ร่วมคืนเด็กดี สู่สังคม
ก้าวใหม่ของการทำดีเพื่อสังคมแบบยั่งยืน ด้วยการ “คืนเด็กดี สู่สังคม”
มูลนิธิหัวใจอาสา ร่วมกับ กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน, กองทุนเวลาเพื่อสังคม สมาคมนักสร้างสุขภาวะองค์กร และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ดำเนินงาน โครงการ “New Step New Day ก้าวใหม่ วันใหม่” ณ ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านมุทิตา จังหวัดนครปฐม โดยได้ร่วมกันออกแบบกิจกรรม และร่วมกันทำกิจกรรม “การให้และการช่วยเหลือสังคม” ตลอดระยะเวลา 7 เดือน ที่ผ่านมา เพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้องค์กรทุกภาคส่วน และประชาชนที่สนใจ ร่วมเป็นจิตอาสา สร้างให้เกิดเครือข่ายองค์กรแห่ง "การให้" และสังคมแห่งความดี อย่างต่อเนื่อง
กรรชิต สุขใจมิตร ผู้อำนวยการมูลนิธิหัวใจอาสา กล่าวชี้แจ้งวัตถุประสงค์การจัดโครงการ ว่าการจัดกิจกรรมมีวัตถุประสงค์ในการดำเนินงานอยู่ 2 ส่วน ได้แก่ คือ มุ่งเน้นการพัฒนาทัศนคติเชิงบวกให้กับเด็กและเยาวชนที่ก้าวพลาด เป็นการสร้างแรงบันดาลใจที่มีค่าให้กับเด็ก และ มุ่งเน้นการกระตุ้นและส่งเสริมให้องค์กรทุกภาคส่วนในสังคม และประชาชนที่สนใจ เพื่อสร้างให้เกิดจิตใจที่ “ให้” ภายในองค์กรต่างๆ
เมื่อปลายเดือนมี.ค. ที่ผ่านมา องค์กรภาคีเครือข่ายทั้งหมดที่ร่วมพิธิปิดโครงการ และได้สรุปบทเรียนการดำเนินงานโครงการฯ ที่ผ่านมา ซึ่งมีความเห็นร่วมกันว่า การดำเนินงานขงโครงการฯ ได้รับผลสำเร็จที่น่าพอใจ เด็กและเยาวชนเกิดความเปลี่ยนแปลงทางด้านทัศนคติและพฤติกรรมในเชิงบวกอย่างชัดเจน กระบวนการและหลักสูตรที่ใช้ในการดำเนินงาน สามารถสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นได้ และเห็นว่าควรมีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป และควรจะพยายามขยายการดำเนินงานไปยังศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนที่อื่นๆ ต่อไปด้วย
วิชิต ภิรมยาภรณ์ ผู้ตรวจราชการกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กล่าวว่า การจัดกิจกรรมดังกล่าว เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้าง “โอกาส” ให้เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนในศูนย์ฝึกฯ นับเป็นภารกิจหนึ่งเพื่อกระตุ้นและส่งเสริมให้องค์กรและอาสาสมัครในทุกภาคส่วน มีส่วนร่วมในการทำจิตอาสาช่วยเหลือสังคม
กรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มีภาระหน้าที่หลักในการแก้ไขบำบัดฟื้นฟูเด็กและเยาวชน ที่เข้ามาสู่กระบวนการยุติธรรมให้กลับคืนสู่สังคม และสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างเป็นปกติสุขไม่หวนกลับไปกระทำผิดซ้ำ ซึ่งจะเห็นได้ว่า กรมพินิจฯ ไม่สามารถดำเนินการได้เพียงลำพัง จะต้องอาศัย ภาคีเครือข่ายในการส่งต่อเด็กและเยาวชน ให้กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยการให้โอกาสในการทำงาน ในการศึกษาต่อ และ การช่วยเหลือดูแล ให้เด็กและเยาวชน สามารถยืนอยู่ในสังคมได้อย่างเป็นส่วนหนึ่งของสังคม กิจกรรมดังกล่าวสร้างให้เด็กปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในด้านบวก พร้อมทั้งออกไปดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีชัยชนะและมีความสุขมีความมั่นใจจากแรงสนับสนุนขององค์กรในทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมสร้างสรรค์กิจกรรม อันจะนำมาซึ่งการพัฒนาศักยภาพของเด็ก ให้สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้เพื่อให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีพื้นที่ในการได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทีมอาสาสมัครจากองค์กรต่างๆ ซึ่งกรมพินิจฯ มีความพยายามที่จะ "คืนเด็กดีสู่สังคม" โดยให้โอกาสและสนับสนุนปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ให้กับเด็กที่ก้าวพลาด ได้กลับเข้าไปใช้ชีวิตอยู่กับสังคมตามปกติ ซึ่งเป็นที่มาของการดำเนินโครงการฯ ในครั้งนี้ โดยคำนึงถึงความยั่งยืนร่วมกัน
จารุวรรณ ชาญเดช ผู้จัดการกองทุนเวลาเพื่อสังคม ผู้ดำเนินงาน โครงการ “New Step New Day ก้าวใหม่ วันใหม่ กล่าวว่า การดำเนินงานโครงการฯ ในครั้งนี้ ได้ตั้งความมุ่งหมายไว้ 3 ประการ ได้แก่ 1) เพื่อสร้างสรรค์กิจกรรมให้เป็นเครื่องมือสื่อสาร เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจ และการเห็นคุณค่าชีวิตตัวเองและสังคม 2 )เพื่อทำให้เกิดการเรียนรู้และความเข้าใจถึงความสำคัญในการที่จะก้าวต่อไปในวันข้างหน้าอย่างมีคุณภาพ 3)เพื่อลดช่องว่างระหว่างสังคมกับเด็กและเยาวชนในสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
การดำเนินงานของกองทุนเวลาเพื่อสังคม มุ่งเน้นงานด้านบทเรียน และการจัดกิจกรรมรองรับและส่งเสริมบทเรียน โดยเด็กจะได้รับการพัฒนาทักษะผ่านกิจกรรมดังกล่าว อาทิ
-
กล้าแบ่งปันต่อหน้าเพื่อนๆ
-
กล้าขอโทษ
-
มีความเชื่อมั่นในตัวเอง กล้าแสดงออกมากขึ้น
-
มีความรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น
-
ได้เรียนรู้ทักษะ ความรู้ ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต
-
มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น
-
ได้รับการยอมรับจากเพื่อน และจากครูฝึกมากขึ้น
ในด้านของภาคีเครือข่าย ที่มาร่วมดำเนินงาน ได้มีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมการให้และช่วยเหลือสังคม ช่วยสร้างสังคมให้ดีขึ้น และในอนาคตกิจกรรมที่ทำสามารถพัฒนา หรือยกระดับให้เป็นหลักสูตรสำหรับอบรมเด็กและเยาวชนในศูนย์ฝึกฯ ของกรมพินิจฯ ได้ และคาดหวังว่า องค์กรภาคเอกชนจะให้โอกาสเด็กมากขึ้น ที่จะช่วยส่งเสริมเรื่องการให้ทุนการศึกษาเด็ก และพัฒนาทักษะอาชีพเด็ก หรือจัดหางานให้เด็ก ต่อไป
ที่มา: มูลนิธิหัวใจอาสา