รู้จักใช้ รู้จักทิ้ง เพื่อเรา เพื่อโลก
วันที่ 5 มิถุนายน ของทุกปี องค์การสหประชาชาติกำหนดให้เป็น “วันสิ่งแวดล้อมโลก” ในปีนี้ องค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP) ได้กำหนดคำขวัญว่า “Forests : Nature at Your Service” หรือ “ป่าไม้มีคุณ เกื้อหนุนสรรพชีวิต คิดถนอมรักษา” เพื่อสื่อสารให้รู้ว่า กิจกรรมที่ทุกคนกระทำ สามารถส่งผลกระทบต่อโลกได้ โดยมีป่าไม้เป็นปัจจัยปกป้องที่สำคัญที่สุด และป่าไม้ก็จะถูกกระทบอย่างมากจากกิจกรรมต่างๆของมนุษย์
การใช้ทรัพยากร และพลังงานโดยไม่จำเป็น ใช้อย่างไม่รู้คุณค่า ไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้น เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม กระทบถึงความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม และส่งผลเป็นลูกโซ่ไปถึงระบบเศรษฐกิจโดยรวมของโลก ที่นับวันจะทวีความผันผวนรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้มีความตื่นตัวทั้งระดับองค์การระหว่างประเทศ และประเทศผู้นำทางเศรษฐกิจ อาทิ องค์การสหประชาชาติ อังกฤษ เยอรมนี ได้ให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมอย่างมาก มีการจัดทำแผนปฏิบัติการลดมลพิษ โดยเฉพาะการลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากการทำกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ และคำนวนค่าออกมาเป็นการทำกิจกรรมเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อาทิ การปลูกต้นไม้ การปั่นจักรยาน เพื่อทดแทนปริมาณก๊าซคาร์บอนฯ ที่แต่ละคนได้ผลิตขึ้น
ในที่นี้ ผมขอยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัวอย่าง “ปัญหาขยะมูลฝอย” เป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ส่วนหนึ่งมาจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น และค่านิยมการบริโภคที่ฟุ่มเฟือย สิ้นเปลืองทรัพยากรอย่างมหาศาล จึงก่อให้เกิดปัญหา “ขยะเกลื่อนเมือง”!!!
ประเทศไทยมีประชากรราว 63 ล้านคน อยู่ในกรุงเทพฯ ราว 12 ล้านคน เคยนับหรือไม่ว่า เราทิ้งขยะกันวันละกี่ชิ้น? กว่าจะรู้ตัวเราก็ผลิตและทิ้งขยะ เฉลี่ยมากถึงคนละ 1 กิโลกรัมต่อวัน รวมปริมาณขยะที่คนไทยทั้งประเทศผลิต เฉลี่ย วันละ 40,000 ตัน เฉพาะขยะมูลฝอยในกรุงเทพฯ มีมากกว่าวันละ 8,000 ตัน ในจำนวนนี้ เป็นขยะถุงพลาสติกถึง 1,800 ตัน เทียบเท่าช้างโตเต็มวัย 450 ตัว (ช้าง 1 ตัว มีน้ำหนัก 4 ตัน) รวมแล้วหนึ่งปีคนไทยผลิตขยะ 15 ล้านตัน
ขณะที่ความสามารถในการจัดเก็บและทำลายขยะที่มีอยู่ ทำได้เพียง 60-70% ของปริมาณขยะทั้งหมดเท่านั้น ปริมาณขยะที่เหลือจะถูกทิ้งไว้ตามบ้านเรือน บนถนน ในแหล่งน้ำ ฯลฯ ขยะเหล่านี้ นอกจากจะส่งกลิ่นเหม็น เป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคแล้ว เวลาฝนตกจะเกิดน้ำเน่าเสียไหลซึมลงใต้ดิน และแหล่งน้ำต่างๆ ก่อให้เกิดมลพิษทำลายสิ่งแวดล้อม ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศน์ และสุขภาพอนามัยของประชาชน
ขณะเดียวกันสถานการณ์ขยะในทะเล ก็เข้าสู่ขั้นวิกฤต จากการเก็บข้อมูลปริมาณขยะของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อปี 2553 มีปริมาณขยะมากถึง 22 ตัน ขณะที่ทั่วโลก มีขยะถูกทิ้งลงทะเล มากถึง 6.4 ล้านตัน โดย 89% เป็นพลาสติก
ที่น่าเป็นห่วงคือ ถุงพลาสติกแต่ละใบใช้เวลาย่อยสลายนาน 400-1,000 ปี ถ้าเราช่วยกันลดถุงพลาสติกลงแค่เพียง 10% จะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึงปีละ 1 ล้านตัน
