รุกสร้าง “วัฒนธรรมการอ่าน” ในสถานศึกษาทั่วไทย

ศธ. จับมือ สสส. และภาคีเครือข่าย รุกสร้าง “วัฒนธรรมการอ่าน” ในสถานศึกษาทั่วไทย “ชินวรณ์” หนุนใช้วาระ “การอ่าน” เป็นพลังเคลื่อนปฏิรูปรอบ 2 “นักวิชาการ” ชี้วิกฤต “โอเน็ต” สะท้อนว่าถึงเวลาต้องเพิ่ม “Demand – Supply” กลไกกระตุ้นเด็กไทยขยันอ่าน แนะเพิ่มปริมาณหนังสือดี-อ่านสนุก ในโรงเรียน ไม่เน้นเฉพาะเนื้อหาวิชาการ



เมื่อวันที่ 8 เม.ย. ที่ห้องประชุมลำพอง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) ร่วมกับโครงการมหานครแห่งการอ่าน : Bangkok Read For Life กรุงเทพมหานคร เครือข่ายความร่วมมือการอ่านในคณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต และแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  จัดประชุมสัมมนาวิชาการ “หนังสือ สื่ออ่าน และการอ่าน : กลไกและเครื่องมือปฏิรูประบบการเรียนการสอนในสถานศึกษาเพื่อความสุข ความใฝ่รู้ ตลอดชีวิต”


โดยนายชินวรณ์ บุณยเกียรติ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะด้านการศึกษา เป็นการลงทุนที่จะให้ผลตอบแทนแก่ประเทศชาติอย่างคุ้มค่าในระยะยาว ในส่วนกระทรวงศึกษาธิการ กำลังดำเนินการปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง เป้าหมายสูงสุดคือ ต้องการทำให้คนไทยเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต ซึ่งตนอยากให้สถานศึกษาทุกแห่ง ใช้การอ่านเป็นพลังขับเคลื่อนทางสังคม โดยสนับสนุนให้เด็กไทยมีนิสัยรักการอ่าน ใช้หนังสือเป็นกลไกและเครื่องมือสร้างความสุขในการอ่าน สร้างสรรค์ความคิด เกิดความใฝ่รู้ และเป็นรากฐานของการเรียนรู้ตลอดชีวิต จึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะต้องเร่งดำเนินการอย่างต่อเนื่องและจริงจัง เพื่อให้เด็กและเยาวชนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพสามารถคิด วิเคราะห์ แก้ปัญหาได้ เป็นคนดี คนเก่งของสังคมในอนาคต
 


 
ศธ. จับมือ สสส. และภาคีเครือข่าย รุกสร้าง “วัฒนธรรมการอ่าน” ในสถานศึกษาทั่วไทย


รศ.ดร.วิลาสินี อดุลยานนท์ ผู้อำนวยการสำนักรณรงค์สื่อสารสังคม สสส. กล่าวว่า การผลักดันให้สังคมแห่งการอ่าน เป็นวิถีชีวิตของคนไทย ต้องทำงานร่วมกันหลายภาคส่วน ที่ผ่านมา สสส. เน้น 2 ส่วน คือ 1.สร้างอุปทาน (Supply) คือ มีหนังสือดีที่เหมาะสมกับเด็ก โดย สสส. ร่วมกับ ศธ. และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐและเอกชนสนับสนุนให้เกิดการผลิตหนังสือดี ราคาถูก มีช่องทางกระจาย อาทิ ศูนย์เรียนรู้ระดับตำบลทั่วประเทศ รวมทั้งมีกลไกคัดเลือกหนังสือ กลไกพัฒนาองค์ความรู้ผู้ผลิต ผู้เขียนหนังสือสำหรับเด็ก ขณะเดียวกันต้องมีกลไกควบคุมดูแลให้หนังสือมีราคาถูก  2.เกิดอุปสงค์ (Demand) หรือความต้องการในการอ่านหนังสือดี โดยส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายส่งเสริมการอ่านตั้งแต่ระดับตำบล จนถึงระดับประเทศ โดย สสส. เข้าไปสนับสนุนกระบวนการภาคสังคม ที่ช่วยสร้างกระแสรณรงค์ให้เกิดนวัตกรรม ส่งเสริมให้คนอยากอ่านหนังสือมากขึ้น อาทิ ตะกร้าแลกอ่าน อาสาสมัครรักการอ่านประจำตำบล


