ละอ่อนน่านสานพลัง ร่วมฮักบ้านเกิดปี 3
ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ gotoknow.org
บ่ายวันหนึ่ง เยาวชนหลายร้อยคนในชุดเมืองน่านและกลุ่มชาติพันธุ์สวยงามรวมตัวกันที่วัดพระธาตุแช่แห้ง พระอารามหลวง ต.ม่วงตื้ด อ.ภูเพียง จ.น่าน ตั้งแถวประดับประดาด้วยตุงพร้อมข้อความบอกเล่าปัญหาเมืองน่าน รณรงค์ตีฆ้องร้องป่าวปัญหาให้คนเมืองน่านตื่นตัว ในงานมหกรรมพลังเยาวชน พลังสร้างสรรค์ เครือข่ายละอ่อนน่านฮักบ้านเกิดปี 3 ตลอดสองเส้นทางมีชาวบ้านยืนดูด้วยความสนใจ
ภายในงาน เยาวชนแสดงศักยภาพของตนเองในการทำโครงการชุมชนผ่านรูปแบบนิทรรศการเล่าเรื่องราว การแสดงศิลปวัฒนธรรม อาทิ ตีกลองสะบัดชัย ฟ้อนดาบฟ้อนเจิง ขับซอล่องน่าน ระบำฝัดข้าว ระบำม้ง ฯลฯ กิจกรรมถ่ายทอดการเรียนรู้ของเยาวชน โดยมีพระชยานันทมุนี เจ้าอาวาสวัดพระธาตุแช่แห้งพระอารามหลวง เป็นประธานในพิธี ร่วมด้วยผู้ใหญ่ใจดี รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เข้าร่วมงานจำนวนมาก
เยาวชนเหล่านี้ผ่านการทำโครงการเสริมสร้างศักยภาพเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสยามกัมมาจล ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเริ่มโครงการในพื้นที่ จ.น่าน ตั้งแต่ปี 2557
ตลอด 3 ปีที่ผ่านมามีกลุ่มเยาวชนเข้าร่วมโครงการจำนวน 90 คน กลุ่มพี่เลี้ยงจำนวน 16 คน ครอบคลุม 11 อำเภอ โดยมีประเด็นขับเคลื่อนคือด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ วัฒนธรรมประเพณี การจัดการขยะและสุขภาพ เกษตรสัมมาชีพ เป็นต้น
โครงการในปี 3 มีจำนวน 18 โครงการ สนใจในปัญหาชุมชน 4 ประเด็นได้แก่ "วัฒนธรรม-ทรัพยากร-การจัดการขยะ และสุขภาพ" เยาวชนสะท้อนการเรียนรู้การทำโครงการผ่านช่วงเล่าขานพลังการเรียนรู้ บอกเล่าคุณค่า ประโยชน์ที่เกิดขึ้นกับตนเองครอบครัว ชุมชน และเมืองน่าน
เริ่มที่ประเด็นแรก การจัดการทรัพยากร น.ส.อรสินี นิกรเถื่อน จากโครงการอนุรักษ์ป่าชุมชนบ้านขุนน้ำลาด เล่าว่า "ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกัน ยอมรับความเห็นต่าง การทำโครงการนี้ช่วยทำให้พวกเราเยาวชนเห็นความสำคัญของทรัพยากรทั้งลำน้ำ ดิน ป่า และมาช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรให้คงอยู่คู่กับเมืองน่านต่อไป อยากให้ทุกคนช่วยกันรักษาป่าค่ะ"
ในประเด็นสุขภาพ เกษตรสัมมาชีพ น.ส. จิดาภา ติละ จากโครงการสานสายใยสมุนไพรคู่ชุมชน เป็นตัวแทนเยาวชนสะท้อนการทำโครงการว่า "พวกเราลงไปหาข้อมูลเกี่ยวกับอาหารและสมุนไพรในชุมชน เพื่อทำให้คนในชุมชนตระหนักในเรื่องอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ"
มาที่ประเด็นวัฒนธรรม ที่ทำให้เยาวชน ไม่ลืมรากเหง้าของตนเอง สามเณรสหภูมิ อุตพรม จากโครงการสืบสาน สืบทอด สืบต่อ สามเณรมัคคุเทศก์ สะท้อนการเรียนรู้ว่า "พวกเราสามเณรเห็นว่ามีวัฒนธรรมหลายอย่างที่กำลังสูญหายไป เช่น การขับซอล่องน่าน การบายศรีสู่ขวัญ จึงทำโครงการนี้ขึ้นมา และส่งเสริมให้มีบทเรียนในโรงเรียนและทำเป็นเครือข่ายผู้รู้มาสอนการขับซอ ส่วนเรื่องการทำบายศรีสู่ขวัญก็เช่นเดียวกัน อนุรักษ์โดยมีการสอน จะทำให้เยาวชนมีรายได้เลี้ยงชีพด้วย"
ประเด็นสุดท้าย การจัดการขยะ น.ส.เมย์ บัวใหญ่ เป็นตัวแทนสะท้อนสิ่งที่ทำว่าชุมชนมีการลักลอบเผาขยะ ทิ้งขยะไม่เป็นที่ ส่งผลกระทบต่อชุมชนในด้านสุขภาพและความเป็นอยู่ จึงเกิดโครงการที่เยาวชนช่วยกันเก็บขยะ กวาดถนน คัดแยกขยะ เราทุกคนจะสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนรักบ้านเกิด เริ่มจากตนเอง เริ่มจากทำให้บ้านตนเองสะอาดก่อนและชุมชนจะสะอาดตามมา
ในเวทีเสวนา "เปิดโอกาสหนุนนำละอ่อนน่านฮักบ้านเกิด" จุฑารัตน์ ขุลิลัง ผู้ปกครองของ น.ส.วิมลศิริ ขุลิลัง เยาวชนในโครงการ บอกเล่าการเปลี่ยนแปลงของลูกสาวว่าหลังทำโครงการมีความรับผิดชอบ มีระเบียบ และใจเย็นขึ้น ชื่นชมกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ทำให้ลูกสาวมีความคิดอ่านที่โตขึ้น "ตอนนี้ตัวเองกับลูกสาวกลายมาเป็นที่ปรึกษาของกันและกันแล้วค่ะ"
สุดท้าย จิราภา เทพจันตา หรือปุ๊กกี้ ประธานเครือข่ายเยาวชนจังหวัดน่าน ให้สัญญาว่า "เด็กในวันนี้คือผู้ใหญ่ในวันหน้า พวกเราพร้อมจะเป็นต้นกล้าที่กำลังเติบโตไปพร้อมกับเมืองน่าน"