เมื่อพิจารณาภาพรวมของแนวทางการจัดการปัญหาขยะของบ้านเรา พบว่า ส่วนใหญ่ยังเหมือนการย่ำเท้าอยู่กับที่ ในรูปแบบเดิมๆที่ฝากความหวังไว้กับการกำจัดขยะ ที่เน้นทุ่มงบประมาณไปกับการจัดซื้อรถขนขยะ สร้างบ่อฝังกลบขยะ หรือโรงเผากำจัดขยะ ส่วนการรณรงค์ในภาคประชาชนยังเป็นแบบแยกส่วน ไม่ก่อให้เกิดผลลัพธ์ในทางที่ดีขึ้น แทนที่จะทำให้ปริมาณขยะลดลง กลับมีแต่จะเพิ่มปริมาณขึ้นทุกปี ส่งผลให้ปัญหาขยะมูลฝอยยังคงรุนแรงต่อไป โดยล่าสุด กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ได้คาดการณ์ว่า ในปี 2554 นี้ ปริมาณขยะมูลฝอยใน กทม.จะเพิ่มมากขึ้นอีก 7,000 ตัน เป็น 47,000 ตันต่อวัน
ผมมองว่า ปัจจัยสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาขยะเกลื่อนเมือง มีต้นเหตุมาจาก “มนุษย์” ทั้งสิ้น วิธีจะแก้ปัญหานี้ให้ได้ผล คือต้องเปลี่ยน “ความคิด” สร้างและปลูกฝัง “จิตสำนึกใหม่” เลิกยึดติดความสะดวก สบาย ควรสละความสุขสบายเหล่านี้ เพื่อร่วมกันสร้าง “วัฒนธรรมใหม่” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย นั่นคือ “ใช้ให้น้อย และคิดให้เยอะก่อนใช้” เพื่อให้เราทุกคน “ก้าวพ้น” ความคิดและสภาพปัญหาเดิมๆ ลองหลับตา หยุดและคิด ถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นทุกครั้งที่จะใช้ เพียงเท่านี้ ผมเชื่อว่าปัญหาขยะเกลื่อนเมือง คงจะทุเลาและจัดการได้อย่างยั่งยืน
ผมมีตัวอย่างการบริหารจัดการของต่างประเทศที่ทำสำเร็จ และเป็นต้นแบบที่ดี จึงขอหยิบยกมาเล่าให้ฟัง เมื่อเร็วๆ นี้ ผมมีโอกาสได้ศึกษาแนวคิด การทำงานของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ที่ไต้หวัน ซึ่งได้สร้างและปลูกฝังวัฒนธรรมการคัดแยกขยะให้แก่สมาชิกของมูลนิธิฯ ให้ช่วยกันแยกขยะในครัวเรือน และนำขยะที่คัดแยกได้ในบ้าน ไปบริจาคให้กับมูลนิธิฯ นำไปขายสร้างรายได้มหาศาล เงินที่ได้จากการขายขยะ มูลนิธิฯ ได้นำไปสร้างสถานีโทรทัศน์ต้าอ้าย (Da-Ai) ที่แปลว่า สถานีโทรทัศน์แห่งความรักอันยิ่งใหญ่ ทุกรายการที่ออกอากาศเน้นเรื่องคุณธรรม จิตอาสา เพื่อปลูกฝังแนวคิดนี้ให้ครอบครัว โดยเฉพาะเด็ก และเยาวชน นอกจากนี้ สมาชิกมูลนิธิฯ ทุกคน ยังพกตะเกียบและกระบอกน้ำเล็กๆ ติดตัวไปทุกที่ ผมอยากเห็นภาพนี้เกิดขึ้นในบ้านของเราครับ
เช่นเดียวกับญี่ปุ่น ที่ปลูกฝังแนวคิดการมีจิตสำนึกของคน ด้วยการรณรงค์และให้ความรู้การคัดแยกขยะ และการนำขยะกลับมาใช้ใหม่ ให้กับเด็กเล็กชั้นอนุบาล โดยทำเป็นกิจวัตรตั้งแต่ในโรงเรียน ฝึกจนเป็นนิสัยนำกลับไปทำต่อที่บ้าน ขณะเดียวกันมีการบริหารจัดการที่ดีจากภาครัฐ โดยกำหนดวันทิ้งขยะให้เป็นไปตามประเภทของขยะ ถือเป็นการฝึกวินัยให้คนคัดแยกขยะก่อนทิ้งลงถังไปในตัว
นอกจากนี้ ชาวญี่ปุ่น จะทิ้งขยะให้น้อยที่สุด เพราะปริมาณขยะที่ทิ้งไป รัฐจะคำนวณเป็นจำนวนเงินที่ประชาชนจะต้องจ่ายคืนให้แก่รัฐเพื่อเป็นค่ากำจัดขยะ นั่นหมายถึง ยิ่งทิ้งมาก ก็ยิ่งต้องจ่ายแพงมากขึ้นไปด้วย
หรือที่ เมือง bundamoon ประเทศออสเตรเลีย ได้ออกประกาศเป็นเมืองที่ไม่มีการขายน้ำเปล่าบรรจุขวดอีกต่อไป เพราะเห็นว่าขวดน้ำที่เหลือจากการดื่ม จะเป็นขยะให้กับโลก ซึ่งรัฐมีมาตรการรองรับคือ จัดจุดบริการน้ำดื่มสาธารณะ ที่ชาวเมืองสามารถนำขวดมาเติมน้ำฟรีได้ ถือว่าได้ผลอย่างมาก ร้านขายของชำหลายแห่งที่กลัวว่ารายได้จะลด กลับมีรายได้เพิ่มจากการขายขวดเปล่าให้กับนักท่องเที่ยวที่ไม่สามารถหาซื้อน้ำขวดได้ ช่วยลดปริมาณขยะแล้วยังส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกด้วย
เมื่อย้อนกลับมาที่ประเทศไทย มีต้นแบบแนวคิดการจัดการขยะดีๆ ที่น่าสนใจไม่น้อยหน้าชาติอื่นเหมือนกัน ผมมีโอกาสได้สัมผัสชุมชนน่าอยู่แห่งหนึ่ง ที่ จ.อุตรดิตถ์ เป็นหนึ่งในเครือข่ายร่วมสร้างตำบลสุขภาวะ กับ สสส. เชื่อหรือไม่ว่า หมู่บ้าน 7 แห่ง ภายใต้องค์การบริหารส่วนตำบลหาดสองแคว ไม่มีถังขยะตั้งอยู่หน้าชุมชนแม้แต่ถังเดียว!!
