ลดให้น้อยแล้วค่อยเลิกหวาน
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ
สังคมไทยเพิ่งมีมาตรการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มที่มีค่าความหวานไปเมื่อกันยายนปีก่อน ทว่าพฤติกรรมของผู้คนซึ่งว่าด้วยการบริโภคยังคงเป็นคำถามทั้งในวันนี้และอนาคต
เทรนด์รักสุขภาพกำลังมาแรงก็จริง แต่อีกด้านผู้ผลิต ชา น้ำผลไม้ กาแฟ น้ำอัดลม และอีกสารพัดเครื่องดื่ม ก็กำลังปรับกลยุทธ์ ทั้งขนาด ราคา และส่วนผสมเช่นเดียวกัน ทพญ.ปิยะดา ประเสริฐสม ผู้อำนวยการสำนัก ทันตสาธารณสุข กรมอนามัย ในฐานะ ประธานเครือข่ายคนไทยไม่กินหวาน มองความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ว่า นี่คือหนึ่งในความสำเร็จแรกของการเคลื่อนไหว แต่จากนี้ไปก็ต้องขับเคลื่อนรณรงค์ให้สังคมไทยเห็นพิษภัยจากการบริโภคความหวานเกินความจำเป็นต่อไป
"เราให้ความรู้มานับสิบๆ ปี ทำให้เกิดกระแสสังคม เกิดการรณรงค์ที่ต้องเปลี่ยนแปลงจากต้นทาง เพราะเมื่อต้นทุนของวัตถุดิบที่ทำลายสุขภาพแพงขึ้น ผลิตภัณฑ์ก็จะแพงขึ้นตาม และผู้บริโภคจะเริ่มคิดได้ว่าสิ่งเหล่านี้คือความสิ้นเปลือง ไม่มีความจำเป็นกับชีวิต ราคาที่แพงขึ้นจึงเป็นการสร้างพฤติกรรมทางอ้อมวิธีหนึ่ง"
สิ่งที่ต้องการมากกว่านั้นคือการสร้างพฤติกรรมถาวร ในการลด ละ เลิก การบริโภคอาหารหวานจัด เค็มจัด และมัน ซึ่งทั้งหมดเป็นบ่อเกิดของโรค ไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-communicable diseases: NCDs) อาทิ เบาหวาน ความดัน ไตวาย ที่บ่อนทำลายสุขภาพคนไทย
โจทย์ต่อไปที่เครือข่ายจะขับเคลื่อน คือขยายของเขตจากเครื่องดื่มพร้อมดื่ม เป็นการรณรงค์ในขอบข่ายใหม่ที่เชื่อมโยง กับไลฟ์สไตล์ปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็น ร้านน้ำ ร้านกาแฟ ร้านขนม ที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ เช่น ให้มีการปรับสูตรเครื่องดื่มใหม่ คงรสชาติแต่ลดจำนวนน้ำตาลลง การลดขนาดเครื่องดื่มเพื่อสร้างทางเลือก เปลี่ยนพฤติกรรมบริโภค จากวันละมากๆ ค่อยๆ ลดน้อย จนไปสู่การบริโภคเท่า ที่จำเป็นในที่สุด
พร้อมกันนั้นเครือข่ายยังร่วมมือกับสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดทำสัญลักษณ์โภชนาการ "ทางเลือกสุขภาพ (Healthier Choice)" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้วว่ามีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และเกลือ (โซเดียม) ที่เหมาะสม ลดปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง
"เป้าหมายของเครือข่ายฯ ไม่ใช่เพียงแค่ต้องการให้ผู้ผลิตลดการใช้น้ำตาล เพื่อไปใช้สารทดแทนความหวาน ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีผลวิจัยใดบอกว่าหากใช้ในปริมาณตามที่กรมอนามัย กำหนดจะเกิดอันตรายต่อสุขภาพเท่านั้น แต่เราต้องการสร้างมาตรฐานการบริโภคให้ประชาชนที่เคยผิดทิศให้พอดี"
