รำเหย่ยประยุกต์แรป ช่วยผู้สูงวัยไม่ติดเตียง

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


รำเหย่ยประยุกต์แรป ช่วยผู้สูงวัยไม่ติดเตียง thaihealth


"เราชื่อบุษกร พรมมา ถึงเป็นชาวนา เราก็ร้องแรปได้ เพลงเหย่ยเรากลับหันหลัง แต่ถ้าเพลงฝรั่ง หนูก็ร้องได้ โย่ โย่"


เสียงเพลงแรปผสมเพลงเหย่ย ซึ่งเป็นเพลงพื้นบ้านของชาวบ้านของ ต.หนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ของ 2 คุณป้ารักเสียงเพลงอย่าง ป้าบุษกร พรมมา วัย 66 ปี และ ป้าปัท มาลาพงษ์ วัย 66 ปี ที่ร้องประสานกันอย่างลงตัว สร้างความสนุกสนานครื้นเครง และเสียงปรบมือจากผู้มาร่วมงานเสวนาเวทีสาธารณะเรื่อง "สังคมสูงวัย…ก้าวไปด้วยกัน" ที่จัดขึ้นโดยมูลนิธิ มส.ผส. ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และภาคีเครือข่าย อาทิ สถานีโทรทัศนกระจายเสียง "ไทยพีบีเอส"


ทว่าที่มาของเพลงประสานเสียงดังกล่าว ส่วนหนึ่งเป็นเนื้อหาในรายการ "ลุยไม่รู้โรย" ทางช่องไทยพีบีเอส แต่จุดประสงค์หลักของเพลง "รำเหย่ย ประยุกต์เพลงแรป" ที่นำมาโชว์ในงาน เพราะต้องการกระตุ้นให้เด็กไทยหันมาสนใจวัฒนธรรมพื้นบ้านอย่าง "รำเหย่ย" มากกว่าเพลงป๊อปเกาหลี และสะท้อนว่าคนหลัก 6 นั้นมีศักยภาพมากกว่าที่คุณคิด


รำเหย่ยประยุกต์แรป ช่วยผู้สูงวัยไม่ติดเตียง thaihealth


ป้าบุษกร พรมมา วัย 66 ปี ที่ร้องแรปได้คล่องปาก เล่าถึงสถานการณ์ "เพลงเหย่ย" กับเด็กไทยยุคนี้ และการตัดสินใจมาเรียนร้องแรปประยุกต์ว่า "เด็กยุคนี้จะชอบฟังแต่เพลงเกาหลี ส่วนเพลงเหย่ยนั้นไม่รู้จักแล้วค่ะ ตอนแรกที่ทาง อบต.เชิญให้ไปสอนร้องรำเหย่ยเด็กมัธยมที่ รร.ท่าม่วง เขามีชมรมดนตรี เด็กๆ ก็ไม่ค่อยสนใจ ครั้งที่สองที่ไปก็ยังไม่ชอบอีก แต่พอครั้งที่ 3 เด็กๆ ชอบเพลงเหย่ยผสมเพลงแรปมากค่ะ ปรบมือกันเกรียวค่ะ ตอนนี้พูดได้เลยว่าสอนชั่วโมงเดียวนั้นแทบไม่พอเลยค่ะ นอกจากนี้ ระหว่างทางที่ป้าเดินไปวัด เด็กๆ ที่เห็นป้าก็มักจะทำมือท่าแรปโย่ใส่ป้า ป้าก็หยุดและทำมือใส่เด็กๆ ก็เป็นที่สนุกสนานมากค่ะ"


ขณะที่ ป้าปัท มาลาพงษ์ อีกหนึ่งคู่แรป แง้มให้ฟังเกี่ยวกับ "เพลงเหย่ย" ของชาว จ.กาญจนบุรี ว่า มีมาตั้งแต่ 100 ปี หรือสมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งสำเนียงการร้องจะลงท้ายด้วยคำว่า "เอย" ที่สำคัญเป็นเพลงพื้นบ้านที่ร้องเกี้ยวพาราสีกันของหนุ่มๆสาวๆ ซึ่งทั้งคู่จะต้องร้องแก้กันไปมาในช่วงเทศกาลสงกรานต์ หรือช่วงเกี่ยวข้าวนวดข้าว โดยมีเนื้อร้องว่า "(ผู้ชาย) พี่รักน้องยา ละ พี่ถึงได้มาถึงได้มานะน้องเอ๋ย" ขณะที่ (ผู้หญิง) ก็จะร้องตอบว่า "จะรักน้องยา ละ ไม่วาสนาเลย" จากนั้นผู้ชายจะร้องว่า "รักหนาพา หนี ไปอยู่กับพี่เถิดน้องเอย"


รำเหย่ยประยุกต์แรป ช่วยผู้สูงวัยไม่ติดเตียง thaihealth


ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้นของการ "ร้องรำเหย่ยประยุกต์เพลงแรป" งานนี้ ป้าบุษ เล่าให้ฟังว่า มาจากการตัดสินใจร่วมรายการ "ลุยไม่รู้โรย" ทางช่องไทยพีบีเอส ที่เฟ้นหาผู้สูงอายุที่มีความสามารถในการร้องเพลงพื้นบ้าน ประกอบเจ้าตัวอยู่ในพื้นที่ ต.หนองสาหร่าย อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี ซึ่งเป็นหมู่บ้านวัฒนธรรมที่มีเพลงพื้นบ้านอย่าง "รำเหย่ย" ซึ่งเป็นที่รู้จักอยู่แล้ว จึงตัดสินใจร่วมงาน โดยใช้เวลาในการฝึกร้องเพลงประยุกต์ รวมถึงแต่งเนื้อเพลง