“กระแสความร่วมมือการสร้างวัฒนธรรมการอ่านเป็นไปในระดับดีขึ้น เพราะทุกฝ่ายเห็นความสำคัญที่จะร่วมกันผลักดัน ซึ่งจากสถานการณ์ผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กไทยในด้านต่างๆ โดยเฉพาะผลการทดสอบทางการศึกษาระดับชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) ที่เกิดขึ้น เชื่อว่าจะเป็นตัวกระตุ้นสำคัญให้ทุกภาคส่วนเห็นความสำคัญยิ่งขึ้น และมองเห็นภาพการทำงานที่ต้องเชื่อมโยงกับภาคส่วนต่างๆ เพราะการอ่านเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนากระบวนการคิดและภูมิปัญญาของเด็กไทย” รศ.ดร.วิลาสินี กล่าว


น.ส.สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน กล่าวว่า ปัจจุบันหนังสือน่าอ่าน หรือหนังสือดีสำหรับเด็กในโรงเรียนยังมีอยู่น้อย ซึ่งในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสังคมแห่งการเรียนรู้ เห็นว่า หากไม่ปรับหนังสือในโรงเรียน โอกาสที่จะทำให้เด็กรักการอ่านก็ยากมาก ที่ผ่านมา สสส. ได้เข้าไปส่งเสริมเรื่องนี้แก่เด็กเล็กโดยได้มีชุด 108 หนังสือดี ออกมาเพื่อสร้างฐานรากการอ่านตั้งแต่เด็กๆ และควรต้องรุกคืบต่อสำหรับเด็กในโรงเรียนจะทำอย่างไรให้โรงเรียนเห็นความสำคัญจึงเป็นที่มาของการจัดงาน “หนังสือ สื่ออ่าน และการอ่าน” ที่จะให้ภาคีต่างๆ ได้เข้ามาร่วมกับขบคิดเพื่อผลักดันเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามปัจจุบันโรงเรียนส่วนใหญ่มีหนังสือแบบเรียนให้เด็กได้เรียน แต่เป็นเรื่องกฎเกณฑ์ วิชาการ ซึ่งก็เป็นหนังสือที่ดี แต่อีกส่วนหนึ่งควรให้ความรื่นรมย์แก่เด็กจากการอ่าน เช่น การอ่านหนังสือการ์ตูน สารคดี เป็นต้น ดังนั้นเราจะทำอย่างไรให้หนังสือเหล่านี้ได้เข้าไปในโรงเรียนมากขึ้น และจะทำอย่างไรให้เด็กอ่านอย่างมีความสุข และทำให้การอ่านเป็นเรื่องรื่นรมย์


ศ.นพ.ประเวศ  วะสี   ประธานกรรมการมูลนิธิเด็ก  กล่าวว่า  ขณะนี้คนไทยไม่มีวัฒนธรรมการอ่าน ทั้งเด็กและผู้ใหญ่มีอัตราการอ่านต่ำมาก จึงจำเป็นต้องส่งเสริมให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ เนื่องจาก สังคมไทยเป็นสังคมที่มีความซับซ้อน ถ้าไม่อ่านจะไม่เข้าใจความซับซ้อน ไม่สามารถแก้ปัญหาต่าง ๆ ได้  ซึ่งปัจจุบันเรากลายเป็นรัฐล้มเหลวเพราะมีความสามารถในการจัดการปัญหาเหล่านี้ได้น้อย  รวมถึงการปฏิรูปการศึกษาที่จะเปลี่ยนแปลงได้ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนแนวคิดก่อน  ไม่ใช่ว่าต้องเรียนจบปริญญาอย่างเดียวถึงจะมีชีวิตที่ดีได้ ถือว่าตรงนี้ทำให้การปฏิรูปการศึกษายากขึ้น  ดังนั้น ควรควบคุมการศึกษาให้เด็กเรียนเอง ปฏิบัติเอง มากกว่าจะให้ท่องจำจากตำราเพียงอย่างเดียว  เพราะจะทำให้เด็กเกิดความคิดสร้างสรรค์       และควรสนับสนุนให้การศึกษาเป็นระบบ เช่น ตั้งศูนย์เรียนรู้การศึกษาในชุมชนเพื่อชุมชนและต้องอยู่ร่วมกันได้ 


 


 


ที่มา : สำนักข่าว สสส.

Shares:
QR Code :
QR Code