รัฐ ราษฎร์ร่วมใจ สร้างสังคมสูงวัยคุณภาพ

การดูแลผู้สูงอายุ ไม่ใช่แค่เรื่องของการดูแลสุขภาพร่างกายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการมีคุณภาพชีวิตที่ดีครบทั้ง 3 มิติ อันได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สุขภาพกายใจ และสังคม


จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการทำงานอย่างบูรณาการของทั้งภาครัฐ เอกชน และภาคประชาชน และเป็นที่มาของการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการ "ชี้แจงแนวทางการดำเนินงานการบูรณาการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ" เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2558 ที่ผ่านมา ณ โรงแรมเดอะทวิน ทาวเวอร์ กรุงเทพมหานคร จัดโดยกรมกิจการผู้สูงอายุ


รัฐ ราษฎร์ร่วมใจ สร้างสังคมสูงวัยคุณภาพ thaihealth


ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายสังคม กล่าวว่า ในการประชุมครั้งนี้ประกอบไปด้วยผู้แทนจากกระทรวงและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนองค์กรผู้สูงอายุและผู้ทรงคุณวุฒิด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ร่วมกำหนดแนวทางการดำเนินงานเบื้องต้นเพื่อการ บูรณาการงานภาครัฐเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในระดับพื้นที่


"การที่ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยที่มีคุณภาพได้นั้นต้องเริ่มจากการทำงานในระดับชุมชน ตำบล หรือเล็กกว่านั้น ซึ่งต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย เป็นการทำงานที่ไม่ได้มาจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว ล่าสุดมีการตอบรับจากทั้ง 77 จังหวัดเข้ามาร่วมโครงการ เพื่อคัดเลือกชุมชนนำร่องทั้งหมด 155 ตำบล และคาดว่าจะขยายไปทั่วทั้งประเทศ นอกจากนี้ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนยังสามารถนำไปเป็นต้นแบบได้เพื่อเป็นการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน" ศ.ดร.ยงยุทธกล่าว


รัฐ ราษฎร์ร่วมใจ สร้างสังคมสูงวัยคุณภาพ thaihealth


รัฐ ราษฎร์ร่วมใจ สร้างสังคมสูงวัยคุณภาพ thaihealth


สำหรับแนวทางในการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ ดร.ประกาศิต กายะสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ (สำนัก 9) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บอกว่า มิติการทำงานด้านผู้สูงอายุนั้นกว้างมากกว่าด้านสุขภาพหรือสาธารณสุขโดยตรง เพราะยังรวมไปถึงด้านเศรษฐกิจและสังคมด้วย ในด้านเศรษฐกิจตั้งแต่เรื่องการขยายอายุเกษียณ การเปิดโอกาสในการประกอบอาชีพอิสระ ที่สำคัญที่สุดคือ เงินออมยามสูงวัย เช่น กองทุนเงินออมแห่งชาติ หรือผลักดันระบบบำนาญแห่งชาติ ปัจจัยที่จะทำให้อย่างน้อยผู้สูงอายุทุกคนจะมีเบี้ยยังชีพเพียงพอกับการดำรงชีวิตได้


"ส่วนทางด้านสุขภาพก็มีตั้งแต่การเตรียมตัวก่อนเข้าสู่ภาวะพึ่งพาหรือพึ่งพิง แต่ สสส.อยากเน้นเรื่องการเตรียมความพร้อมที่จะเข้าสู่วัยสูงอายุมากกว่า เพราะจากข้อมูลบอกว่าถ้าช่วง 6 ปีสุดท้ายของชีวิต หากร่างกายไม่แข็งแรงจะต้องใช้ค่ารักษาพยาบาล เท่ากับครึ่งหนึ่งของค่าบริการสุขภาพเกือบทั้งชีวิตเลยทีเดียว" ผู้อำนวยการคนเดิมย้ำ