เป็นเวลา 1 อาทิตย์ ซึ่งพอร้องได้ คุณป้าทั้ง 2 บอกตรงกันว่า รัก "เพลงแรป" ขึ้นมาทันที เพราะถือเป็นตัวเชื่อมเพลงพื้นบ้านอย่าง "รำเหย่ย" ไม่ให้สูญหาย แต่ถูกนำเสนอและสร้างการรับรู้ไปยังเด็กยุคนี้ในอีกรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งจุดชนวนให้เด็กรุ่นลูกหลานหันกลับมาสนใจเพลงพื้นบ้านดังกล่าวมากขึ้น


"บอกเลยค่ะว่ายากมาก ขนาดว่าเวลาไปกินเลี้ยงแล้วมีคนเปิดเพลงแรป ป้ายังลุกหนีเลย แล้วจะให้มาร้องแรปอีกคงไม่ไหวนะ แต่ในฐานะที่มีพื้นฐานการร้องเพลงลูกทุ่ง เพลงเหย่ย และเพลงฉ่อยอยู่ ก็เลยปรึกษากับป้าปัทว่าจะเอาอย่างไรดี!!! จะรับหรือไม่รับ!!! กระทั่งได้เปิดใจที่จะเรียนรู้ ก็เลยตกปากรับคำรายการ "ลุยไม่รู้โรย" ซึ่งเขาก็ส่งคุณครูมาสอน และครูก็จะสอนทำนองให้เราร้องว่า "โย่ โย่ โย่" จากนั้นสอดแทรกเนื้อหาการร้องเพลงเหย่ยเข้าไป พร้อมกับตัดคำลงท้ายว่า "เอย" ออกไป


รำเหย่ยประยุกต์แรป ช่วยผู้สูงวัยไม่ติดเตียง thaihealth


สำหรับเนื้อนั้น ป้ากับป้าปัทจะต้องแต่งกันเอง เราก็ช่วยกันคิด โดยหยิบยกเอาสิ่งที่เห็นมาแต่งเป็นบทเพลง เช่น ตอนที่ไปสอนเด็กๆ มัธยมที่ รร.ท่าม่วง ป้าก็จะร้องให้เด็กฟังว่า "เราเป็นนักเรียนต้องหมั่นเขียนอ่าน ต้องทำการบ้านกันให้ไวๆ ต้องเชื่อฟังคุณครู จะได้เรียนรู้วิชาเอาไว้ พ่อแม่นั้นส่งมาเรียน ก็ต้องหมั่นพากเพียรตั้งใจเรียนกันไว้ เรียนไว้ก็เอาไว้เพื่อรู้ จะได้เป็นครูกันต่อไป โย่ โย่ โย่"


นอกจากประโยชน์ในแง่ของการอนุรักษ์เพลงพื้นบ้านแล้ว 2 คุณป้าได้บอกเล่าถึงประโยชน์ของการ "การโชว์รำเหย่ยประยุกต์เพลงแรป" โดย ป้าปัท ให้ข้อมูลว่า "ป้าคิดว่าประโยชน์ของกิจกรรมนี้เป็นการชวนผู้สูงอายุไม่ให้นอนติดเตียง ทำให้คนแก่ยิ้มแย้มแจ่มใส และตัวป้าเองก็พลอยมีความสุขไปด้วยที่ได้ไปร้องให้คนแก่ในหมู่บ้านฟัง จากการชักชวนของผู้นำชุมชนอย่าง อบต. เทศบาลค่ะ ก็เท่ากับป้าได้ออกกำลังกาย ไปโน่นมานี่ด้วยค่ะ"


ด้าน ป้าบุษ บอกคล้ายกันว่า "ทุกครั้งที่ป้าได้มีโอกาสไปร้องเพลงประยุกต์นี้ให้คนแก่ฟัง เขาก็จะมีความสุข เพราะเราไปเล่นกับเขา ส่วนใหญ่คนที่ฟังเราร้องก็จะชอบพูดว่า มึงอย่าเพิ่งตายนะ เล่นเก่งๆ เสียงดีๆ แบบนี้ต่อไป ป้าก็รู้สึกดีใจที่คนฟังชอบเพลงของเรา เดี๋ยวนี้เวลาที่ไปร้องเพลง พอกลับมานอน ป้าก็นอนหลับสบายขึ้น ทำอะไรก็มีกำลังใจไปหมด ไม่ว่าจะงานไร่ งานนา หรืองานโชว์ตัวที่เขาติดต่อป้าทั้งสองให้ไปร้องรำทำเพลง ไม่ว่าจะเพลงเหย่ย หรือเพลงพื้นบ้านประยุกต์ทำนองแรป ชีวิตมีความสุขขึ้นจากเสียงเพลงค่ะ"

Shares:
QR Code :
QR Code