รับมือ “ไข้เลือดออก” ปีนี้ระบาดหนัก

เดือนครึ่งพบเป็นแล้ว 3,000 กว่าราย

 

รับมือ “ไข้เลือดออก” ปีนี้ระบาดหนัก 

สัญญาณอันตราย แค่เดือนครึ่งพบผู้ป่วยไข้เลือดออก 3,757 ราย เสียชีวิตแล้ว 3 คาดอาจระบาดหนัก กทม.น่าห่วงสุด ชี้สาเหตุเพราะอากาศร้อนจัดทำให้ยุงลายเติบโตเร็ว

 

นพ.ไพจิตร์ วราชิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ปีนี้สภาพอากาศร้อนเร็วกว่าทุกปี ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกน้ำยุงลายเจริญเติบโตได้ดี และข้อมูลทางวิชาการพบว่า ขณะนี้การเจริญเติบโตของลูกน้ำยุงลายกลายเป็นยุงใช้เวลาเพียง 5 วัน จาก 7 วัน ทำให้ปริมาณยุงตัวเต็มวัยเพิ่มมากขึ้น จึงคาดการณ์ว่าในปี 2553 อาจเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออก และตั้งแต่ต้นเดือนมกราคม 2553 ถึง 13 กุมภาพันธ์ 2553 ทั่วประเทศมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกเข้ารักษาและรับการรักษาในโรงพยาบาลรวม 3,757 ราย เฉลี่ยวันละ 85 ราย เสียชีวิต 3 ราย โดยพบผู้ป่วยมากที่สุดในภาคกลาง คิดเป็นร้อยละ 55 รองลงมาคือ ภาคใต้ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนภาคเหนือพบอัตราการป่วยน้อยที่สุด

 

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่า หากเปรียบเทียบสถิติผู้ป่วยโรคในช่วง 2 เดือนของปีนี้กับปี 2552 พบสูงกว่าช่วงเดียวกันถึงร้อยละ 49 ซึ่งมีผู้ป่วยทั้งหมดเพียง 2,511 ราย และในปี 2553 พบอัตราการป่วยในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะ กทม.พบอัตราการป่วยมากถึงร้อยละ 60 ทั้งนี้

 

ได้สั่งการให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศเตรียมการป้องกันก่อนถึงฤดูกาลระบาด ในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาม และให้ทุกพื้นที่ช่วยกันลดจำนวนยุงลายให้เหลือน้อยที่สุด โดยการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่มักอาศัยในภาชนะที่มีน้ำท่วมขัง และหากมีรายงานผู้ป่วยไข้เลือดออกให้ดำเนินการสอบสวนโรคและควบคุมโรคภายใน 24 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้โรคแพร่ระบาด และพ่นสารเคมีรอบบ้านผู้ป่วยรัศมีอย่างน้อย 100 เมตร เพื่อตัดวงจรการแพร่ระบาดโรค

 

นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โรคไข้เลือดออกสามารถรักษาให้หายได้หากมารับการรักษาเร็ว อาการทั่วไปของโรคที่พบทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ไม่แตกต่างกัน มีไข้สูงมาก กินยาแล้วไข้ไม่ลด อาจมีจุดเลือดออกเล็กๆ สีแดงที่ผิวหนังกระจายตามตัว เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน แต่ในผู้ใหญ่มักจะมีอาการปวดศีรษะ ปวดกระบอกตามาก รุนแรงกว่าเด็ก และจะมาพบแพทย์ช้า เนื่องจากไม่คิดว่าตัวเองป่วยเป็นไข้เลือดออก สำหรับผู้ที่มีอายุมากกว่า 35 ปี ที่มีโรคประจำตัว เช่น แผลในกระเพาะอาหาร โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง หากเป็นไข้เลือดออกก็ยิ่งทำให้อาการหนักมากขึ้น

 

นพ.มานิตกล่าวว่า อาการรุนแรงของโรคไข้เลือดออกในระยะที่ไข้ลดลง ถือเป็นช่วงอันตรายมาก ขอให้ประชาชนสังเกตว่า หากไข้ลดลง แต่ผู้ป่วยยังมีอาการซึม อ่อนเพลีย มีอาการปวดท้อง แม้จะรู้สึกตัวดี พูดคุยได้ กินอาหารได้ก็ตาม จะต้องรีบพาไปพบแพทย์โดยเร็ว เพราะหากไม่ไปพบแพทย์ภายใน 10-12 ชั่วโมง อาจเกิดอาการช็อก มีอาการตับวาย ไตวายแทรกซ้อน จนเสียชีวิตได้.

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

update:02-03-53

 

 

อัพเดทเนื้อหาโดย: ณัฏฐ์ ตุ้มภู่

Shares:
QR Code :
QR Code