทางการช่วยเหลือ การสร้างสัมพันธภาพกับลูก และอบรม “ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้สำหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางการเรียนรู้ (ld)” ในวันที่ 28 มี.ค.54 ถึง 8 เม.ย. 54 (2 สัปดาห์/ 10 วันทำการ) เป็นการอบรมส่งเสริมทักษะการจัดการกับปัญหาการเรียนรู้สำหรับเด็กแต่ละช่วงชั้นการศึกษา เพิ่มทักษะการเข้าใจทางวิชาการรายวิชา และเพิ่มทักษะชีวิต การปรับตัว การแก้ไขปัญหาในสถานการณ์จริง ค่าอบรม 3,000 บาท สนใจติดต่อสอบถามรายละเอียดได้ที่

สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ อยู่ที่ 75/1 ถนนพระราม 6 เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400 หมายเลขโทรศัพท์ 0-2354-8306 โทรสาร 0-2245-7834 เปิดให้บริการตรวจรักษาเกี่ยวกับสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลกลางวัน บริการส่งเสริมพัฒนาการเด็กเล็ก นอกจากนี้ ทางโรงพยาบาลยังเปิดให้บริการปรึกษาปัญหาสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นด้วย หากต้องการใช้บริการปรึกษาทางโทรศัพท์สามารถโทร.เข้ามาปรึกษาได้ที่หมายเลข 0-2354-8305-7 ระหว่างเวลา 08.30-16.00 น. ยกเว้นวันหยุดราชการ

 

 

ที่มา: เว็บไซต์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code