รู้เท่าทันโรคหลอดเลือดสมอง
คนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป พบอยู่ในกลุ่มเสี่ยง
ปี 2005 องค์การอนามัยโลกประกาศว่า จะมีผู้เสียชีวิต 15 ล้านคน ส่วนอีก 4 เท่าของจำนวนผู้เสียชีวิตจะพิการและได้รับผลกระทบจาก “โรคหลอดเลือดสมอง” ส่วนประเทศไทยมีรายงานว่า ในปี 2550 มีผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าว 15,000 คน และจากการสำรวจสภาวะสุขภาพของคนไทยอายุ 15 ปีขึ้นไป พบว่าผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อภาวะหลอดเลือดสมองมีมากถึง 11 ล้านคน กระทรวงสาธารณสุขจึงประกาศให้โรคหลอดเลือดสมอง เป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญของคนไทย..!!
นพ.ฤกษ์ชัย ตุลยภรณ์โชติ ผู้เชี่ยวชาญในสาขาประสาทวิทยาด้านหลอดเลือดสมอง โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า โรคหลอดเลือดสมอง เป็นโรคในกลุ่มความผิดปกติของสมองและระบบประสาท ซึ่งพอจะจำแนกตามสามเหตุหลัก 3 ประการ คือ พันธุกรรมสิ่งแวดล้อม และความเสื่อมโดยปัจจัยนอก ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มที่อัตราผู้ป่วยมากที่สุด
“โรคหลอดเลือดสมองแบ่งเป็น 2 ปะเภท ได้แก่ หลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน หลอดเลือดสมองปริแตกหรือฉีกขาด เมื่อเลือดที่ส่งไปเลี้ยงสมองมีปริมาณลดลง จะทำให้สมองทำงานไม่ได้ตามปกติ ซึ่งแสดงออกผ่านทางร่างกายด้วยอาการต่างๆ มากน้อยขึ้นอยู่ที่ความรุนแรง และตำแหน่งของสมองที่ขาดเลือด โดยมีอาการที่สำคัญคือ อาการชาตามแขนขาใบหน้าหรือซีกใดหนึ่งของร่างกายสื่อสารบกพร่องสับสน เห็นภาพซ้อนพร่ามัว (เพียงข้างเดียว) ปวดหรือเวียนศีรษะอย่างรุนแรงโดยไม่ทราบสาเหตุ ทรงตัวไม่อยู่บางรายอาจเป็นลมหมดสติ” นพ.ฤกษ์ชัย กล่าว
ส่วนวิธีการป้องกัน หมอผู้เชี่ยวชาญในสาขาประสาทวิทยาด้านหลอดเลือดสมอง กล่าวว่า แม้โรคหลอดเลือดสมอง จะส่งผลโดยตรงกับสมองและระบบประสาทมีกลายเป็นตัวสาเหตุของการเสียชีวิตและพิการ โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกิดจากความเสื่อมที่มีปัจจัยภายนอกเป็นตัวเร่ง อาทิ ลักษณะนิสัยการกิน สภาพแวดล้อม ความดันโลหิต การดื่มสุรา หรือ การสูบบุหรี่ ฯลฯ กระนั้นโรคดังกล่าวก็สามารถควบคุมได้ เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตามความเหมาะสม รวมถึงการหาความรู้หรือความเข้าใจ การปฏิบัติตัวและการรับมือกับอาการเบื้องต้นของโรคอย่างทันท่วงที การรู้จักกับสาเหตุ อาการ และสิ่งควรปฏิบัติเมื่อต้องเผชิญหน้ากับโรคหลอดเลือดสมองความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองก็จะลดลงได้
แต่เมื่อถึงคราวที่ต้องเข้ารับการรักษา ก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องที่น่ากลัว เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีการผ่าตัดเพื่อรักษาการตีบและอุดตันในผนังหลอดเลือดได้ก้าวมาถึงจุดที่สามารถทำได้ในเวลาอันสั้น เข้าถึงตำแหน่งที่เส้นเลือดตีบได้ตรงจุด และหวังผลการรักษาได้แน่นอน ด้วยวิธีการที่เรียกว่า endovascuiar surgery ซึ่งการผ่าตัดแผลเล็กโดยใช้เทคนิคของการสอดเครื่องมือเข้าไปในหลอดเลือดใหญ่ เพื่อทำบอลลูนและใส่ขดลวดถ่างขยายหลอดเลือด จะช่วยให้การจัดการกับสิ่งที่อุดตันในหลอดเลือดเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยก่อนเข้ารับการผ่าตัดผู้ป่วยต้องผ่านการวินิจฉัยอย่างละเอียดจากแพทย์
“ถ้าเราเปรียบหลอดเลือดเหมือนท่อน้ำ เมื่อมันอุดตันก็จำเป็นต้องลอก ต้องปัดกวาดเอาขยะสะสมที่ปิดกั้นทางเดินน้ำออก หลอดเลือดก็เช่นกัน เมื่อผนังด้านในตีบตันเพราะการสะสมของคอเลสเตอรอลหรือคราบต่างๆ ในระดับหนึ่งแพทย์ก็ต้องทำการปัดกวาดซ่อมแซมหลอดเลือดเพื่อให้เลือดเดินทางไปเลี้ยงสมองได้สะดวก เนื่องจากภาวะสมองขาดเลือดเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้” นพ.ฤกษ์ชัย กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
update : 19-11-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร