รับมือท้องไม่พร้อม เปิดใจคุยเรื่องเพศในวัยรุ่น
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
แฟ้มภาพ
การเตรียมตัวเพื่อรับมือกับเรื่องทางเพศที่เปลี่ยนแปลงนั้น เป็นประเด็นที่สังคมให้ความสำคัญ เพราะปัจจุบันนี้กำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในหลายๆ ด้าน ทั้งการสื่อสารไร้พรมแดน ค่านิยมการมีเซ็กซ์เปิดกว้าง และการท้องไม่พร้อม ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ปัญหารุนแรงขึ้น
ถึงจะเป็นยุค 4 จี แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อพูดถึงเรื่องเพศ คนส่วนหนึ่งมักคิดว่าเป็นสิ่งน่าอายที่ไม่ ควรพูดถึง โดยเฉพาะในวัฒนธรรมของคนไทยด้วยแล้วมักถูกสอนว่าเรื่องเพศเป็นเรื่องที่ควรปกปิดและไม่ควรนำมาพูดอยากเปิดเผย แต่จริงๆ แล้วเราต่างรู้ว่าเรื่องเพศนั้นเป็นเรื่องธรรมชาติ
ข้อมูลจากกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ปัญหาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในวัยรุ่นมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงยังมีภาวะแทรกซ้อนจากการทำ แท้งที่ไม่ปลอดภัย การทอดทิ้งทารกและการตั้งครรภ์ไม่พร้อมในวัยรุ่น ปัญหาเหล่านี้จำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขเพราะมีผลต่อคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชนในอนาคต
ล่าสุด สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้ดึง 5 หน่วยงานหลัก ตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงแรงงาน และกระทรวงมหาดไทย ร่วมกับองค์การกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ (UNFPA Unicef) และเครือข่ายเยาวชน จัดงานประชุมระดับชาติเรื่องสุขภาวะทางเพศครั้งที่ 2 หัวข้อ "เซ็กส์เปิดในวัยรุ่น : เปิดพื้นที่เพิ่มความฉลาดรู้ทางเพศ" เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากเครือข่ายการทำงานสู่การพัฒนานโยบาย และมาตรการในการดำเนินงานเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง และส่งเสริมสุขภาวะทางเพศของวัยรุ่น บรรยากาศภายในงานได้ฟังเสียงสะท้อนจากเด็กๆ เครือข่ายเยาวชน Youth Track ที่มีบทบาทรณรงค์สุขภาวะทางเพศในจังหวัดต่างๆ มาร่วมพูดคุยเรื่องเพศในแบบเพื่อนสอนเพื่อน
บอย-ภาณุวัฒน์ สพานแก้ว จากโรงเรียนพะเยาพิทยาคม จ.พะเยา เล่าว่า สมัยนี้วัยรุ่นรู้จักและคบหากันง่ายมากขึ้นผ่านโลกโซเชียล เด็กคิดว่าเรื่องเพศสัมพันธ์เป็นเรื่องธรรมชาติไปแล้ว คุยกันเปิดเผยมากกว่าเมื่อก่อน อย่างการพูดคุยกันเรื่องเพศ เราจะมีภาษาพูดที่สร้างความเข้าใจเฉพาะกลุ่มเพื่อหลีกเลี่ยงการใช้ภาษาที่สังคมมองว่าไม่สุภาพ ยอมรับว่าความรู้เรื่องเพศเด็กจะได้รับจากเพื่อนและสื่ออินเทอร์เน็ต มากที่สุด
"น้อยมากที่จะเรียนรู้เรื่องเพศจากคนในครอบครัว เพราะผู้ปกครองบางคนเขินอายที่จะพูดหรืออธิบายให้เด็กเข้าใจ หรือคิดว่าเป็นการชี้โพรงให้กระรอก การที่ผู้ใหญ่บางคนห้ามวัยรุ่นมีเพศสัมพันธ์ มองว่ายิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ เด็กก็ต้องไปแอบทำกันอยู่ดี สู้สอนไปเลยดีกว่า เพื่อให้เด็กได้รู้จักป้องกันตัวก่อนที่ปัญหาต่างๆ จะตามมา" หนุ่มบอยกล่าว
