รัฐบาลเอาจริงเก็บภาษีเหล้า – บุหรี่

ชี้ช่องออกกฎกระทรวงรีดปีละ 2 หมื่นล้าน    

 

 รัฐบาลเอาจริงเก็บภาษีเหล้า – บุหรี่

          นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า เห็นด้วยเต็มที่หากรัฐบาลจะผลักดันนโยบายจัดเก็บภาษีเหล้าและบุหรี่ให้มากขึ้น โดยเฉพาะภาษีบุหรี่ที่ไม่ได้มีการเพิ่มเพดานภาษีมากว่า 3 ปีแล้ว ทั้งที่ความเป็นจริงราคาภาษีจะต้องขยับตามการเปลี่ยนแปลงของอัตราเงินเฟ้อ

 

          การขึ้นภาษีสรรพสามิตทุกปี ถือเป็นประโยชน์ในเรื่องการลดต้นทุนค่าใช้จ่ายภาระทางสุขภาพของรัฐบาล ทั่วโลกใช้แนวทางนี้ในการรักษาสุขภาพคนในประเทศ และจัดเก็บเงินภาษีเพิ่มนพ.ประกิต กล่าว

 

          นอกจากนี้ ขณะนี้ พ.ร.บ.ยาสูบฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ได้ผ่านการพิจารณาวาระ 1 จากสมัยสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้ว เหลือเพียงการพิจารณาของรัฐสภาในวาระ 2 – 3 เท่านั้น

 

          นพ.บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า การขึ้นภาษีเหล้าไม่ต้องแก้กฎหมาย หรือรอการพิจารณาของคณะกรรมการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตทั้งระบบ เพียงแค่แก้ไขกฎกระทรวงการคลัง และให้รัฐมนตรีลงนามรับรองเท่านั้น เพราะขณะนี้การจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยังไม่เต็มตามเพดานที่กฎหมายกำหนดไว้

 

          ทั้งนี้ ปัจจุบันเครื่องดื่มเบียร์จะคิดภาษีตามมูลค่าอยู่ที่ 55% ของมูลค่าราคาขาย ณ โรงงาน ในขณะที่เพดานการจัดเก็บภาษีเต็ม อยู่ที่ 60% ของมูลค่าราคาขาย ณ โรงงาน ส่วนเหล้าขาว 40 ดีกรีนั้น ปัจจุบันมีการคิดอัตราภาษีอยู่ที่ 110 บาทต่อ 1 ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ในขณะที่อัตราการจัดเก็บภาษีเหล้าต่างประเทศและเหล้าไทยส่วนใหญ่จะอยู่ที่เต็มเพดาน 400 บาทต่อ 1 ลิตรแอลกอฮอล์บริสุทธิ์แล้ว

 

          โดยเฉพาะเหล้าขาวการจัดเก็บควรเพิ่มขึ้นจาก 110 บาท โดยอาจเพิ่มขึ้นในทุกปี ปีแรก 200 จนกระทั่งเต็มเพดานการจัดเก็บ หากดำเนินการตามแนวทางนี้ จะเพิ่มรายได้จากการจัดเก็บภาษีให้รัฐได้ไม่ต่ำกว่า 2 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่เก็บได้ 7 หมื่นล้านบาทต่อปี

 

          ด้านนายสงกรานต์ ภาคโชคดี ผอ.สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า เห็นด้วยกับการขึ้นภาษีเหล้าตามมูลค่าและตามปริมาณแอลกอฮอล์ ไม่ควรเลือกแบบใด แบบหนึ่งเหมือนในปัจจุบัน เพราะนอกจากจะทำให้รัฐมีรายได้เพิ่มขึ้นแล้ว ยังป้องกันไม่ให้ผลประโยชน์ ตกอยู่กับบริษัทค้าสุราต่างประเทศ บริษัทผู้ค้าสุรา 40 ดีกรี ซึ่งมีบริษัทใหญ่ ครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ในปัจจุบันนี้

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์

 

 

update 09-03-52

 

Shares:
QR Code :
QR Code