ลอยกระทง New Normal ปลอดเหล้า ปลอดโควิด-19
เรื่องโดย ฉัตร์ชัย นกดี Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลจาก เวทีเสวนาออนไลน์ เรื่องลอยกระทง ปลอดเหล้า ปลอดภัย ห่างไกลโควิด
ภาพโดย ปารมี ขันธ์แก้ว Team Content www.thaihealth.or.th
ประเพณีวันลอยกระทงประจำปี 2564 ตรงกับวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งงานลอยกระทงปีนี้สามารถจัดได้ตามปกติ เพื่อสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย แต่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการ ป้องกันโควิด-19 ตามแนวชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal
อย่างไรก็ตามประเพณีที่ดีงามอย่างงานลอยกระทงมักมีเรื่องของอุบัติเหตุและการทะเลาะวิวาท อยู่บ่อยครั้ง จนต้องมีการออกมาตรการห้ามดื่มและห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิดเพื่อความปลอดภัยของผู้ที่มาเที่ยวงาน โดยในเวทีเสวนาออนไลน์ เรื่องลอยกระทง ปลอดเหล้า ปลอดภัย ห่างไกลโควิด จัดโดยเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ได้สะท้อนมุมมองการจัดงานลอยกระทงในยุค New Normal ให้เป็นพื้นที่ปลอดภัยไร้แอลกอฮอล์อย่างยั่งยืน
นายศรีสุวรรณ ควรขจร กรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้ข้อมูลว่า ช่วงก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิด-19 การจัดงานลอยกระทงในจังหวัดใหญ่ ๆ เช่น จ.เชียงใหม่ จ.สุโขทัย และจ.ตาก นิยมนำเอาวัฒนธรรมมาดึงดูดนักท่องเที่ยว ซึ่งก็เป็นที่ชื่นชอบเพราะเป็นประเพณีโบราณที่ยังมีชีวิต อย่างไรก็ตามพบว่าแนวคิดการจัดงานมักเป็นไปเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว โดยได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มทุนที่หวังเข้ามาขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งถือเป็นการลดคุณค่างานลอยกระทงให้เป็นเพียงเรื่องของการตลาดเท่านั้น
นายศรีสุวรรณ กล่าวต่อว่า การจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้าต้องอาศัยความร่วมมือจากชาวบ้านซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ ต้องมีความรู้สึกหวงแหน ช่วยกันปกป้องคัดค้าน ไม่ให้มีการขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานลอยกระทง โดยเฉพาะการทำให้เห็นว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้ไม่ดื่มเหล้าไม่สูบบุหรี่ ซึ่งในช่วงวิกฤติโควิด-19 ถือเป็นโอกาสดีที่จะช่วยกันรณรงค์ให้นักท่องเที่ยวเปลี่ยนมุมมองที่มีต่องานลอยกระทงแบบเดิมๆ แล้วหันมาให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมที่ดีงาม มากกว่าจะมาท่องเที่ยวหาความสุขเท่านั้น
ด้าน พระครูสุมนต์ ธรรมธาดา เจ้าอาวาสวัดคลองกระจง จ.สุโขทัย เล่าให้ฟังว่า การจัดงานลอยกระทงเผาเทียนเล่นไฟ ของ จ.สุโขทัย จะมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลกันมามากมายในทุกๆ ปี แต่ก็ตามมาด้วยการดื่มเหล้าสูบบุหรี่ ปัญหาความรุนแรง ทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุ ซึ่งทำให้เกิดความไม่ปลอดภัยกับผู้ที่มาเที่ยวงานลอยกระทง เราจึงพยายามแก้ปัญหาในเรื่องเหล่านี้มาอย่างต่อเนื่อง จนทุกวันนี้ไม่มีการดื่ม การขายเหล้าเบียร์ ภายในงานลอยกระทง ใครดื่มหรือสูบบุหรี่จะกลายเป็นคนแปลกประหลาดทันที
พระครูสุมนต์ เล่าต่อว่า กว่าจะเป็นเช่นนี้ได้ เบื้องหลังการนำเอาเหล้าบุหรี่ออกจากงานลอยกระทง เราได้ประชุมวางแผนร่วมกันกับคณะกรรมการระดับจังหวัดเพื่อให้เกิดนโยบายและพิจารณาแนวทางปฏิบัติร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐ ภาคเอกชนและประชาชน รวมไปถึงกลุ่มเยาวชน จนได้เป็นนโยบายร่วมกันว่าเราจะจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้าปลอดบุหรี่ให้ได้ นอกจากนี้ ยังได้ประชุมสร้างความเข้าใจกับบรรดาร้านค้า โดยขอให้งดการจำหน่ายเพื่อความสงบสุขของงานลอยกระทง จากนั้นจึงทำการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง
“เราสามารถยกระดับงานลอยกระทงของ จ.สุโขทัย จากงานบุญประเพณี ให้กลายเป็นจารีตประเพณีไปแล้ว ซึ่งทุกคนจะเข้าใจตรงกันว่าเมื่อมางานลอยกระทงที่นี่จะไม่มีการดื่มเหล้าในงาน สำหรับการจัดงานในช่วงโควิด-19 ก็ยังคงมาตรการห้ามเช่นเดิม และในอนาคตหากมีการแอบแฝงเข้ามาขายเหล้า เชื่อว่าคนสุโขทัยก็คงจะไม่ยอม เพราะเขารู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ต้องช่วยกันเฝ้าระวังป้องกัน” พระครูสุมนต์ กล่าว
ขณะที่ นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) มองว่า การทำงานลอยกระทงปลอดเหล้า คนเริ่มยอมรับ เข้าใจ เพราะเห็นผลของการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น ทุกวันนี้หลายพื้นที่สามารถจัดงานลอยกระทงปลอดเหล้าได้เอง
อย่างไรก็ตามเนื่องจากยังมีการระบาดของโควิด-19 จึงควรมีมาตรการป้องกัน ดังนี้
1. รักษาระยะห่างกับผู้ที่อยู่ในงาน
2. ตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย
3. หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด
4. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่ในงาน
5. หมั่นล้างมือด้วยเจลแอลกอฮอล์
ผู้ที่จะไปร่วมงานลอยกระทงตามสถานที่ต่างๆ ในปีนี้ อย่าลืมปฏิบัติตามมาตรการทางสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 สสส.และภาคีเครือข่าย ขอร่วมอนุรักษ์ประเพณีวันลอยกระทงให้อยู่คู่กับสังคมไทยสืบไป
นอกจากนี้ สสส. ได้ร่วมกับสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) ขับเคลื่อนงานรณรงค์ปลอดเหล้าปลอดภัย เพื่อปรับเปลี่ยนค่านิยมการดื่มฉลองตามงานบุญประเพณีต่างๆ พร้อมสร้างความตระหนักถึงผลกระทบที่เกิดจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด