‘ร่องเคาะ’ พลังชุมชนปลอดเหล้า
เฉพาะช่วงเวลา 3 เดือนของเทศกาลเข้าพรรษา กิจกรรม "งดเหล้าเข้าพรรษา" ของ สสส. ที่ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็น ระยะเวลากว่า 13 ปี มีผลสำรวจจากศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคม และธุรกิจ หรือ SAB พบว่า โครงการงดเหล้าเข้าพรรษาปี 2557 สามารถดึงเม็ดเงินกลับเข้ามาสู่ ครอบครัวไทย ได้ไม่ต่ำกว่า 7 หมื่นล้านบาท
ที่มากไปกว่าเม็ดเงิน คือความสัมฤทธิ์ผลในแง่ของจำนวนนักดื่ม ที่ลดลง และ "ความรู้สึก" ภาคภูมิใจของบุคคลที่สามารถปฏิบัติต่อเนื่อง ได้จาก ลด ละ จนกระทั่ง เลิกเหล้าได้ในที่สุด
พื้นที่ตำบลร่องเคาะ อำเภอวังเหนือ จังหวัดลำปาง ถือเป็นอีกหนึ่ง ชุมชนตัวอย่างที่สำนักงาน กองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ได้ริเริ่มรณรงค์โครงการงดเหล้าเข้าพรรษามาตั้งแต่ยุคแรกเริ่ม จวบจนปัจจุบัน ได้กลายเป็นพื้นที่แห่งความสุข เพราะเมื่อมาถึงปี 2558 นี้ มีผู้งดเหล้าใน ตำบลร่องเคาะ สำเร็จได้ถึง 504 คน โดย นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้มอบประกาศนียบัตรให้คนในชุมชน และกล่าวว่า จะนำตำบลร่องเคาะไปเป็นพื้นที่ต้นแบบการดำเนินงาน เพื่อให้ประชาชนคนลำปางในพื้นที่อื่นๆ ได้งดเหล้า บุหรี่ โดยจะให้ถือเป็นวาระที่ทุกภาคส่วน จะต้องช่วยกันรณรงค์ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม และตั้งเป้าจะทำให้สำเร็จครบทุกชุมชน และหมู่บ้านทั้ง 931 หมู่บ้าน ในจังหวัดลำปาง
สำหรับตำบลร่องเคาะ เป็นตำบลที่ได้มีการพัฒนาท้องที่ โดย อาศัยการมีส่วนร่วมของชาวบ้านในพื้นที่ทั้ง 17 หมู่บ้าน และจากหน่วยงาน ทุกภาคส่วน เพื่อมุ่งสู่การเป็นต้นแบบสุขภาวะด้านการงดเหล้าซึ่งผู้นำชุมชนได้ให้ความสำคัญประกาศเป็นนโยบาย คนต้นแบบเลิกเหล้า โดยเริ่มต้นจากวันพระ วันเข้าพรรษา และต่อเนื่องไปจนเลิกได้จริง ทั้งยังเกิดร้านค้า ปลอดเหล้าภายในชุมชนอีกด้วย
นายชัยรัตน์ ทองใบ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลร่องเคาะ เล่าว่าตำบลร่องเคาะได้เริ่มดำเนินโครงการเครือข่ายคนงดเหล้าใน อำเภอวังเหนือ มาตั้งแต่ปี 2552 และได้ขยายผลไปสู่การลด ละ เลิก บุหรี่ โดยได้จัดตั้งคณะทำงานร่างระเบียบตำบลขึ้น จัดเวทีประชาคมหมู่บ้านนำเสนอประเด็นแก้ไขปัญหาสาธารณะ โดยสร้างกลไกบังคับใช้กฎระเบียบ ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งเป็นมาตรการบังคับคนในพื้นที่ คือ การงดเหล้าและอาหารดิบในงานศพ มาตรการปรับเงิน เลี้ยงเหล้าในงานศพ มาตรการการคว่ำบาตรผู้ที่ยังเสพยาหรือค้ายา
และในกรณีที่ดื่มเหล้าและทะเลาะวิวาทในตำบล มีการปรับเงิน จำนวน 5,000 บาท ดื่มเหล้าและทะเลาะกันในงานหมู่บ้าน ปรับ 10,000 บาท มีการดื่มเหล้าในงานบุญ ปรับ 2,000 บาท หรืองดให้ได้รับบริการสาธารณะต่างๆ จากทุกหน่วยงานองค์กร เช่น งดบริการโต๊ะ เก้าอี้ เต้นท์ สิ่งของอุปโภคบริโภค ที่หน่วยงานต่างๆ นำมาแจกจ่าย เป็นต้น ซึ่งการทำงานในตำบลร่องเคาะอยู่ภายใต้มติข้อบังคับที่เกิดจากการทำประชาคมหมู่บ้าน และการเห็นพ้องร่วมกัน
กล่าวได้ว่าความสำเร็จของชุมชนร่องเคาะในปัจจุบัน เกิดจากชาวบ้าน ในทุกพื้นที่ทุกชุมชน ได้ให้ความร่วมมือ และมีสถิติข้อมูลความสำเร็จ ในปี 2558 โดยพบว่า ในช่วงเข้าพรรษามีผู้สมัครงดเหล้า 532 คน มีผู้งดเหล้า ได้สำเร็จ 508 คน คิดเป็นร้อยละ 95.49 และมีผู้สมัครลด ละ เลิก บุหรี่ จำนวน 74 คน สามารถเลิกได้ 61 คน คิดเป็นร้อยละ 82.43
นางสายพิณ การดี ต้นแบบผู้นำชุมชนงดเหล้า อายุ 46 ปี เล่าว่า ตนเองดื่มเหล้ามาตั้งแต่อายุ 16 ปี เมื่อก่อนชอบสังสรรค์กับเพื่อนฝูง สามารถดื่มได้เรื่อยๆ จนไม่มีเวลาดูแลครอบครัว ทำให้ทะเลาะเบาะแว้งกัน และยังส่งผลถึงสุขภาพด้วย มีอาการเจ็บหน้าอก กล้ามเนื้ออักเสบจากการ ดื่มเหล้าซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ จึงตัดสินใจเลิกดื่มเหล้าอย่างจริงจัง และ เข้าร่วมโครงการเลิกเหล้า จากนั้นจึงได้มาเป็นคนต้นแบบการงดเหล้า
"มันอยู่ที่ใจ ถ้าใจพร้อมที่จะไม่ดื่ม ก็จะไม่ดื่ม เรารู้ผลเสียของมัน แล้ว ตอนนี้เลิกมาได้ 4 ปี พอเลิกได้ก็ส่งผลดีกับสุขภาพ สิ่งดีๆ กลับคืนมา สามีก็กลับบ้านเร็ว เมื่อก่อนกลับมาไม่เจอภรรยาที่บ้านก็ไปหาเพื่อน แต่ตอนนี้พอกลับมาเจอภรรยา สามีก็อยากกลับบ้านเร็ว และยังมีเวลา ให้ลูกมากขึ้น ครอบครัวก็ไม่มีปัญหา" เธอบอก
นี่คืออีกหนึ่งโครงการ ของ สสส. สคล. และภาคีเครือข่ายที่ได้ ส่งเสริม ให้ประชาชน และชุมชนห่างไกลจากเหล้า ซึ่งส่งผลเสียต่อสุขภาพและ ทรัพย์สิน และยังเป็นอุปสรรคในการพัฒนาประเทศในระยะยาวด้วย
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