`ลดพุงลดโรค` แค่โยกย้ายครั้งละ 10 นาที
ที่มา : เว็บไซต์ลดพุง ลดโรค
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ลดพุง ลดโรค
หมอผู้เชียวชาญเผยเทคนิค พิชิตพุงพิชิตโรค แค่โยกย้ายส่ายเอวให้ได้ครั้งละ 10 นาที ขึ้นไป
องค์การอนามัยโลกระบุว่า การมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ประชากรในโลกนี้เสียชีวิตจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในแต่ละปีกว่า 35 ล้านคน ในจำนวนนี้ร้อยละ 80 เกิดในประเทศกำลังพัฒนา แน่นอนว่าประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราการเสียชีวิตเพราะการมีกิจกรรมทางกายไม่เพียงพอ ปีละมากกว่าหมื่นคนเลยทีเดียว
“กิจกรรมทางกาย” เป็นคำใหม่ ที่เพิ่งจะได้ยินกันมาไม่เกินสิบปีหลังนี้ ทำให้หลายคนอาจจะสงสัย ว่าต้องมีกิจกรรมแบบไหน ทำหนักเบาเท่าไร ต้องทำนานแค่ไหน ซึ่งถ้าว่ากันตามความหมายที่ WHO ให้นิยามไว้ คือ การเคลื่อนไหวอะไรก็ได้ที่ใช้กล้ามเนื้อมัดใหญ่ โดยจะแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ 1.การเคลื่อนไหวในชีวิตประจำวัน 2.กิจกรรมทางกายที่อยู่ในการทำงาน 3.กิจกรรมนันทนาการในเวลาว่าง ทั้งวิ่ง การเดิน การเล่นกีฬา และ 4.นักกีฬา ที่ต้องซ้อมหรือออกกำลังเป็นประจำอย่างหนัก
รศ.นพ.ปัญญา ไข่มุก คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านกระดูก ข้อ และวิทยาศาสตร์การกีฬา ได้ให้สัมภาษณ์ถึงประสบการณ์ตรงที่ได้พบเจอมากับคนไข้ตลอดชีวิตของการเป็นหมอ
“ความจริงมันไม่ใช่เรื่องใหม่ พวกหมอๆ นี่พูดกับคนไข้บอกกับคนไทยมาเป็นสิบเป็นร้อยปีแล้ว ว่าคุณต้องออกกำลังกายนะ คุณต้องลุกมาขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว ผลก็คือคนไข้ก็รับปาก ค่ะๆๆๆ ครับๆๆ แต่พอกลับไปบ้านแล้วก็ลุกมาทำได้แป้บเดียว มันเหนื่อยใช่ไหม มันลำบาก มันไม่มีเวลา ไม่สะดวก ไม่มีอุปกรณ์ ฯลฯ สุดท้าย…ก็เลิกไปเกือบหมด จากสถิติพบว่า มีคนแค่ 30 % เท่านั้นที่ลุกมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเองให้มีกิจกรรมทางกายเพิ่มขึ้น”
สิ่งที่คุณหมอกล่าวสะท้อนชัดเจนถึงคนในสังคมปัจจุบัน ปัญหาจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบ สิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น บวกกับคนไทยจำนวนมากที่ยังขาดความตระหนักในการดูแลตนเอง การรณรงค์ในเรื่องดังกล่าว จึงต้องเริ่มต้นด้วยการมองหาอะไรที่เข้าใจง่าย ชัดเจน ตรงไปตรงมา พยายามให้คนไทยรับสารนี้แบบง่ายที่สุด นั่นคือ “การมีกิจกรรมทางกาย10 นาทีขึ้นไป”
“ต้องบอกคนที่อยากมีสุขภาพดีให้ชัดเจนว่า 10 นาทีในที่นี้ หมายถึงกิจกรรมระดับ ‘ปานกลาง’ ขึ้นไป ถ้าเปรียบก็อาจจะเทียบได้กับการจ้อกกิ้ง คือวิ่งเหยาะๆ ไม่ใช่การเดินเล่นคือระดับ ‘เบา’ ไม่ใช่การวิ่งแข่งถึงเส้นชัยในปรู๊ดเดียวนั่นคือพวก ‘หนัก’ แต่จ้อกกิ้งหรือกิจกรรมอะไรที่ทำแล้วต่อเนื่องกัน ทำได้นาน ทำแล้วรู้สึกเหนื่อย มีเหงื่อซึมๆ ร้องเพลงเริ่มตะกุกตะกักนิดหน่อย พูดประโยคยาวๆ เริ่มติดขัด ถ้าเหนื่อยระดับนี้ถือว่าใช้ได้
และที่ขอให้ทำ 10 นาที ขึ้นไป ก็เพราะมันจะเป็นเวลาที่ร่างกายนำเอาไขมันมาเผาผลาญสร้างเป็นพลังงาน ซึ่งต้องอย่าทำๆ หยุดๆ เพราะถ้าปั่นจักรยานมา 4 นาที หยุดดูนกชมไม้ ร่างกายจะนับหนึ่งใหม่ หรือเต้นแอโรบิกมา 6 นาทีแวะกินน้ำนั่งคุยกับคนอื่น อ้าว นับหนึ่งใหม่อีกละ ไม่ถึง 10 นาทีหรือจุดที่จะเกิดการเผาผลาญไขมันเต็มๆ เสียที ไม่ได้แปลว่าทำไม่ถึงแล้วจะเหนื่อยฟรีหรือสูญเปล่า เพียงแค่ว่ามันไปไม่ถึงจุดที่การเผาผลาญไขมันได้ทำงานเต็มที่ คุ้มค่าเหนื่อยของเรา”
คุณหมอยังไม่ลืมกล่าวทิ้งท้ายอีกด้วยว่า ถ้าเราหาเวลาได้ยาก ก็ทยอยทำแบบแบ่งชำระได้ คือสะสมไปแต่ขอให้อย่างน้อยนาน 10 นาทีขึ้นไปในทุกครั้ง ว่างเช้าก็ทำเช้า ว่างเย็นก็ทำเย็น รวมๆ แล้วให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที พอเราแบ่งซอยภารกิจออกเป็นส่วนเล็กๆ คนที่ไม่ยอมออกกำลังกายมาก่อน กลัวเหนื่อย กลัวลำบาก กลัวทำไม่รอด ก็จะเริ่มมีกำลังใจ ฟังดูเหมือนง่าย แค่หาเวลานิดเดียวมาดูแลตัวเอง รักตัวเอง พอทำแล้วเห็นผลก็จะเริ่มอยากไปต่อ อยากคาดหวังผลมากขึ้น ซึ่งจะไปได้ไกลไปได้เร็ว ก็ต้องควบคู่กับการควบคุมอาหาร กินแบบ 2:1:1 คือ กินผักให้ได้มื้อละ 2 ส่วน โปรตีน 1 ส่วน แป้ง 1 ส่วน
“ถ้าเราทำให้คนไทยลุกมาเผาไขมันได้ พุงก็จะลด โรคอื่นก็จะลดตาม คนไทยก็จะมีสุขภาพแข็งแรงกันถ้วนหน้า” ฟังคุณหมอพูดแล้ว รู้สึกเห็นความหวังเปล่งประกายวิบวับขึ้นมาทันที