ลงพุง สมองเสื่อมยามแก่
นักวิจัยชี้ เสี่ยงวิกลจริต อัลไซเมอร์
ลอนดอน คณะนักวิจัยที่ทำงานให้กับไกเซอร์ เพอร์มาเนนท์ ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ให้บริการดูแลสุขภาพใหญ่ที่สุดในสหรัฐ เปิดเผยผลการศึกษาประชาชนจำนวน 6,583 คน ที่มีอายุระหว่าง 40-45 ปี โดยวัดระดับไขมันบริเวณท้อง พบผู้มีรอบเอวใหญ่ในวัย 40 ปีขึ้นไปมีความเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมวิกลจริตยามแก่ถึง 3 เท่าตัว
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเป็นที่ทราบกันว่าความอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่งของโรคสมองเสื่อมหรืออัลไซเมอร์ แต่มีนักวิจัยหลายรายเคยพบว่าแม้แต่ผู้ที่มีน้ำหนักตัวปรกติก็สามารถมีความเสี่ยงเป็นโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้นได้เช่นกันหากมีขนาดเอวใหญ่ อย่างไรก็ดี ในการศึกษาล่าสุดพบว่าหากมีทั้ง 2 ปัจจัยร่วมกัน คือทั้งอ้วนและมีไขมันสะสมที่หน้าท้องยื่นออกมามากทำให้มีความเสี่ยงสูงที่สุด
ในการศึกษานักวิจัยได้ติดตามประชาชนกลุ่มข้างต้นเป็นเวลานานจนถึงวัย 70 ปี เพื่อดูความเจ็บป่วยเมื่อสูงวัย และใครที่ยังสามารถรักษาสุขภาพที่ดีเอาไว้ได้ ผลที่ได้พบว่า 20% ของผู้ที่มีขนาดเอวใหญ่ที่สุดมีความเสี่ยงเป็นโรควิกลจริตสูงกว่าคนมีขนาดเอวเล็กที่สุดถึง 270%
แม้ว่าคนที่มีน้ำหนักตัวปรกติตามเกณฑ์มาตรฐานค่าดัชนีมวลกาย (bmi) ยังมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นได้หากมีขนาดเอวใหญ่เมื่อเทียบกับกลุ่มที่มีขนาดเอวเล็ก ในขณะที่คนที่มีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานหรือผู้ที่เข้าข่ายอ้วนแต่มีขนาดเอวเล็กมีความเสี่ยงเป็นโรควิกลจริตเพิ่มถึง 80%
แต่ถ้านำปัจจัยทั้ง 2 อย่างมารวมกันทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มมากที่สุด โดยหากมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานและเอวใหญ่จะทำให้ความเสี่ยงเพิ่มขึ้นมาเป็น 230% ส่วนคนที่เข้าข่ายอ้วนและเอวใหญ่ ความเสี่ยงเป็นโรควิกลจริตพุ่งสูงถึง 360% เมื่อเทียบกับกลุ่มคนที่มีขนาดเอวเล็กและมีน้ำหนักตัวปรกติ
อนึ่ง ดัชนีมวลกาย body mass index (bmi) คือมาตรฐานสากลที่ใช้จัดประเภทน้ำหนักของร่างกายว่า ปกติ ต่ำกว่าเกณฑ์ สูงกว่าเกณฑ์ หรือเป็นโรคอ้วนซึ่งค่าบีเอ็มไอคำนวณได้โดยเอาน้ำหนักตัวหน่วยเป็นกิโลกรัมตั้ง หารด้วยความสูงหน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง ค่าบีเอ็มไอตั้งแต่ 18.5-25 ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ปรกติ ค่าบีเอ็มไอ 25-30 ถือว่าน้ำหนักเกินมาตรฐาน และถ้าเกิน 30 ถือว่าเป็นโรคอ้วน
ที่มา: โลกวันนี้
ภาพประกอบ: www.thaihealth.or.th
update 28-03-51