ดร.ประกาศิตอธิบายเพิ่มเติมว่า เรื่องของสังคมเน้นว่าทำอย่างไรครอบครัวและชุมชนจะมีส่วนร่วมในการดูแลผู้สูงอายุและคนทุกช่วงวัยในชุมชนของตนเองได้ โดยเฉพาะเรื่องของทัศนคติที่มีต่อผู้สูงอายุก็สำคัญ เพราะมีงานข้อมูลบ่งชี้ว่าทัศนคติหนุ่มสาวที่มีต่อผู้สูงอายุน้อยลง และยังเป็นเชิงลบไปเรื่อยๆ เราคิดว่าจะต้องสร้างเชิงบวกให้มากขึ้น


รัฐ ราษฎร์ร่วมใจ สร้างสังคมสูงวัยคุณภาพ thaihealth


รัฐ ราษฎร์ร่วมใจ สร้างสังคมสูงวัยคุณภาพ thaihealth


"ในส่วนงานบูรณาการที่ได้รับความร่วมมือจากทั้ง 7 กระทรวง ได้แก่ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คือ การรวบรวมงานบริการ ตลอดจนกิจกรรมของภาครัฐ เอามารวมกันไว้ในเครือข่ายเดียวกัน และตัวพื้นที่จะเป็นคนเลือกบริการที่เหมาะสมกับพื้นที่ของตนเอง และมีส่วนในการประเมินสิ่งที่เหมาะสม พื้นที่มีความต้องการมากน้อยอย่างไรจนนำไปสู่การเตรียมนโยบายในปีต่อไปได้" ผอ.สำนัก 9 กล่าวเสริม


รัฐ ราษฎร์ร่วมใจ สร้างสังคมสูงวัยคุณภาพ thaihealth


ขณะที่ตัวแทนภาคประชาชน นายสุรเดช เดชคุ้มวงศ์ เลขาธิการมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร เล่าถึงประสบการณ์การทำงานของชมรมผู้สูงอายุจังหวัดพิจิตรให้ฟังว่า ชาวพิจิตรและผู้สูงอายุมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน "ผู้สูงอายุเป็นหลักชัย ภาคีร่วมใจ สร้างสังคมไม่ทอดทิ้งกัน" เชื่อว่าบ้านเมืองเจริญถึงทุกวันนี้เพราะผู้สูงอายุ โจทย์อยู่ที่ว่าเราจะไปรวบรวมคนดี คนเก่งเหล่านี้มาได้อย่างไร และทำให้พวกเขาสามารถช่วยเหลือตัวเอง รวมถึงช่วยเหลือผู้อื่นได้ เริ่มจากเปลี่ยนวิธีคิดของคนทุกวัยให้เชื่อว่าผู้สูงอายุทุกคนมีพลัง และสักวันทุกคนจะต้องเป็นผู้สูงอายุ ฉะนั้นต้องเตรียมตัวและเตรียมความพร้อม โดยเรียนรู้จากผู้สูงอายุในพื้นที่


"โจทย์ต่อไปคือ ชมรมผู้สูงอายุต้องเข้มแข็ง สามารถเจรจาถึงการแก้ปัญหาได้ จังหวัดพิจิตรใช้วิธีการตั้งโรงเรียนผู้นำผู้สูงอายุ โดยในตำบลหนึ่งๆ ตั้งแต่ 500-4,000 คน นำด้วยผู้นำไม่เกิน 3-5 คน และเชิญคนเหล่านี้ที่มีประสบการณ์มาเรียนรู้การเป็นวิทยากร เรามีหน้าที่แค่จัดพื้นที่ ใช้ รพ.สต.เป็นพี่เลี้ยง เชิญภาครัฐและส่วนต่างๆ นำความรู้และประสบการณ์ในพื้นที่มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกัน โดยไม่มองแค่ตัวผลงาน แต่ต้องมองคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ" เลขาธิการมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตรเล่า


ท้ายที่สุดแล้ว หากภาครัฐมีกลไกในการรวบ รวมชุดบริการ พื้นที่มีกลไกในการทำงาน คนในพื้นที่หรือประชากรเองมีความเข้มแข็งพอที่จะสร้างบริการทางเลือกของตัวเองได้ สังคมสูงวัยก็จะกลายเป็นสังคมที่มีคุณภาพอย่างแท้จริง


 


 


 


ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code