10 ปี ของเครือข่ายคนไทยไม่กินหวานนอกจากเรื่องการผลักดันให้มีการขึ้นภาษี โดยอิงระดับความหวาน 5 ระดับ ในอัตราขั้นบันไดอย่างที่ทราบกันดี ถ้าให้สรุปโดยย่อก็ยังมีนโยบายที่ทำสำเร็จมาแล้ว อย่างการถอดน้ำตาลออกจากนมผง เพื่อให้เด็กได้กินอาหารเสริม ที่ไม่มีน้ำตาลจนถึงอายุ 18 เดือน การมี คำเตือนไม่ใส่น้ำตาลในนมของเด็ก นโยบายโรงเรียนปลอดน้ำอัดลม ซึ่งทำให้เด็กลดการบริโภคได้จริง นโยบายเฮลล์ตี้มิตติ้ง รณรงค์ทำตั้งแต่น้ำตาลควรไม่เกิน 4 กรัม จนผลักให้เกิดผลในระดับสมาคมโรงแรมขานรับ
ประจวบ ตยาคีพิสุทธิ์ รองประธานบริหารสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องดื่มไทย กล่าวเรื่องเดียวกันว่า มาตรการภาษี ที่ออกมาเป็นสัญญาณให้ผู้ประกอบการต้องไปปรับตัวหาแนวทางของตัวเองเพื่อให้สอดคล้อง ไม่ว่าจะเป็นการปรับสูตรผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่เดิม โดยการลดปริมาณน้ำตาล ในขณะรสชาติยังได้รับความนิยมอยู่ ขณะเดียวกันก็ต้องพัฒนานวัตกรรมสินค้าใหม่เพื่อให้สอดคล้องเทรนด์การดูแลสุขภาพ
แต่ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการมองถึงมาตรการที่ไม่ใช่ภาษีที่เชื้อเชิญให้องค์กรเข้าร่วมแบบสมัครใจ ซึ่งจะช่วยสร้างพฤติกรรม และเอื้อประโยชน์ ให้ผลิตภัณฑ์ซึ่งมีฉลากสุขภาพเข้าถึงประชาชนได้ง่าย จูงใจให้ผู้ผลิตสินค้า เพื่อสุขภาพมากขึ้น อันเป็นการวิน-วิน ทั้งในมุมของผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และหน่วยงานรณรงค์
"วันนี้ทุกคนรู้ดีถึงแนวทางการบริโภคเพื่อสุขภาพที่ดี แต่ก็ยังมีผู้บริโภคอีกมากที่ยังคุ้นเคยกับรสชาติเดิมๆ องค์กรเพื่อสุขภาพจึงต้องให้ความรู้ และช่วยเปลี่ยนพฤติกรรมเหล่านี้เพราะองค์กรสุขภาพมีความน่าเชื่อถือกว่าบริษัทผู้ผลิต ขณะเดียวกันหน่วยงานรัฐก็ต้องเอื้อประโยชน์ให้สินค้าเพื่อสุขภาพเข้าถึงประชาชนได้มากที่สุด เช่น การช่วยโปรโมท การช่วยขนส่งไม่ให้สินค้าสุขภาพกระจุกตัวแค่เฉพาะในเขตเมืองหรือห้างสรรพสินค้าดัง รวมไปถึงอนาคตที่อาจจะมีการจัดโซนสินค้ามีฉลากสุขภาพ จัดอีเวนท์ เพื่อให้บริโภคเข้าถึงได้ง่าย"
มาตรการภาษีเริ่มแล้ว แต่เส้นทางการสร้างสังคมให้เซย์บายกับความเป็นสายหวาน ที่ไม่ใช่มาตรการภาษียังต้องไปต่ออีกยาวๆ อย่างน้อยๆ ก็เริ่มจากการเปลี่ยนสูตร ลดปริมาณ ลดความถี่ของการบริโภคให้น้อยลงกว่าเดิม
ให้การกินแต่ละครั้ง ถูกกระตุกเตือนภายใจว่า "เอ๊ะ!..นี่มันไม่หวาน ไปไหม ใช่ไหมเนี่ย?"
ความเคลื่อนไหวของเครือข่ายภาคประชาชนหลังมาตรการขึ้นภาษีความหวานมีผลบังคับใช้