ด้าน แจ๊บ-มณีรัตน์ ไชยนอก จากโรงเรียนศรีสองรักษ์วิทยา จ.เลย สมาชิกชมรมกอไผ่ เล่าว่า ได้มีส่วนร่วมรณรงค์ในเรื่องสุขภาวะทางเพศภายในโรงเรียน ในรูปแบบเพื่อนสอนเพื่อน เช่น สอนใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกวิธี การใช้ยาเม็ดคุมกำเนิด การนับระยะวันปลอดภัย เป็นต้น ส่วนใหญ่ที่เข้ามาปรึกษาจะเป็นเพื่อนผู้หญิง เพราะผู้หญิงจะมีสรีระที่ซับซ้อนกว่าผู้ชาย หลายคนกล้าที่จะเข้าปรึกษาเรามากกว่าพ่อแม่ เพราะเห็นว่าเป็นวัยที่ใกล้เคียงจะเข้าใจกันมากกว่า สำหรับประเด็นเรื่องวัยรุ่นเสียตัวในช่วงเทศกาลต่างๆ อย่างวันวาเลนไทน์หรือลอยกระทง เห็นว่าการที่พ่อแม่ห้ามไม่ให้ออกไปเที่ยวไม่ใช่ทางออกสุดท้าย แต่ควรดูแลอยู่ห่างๆ น่าจะดีที่สุด
"การที่วัยรุ่นจะมีเพศสัมพันธ์ โอกาสเกิดขึ้นมีได้ทุกวัน ทางที่ดีอยากให้พ่อแม่ออกไปเที่ยวด้วย หรือหากลูกต้องการที่จะไปกับเพื่อน พ่อแม่ก็อาจจะไปส่งหรือนัดพบให้เดินทางกลับบ้านพร้อมกันเพื่อสร้างความใกล้ชิดและดูแลอยู่ห่างๆ อย่าไปเหมาว่าลูกหรือวัยรุ่นทุกคนจะต้องเป็นเหมือนสื่อสร้าง คือ ต้องมีเพศสัมพันธ์ในวันวาเลนไทน์หรือคืนวันลอยกระทง อยากให้พ่อแม่เปิดโอกาสด้วยความไว้ใจ" แจ็บแสดงความเห็น
ขณะที่ วุฒิพงษ์ โพธ์นาฝาย หรือโอเลย์ จากชมรมเยาวชนลูกพ่อแล จ.ชัยภูมิ ให้ความเห็นว่าตอนนี้ปัญหาเรื่องเพศสัมพันธ์ก่อนวัยอันควรในหมู่วัยรุ่น เริ่มขยายตัวลงมาสู่กลุ่มเยาวชนที่มีอายุน้อยลง คือ 13-15 ปี สิ่งที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งมาจากการขาดความรู้เรื่องเพศศึกษาที่ถูกต้อง ในเมื่อทุกคนเข้าใจตรงกันว่าเรื่องเพศสัมพันธ์ของเยาวชนเป็นเรื่องที่ห้ามได้ยาก จึงขึ้นอยู่กับผู้ปกครองที่ต้องเปิดใจรับกับเรื่องราวที่เกิดขึ้น ยอมรับว่าสังคมและค่านิยมเปลี่ยนแปลงไป หากเราไม่ใส่ความรู้ให้เด็กตั้งแต่วันนี้แล้ว ในอนาคตเส้นทางในการดำเนินชีวิตคงลำบากและนำไปสู่ปัญหา
"อีกเรื่องสำคัญผู้ที่เกี่ยวข้องต้องเปิดใจ ยอม รับว่าปัญหานี้ไม่สามารถจะห้ามได้เลย แต่เราต้องช่วยกันสร้างความรู้และการป้องกันที่ถูกต้อง นอกจากนี้การเพิ่มเนื้อหาในส่วนของหลักสูตรเพศศึกษาที่เน้นให้เด็กเกิดกระบวนการคิดและตระหนักถึงแนวทางป้องกันให้มากกว่านี้ เชื่อว่าหากทำได้จริงจะช่วยลดปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรได้อย่างมาก" โอเลย์สรุปทิ้งท้าย
สังคมที่เปลี่ยนไปจากเดิมสมัยก่อนเด็กไม่มีโอกาสพูดเรื่องนี้ ขณะที่เด็กยุคปัจจุบันกล้าคิดกล้าทำมากขึ้น ทำให้ผู้ใหญ่ต้องปรับตัว เน้นย้ำโลกยุคใหม่ความจริงแล้วการสอนให้เด็กมีความเข้าใจเรื่องเพศนั้น พ่อแม่ควรเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการสื่อสารเรื่องเพศที่ถูกต้องแต่เนิ่นๆ เพื่อลูกจะได้มีความรู้ความเข้าใจและไม่อายที่จะมาปรึกษากับครอบครัว