กว่าจะเป็นอย่างทุกวันนี้ได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ไม่ยากเกินกว่าที่จะทำ โดยชาวบ้านกว่า 4,000 คนใน 7 ชุมชน อบต. หาดสองแคว ลงความเห็นว่า ปัญหาขยะ เป็นปัญหาสำคัญที่ต้องเร่งแก้ไข ด้วยงบประมาณของ อบต. มีเพียง ปีละ 7 ล้านบาท หากต้องซื้อรถเก็บขยะ ซื้อถังขยะ งบประมาณนี้คงไม่พอที่จะนำไปพัฒนางานด้านอื่นๆ ชาวบ้าน กับ อบต. จึงได้ร่วมกันหาวิธีจัดการขยะ โดยใช้แนวคิด “ขยะเป็นศูนย์ ต้องเริ่มที่บ้าน” เริ่มด้วยการจัดอบรมให้ความรู้เรื่องประเภทของขยะ วิธีคัดแยกขยะ โดยขยะเปียก อบต.จะแจกถังหมักปุ๋ยให้ทุกบ้าน ส่วนขยะที่นำไปรีไซเคิลได้ ต้องล้างสะอาดแล้วขายให้ธนาคารขยะของ อบต. โดยมีมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ มาช่วยเรื่ององค์ความรู้ และการจัดการ
ผ่านไป 1 ปี ปรากฏว่า วิธีนี้ได้ผล ลดค่าใช้จ่ายการกำจัดขยะได้ถึง 1 ล้านบาท ชาวบ้าน 97% เห็นด้วยกับวิธีกำจัดขยะนี้ ส่งผลให้ชุมชนนี้ มีสโลแกนว่า “ครัวเรือนสะอาด หมู่บ้านสดใส” เพราะทุกคนตระหนักดีว่า ขยะจะไม่เป็นภาระของสังคม หากทุกครัวเรือนร่วมกันคัดแยกขยะ ไม่เพียงเท่านี้ เด็กๆ ในหมู่บ้าน ยังได้รับการปลูกฝัง ผ่านศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และในโรงเรียน เด็กๆ กว่าร้อยชีวิตรวมตัวกัน ทำให้เกิด “กลุ่มจักรยานสานฝันรักสิ่งแวดล้อม” ขึ้น ใช้เวลาว่างทุกวันเสาร์ ปั่นจักรยานนำขยะที่คัดแยกได้ของที่บ้านไปขายให้ธนาคารขยะ และสอดส่องเก็บขยะในชุมชน นำมาคัดแยกให้ถูกวิธี ก่อนจะนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ นำไปขายให้ธนาคารขยะของ อบต. ได้เป็นตัวเลขในบัญชีเงินออมของแต่ละคน
เห็นไหมครับว่า การจัดการขยะ ไม่ได้ยุ่งยาก หรือซับซ้อน จนทำไม่ได้ เพียงแค่มีจิตสำนึก และมีความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ผมเชื่อว่า ในประเทศไทยยังมีอีกหลายชุมชน ตำบล ที่มีวิธีจัดการขยะอย่างชาญฉลาดเป็นตัวอย่างให้ได้เรียนรู้ และนำไปปรับใช้ได้กับทุกพื้นที่ ทุกชุมชนได้
วันนี้ คุณพร้อมที่จะลุกขึ้นมาเปลี่ยนความคิดใหม่แล้วหรือยัง “ใช้ให้น้อย และคิดให้เยอะก่อนใช้” ไม่ใช่เรื่องยาก มาร่วมกันลดขยะ เพื่อร่วมสร้างประเทศไทยให้น่าอยู่ที่สุดในโลกด้วยกันครับ
ที่มา : ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ผู้จัดการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้า้งเสริมสุขภาพ สสส.