รังสรรค์เมนูฟิวชั่น เสริมคนไทยกินผักผลไม้

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์


สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดการประกวด "รังสรรค์เมนูฟิวชั่นผักผลไม้ 100 กรัม"ภายใต้โครงการพัฒนายกระดับมาตรฐานการกำกับดูแลผักและผลไม้สดปลอดภัยตลอดห่วงโซ่สู่การปฏิบัติ เพื่อรณรงค์ส่งเสริมให้คนไทยบริโภคผักผลไม้ให้มากขึ้น


รังสรรค์เมนูฟิวชั่น เสริมคนไทยกินผักผลไม้ thaihealth


ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่าสสส. และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นภาคีที่ทำงานร่วมกันอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะการรณรงค์เรื่องการบริโภคที่ถูกหลักโภชนาการเพื่อให้คนไทยมีสุขภาพดี ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดเกณฑ์มาตรฐานการบริโภคผักและผลไม้ใน 1 วันไว้ว่า ไม่ควรน้อยกว่า 400 กรัม แต่จากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคผักผลไม้ของคนไทยกลับพบว่า คนไทยกินผักผลไม้เพียงเฉลี่ยประมาณ 186 กรัมต่อวัน หรือ 1 ใน 3 ของปริมาณที่ควรจะได้รับเท่านั้น อาจจะเป็นเพราะวิถีชีวิตที่เร่งรีบของคนในปัจจุบันทำให้วัฒนธรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป หันมารับประทานอาหารจานด่วนทำให้ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้องรัง (NCDs) เช่น เบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง เป็นต้น


"ประเด็นการบริโภคผักผลไม้ สสส.และภาคีเครือข่ายได้รณรงค์เรื่องนี้อย่างจริงจัง ตั้งแต่การศึกษาข้อมูลวิชาการ ส่งเสริมเรื่องของการปลูก ตลอดจนการจำหน่าย อย่างเช่น โครงการตลาดสีเขียว เพื่อให้คนไทยเข้าถึงผักและผลไม้ปลอดสารพิษได้ง่าย ซึ่งการจัดการประกวดในวันนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของการณรงค์ โดยทุกเมนูที่ได้จะกลายเป็นต้นแบบเมนูสุขภาพที่จะถูกนำไปเผยแพร่ให้ประชาชนไทยกลับมาให้ความสำคัญถึงการบริโภคผักและผลไม้มากขึ้น" ดร.นพ.ไพโรจน์กล่าว


ด้าน ผศ.ดร.ชนิพรรณ บุตรยี่ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ประธานโครงการรังสรรค์เมนูฟิวชั่นด้วยผักผลไม้ 100 กรัม ให้ข้อมูลว่า สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขได้สำรวจสุขภาพประชาชนไทยโดยการตรวจร่างกายปี 2557 พบว่า เพศชาย อายุ 15 ปีขึ้นไป บริโภคผักและผลไม้ประมาณ 268 กรัมต่อวัน ส่วนเพศหญิง อายุ 15 ปีขึ้นไป บริโภคผักและผลไม้ประมาณ 283 กรัมต่อวัน และมีการบริโภคผักผลไม้น้อยลงตามอายุ โดยในกลุ่มอายุ 80 ปีขึ้นไปบริโภคน้อยที่สุด เพียง 200 กรัมต่อวันเท่านั้น ซึ่งสัดส่วนการบริโภคผัก 400 กรัมต่อวัน สามารถคิดตามการใช้หลักธงโภชนาการง่ายๆ คือ แบ่งเป็น 5 ส่วน ผัก 3 ส่วน ผลไม้ 2 ส่วน หรือคิดเป็นทัพพี เราควรบริโภคไม่ต่ำกว่าวันละ 5 ทัพพี


"การจัดการประกวดครั้งนี้ถือเป็นการนำความสนใจของผู้บริโภคในปัจจุบันมาสร้างสรรค์เมนูสุขภาพ เพราะค่านิยมของผู้บริโภคปัจจุบันไม่ได้สนใจเพียงรสชาติอาหารเท่านั้น แต่ยังสนใจความสวยงามของอาหารอีกด้วย ซึ่งภายหลังจากการประกวด ทุกเมนูที่เข้าร่วมประกวดจะมีการเก็บภาพและรวบรวมสูตรการทำ นำมาจัดทำเป็นสื่อคู่มือเมนูสุขภาพเพื่อเผยแพร่ให้แก่ประชาชนต่อไป" ผศ.ดร.ชนิพรรณกล่าว


มาที่ นางสาวอัฐภิญญา ทับศรี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 สาขาวิชาโภชนาการ และการประกอบอาหาร มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ตัวแทนจากทีม Power Puff Girl เล่าว่า การประกวดครั้งนี้ถือเป็นการเพิ่มเติมประสบการณ์ของตนและเพื่อนๆ เนื่องจากสาขาที่เรียนอยู่เกี่ยวกับอาหารสุขภาพโดยตรง ซึ่งโจทย์ที่ได้มาคือ การประกอบอาหารจากผักและผลไม้ โดยต้องให้มากกว่า 100 กรัม มีโปรตีนไม่น้อยกว่า 15 กรัม และแต่ละเมนูต้องมีปริมาณโซเดียมไม่เกิน 1,000 กรัม ตนและเพื่อนในทีมร่วมกันคิดเมนูคนละ 1 อย่าง โดยมองถึงคุณค่าของโภชนาการ และนำผักผลไม้มาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด รวมไปถึงการนำความเป็นไทยผสมผสานกับอาหารตะวันตกจนได้มาเป็น 3 เมนู ได้แก่ Secretssteck เป็นอาหารจานหลักที่ประกอบด้วยสมุนไพรไทยและผักนานาชนิด พงเพราหมี่กรอบกับผักหวานอบชีส ที่นำผักหวานของไทยมาประยุกต์กับอาหารตะวันตกอย่างลงตัว โดยเป็นอาหารว่าง และ Evergreen mocktail เครื่องดื่มที่ได้นำมะม่วงมหาชนกมาเป็นส่วนผสมหลัก


"เวทีนี้เปรียบเสมือนห้องเรียนที่สร้างเสริมทักษะให้แข็งแรงขึ้น หลายคนมองว่าอาหารสุขภาพจะต้องรสชาติไม่อร่อย จืดชืด แต่แท้จริงแล้วในวัตถุดิบแต่ละชนิดล้วนมีรสชาติความอร่อยอยู่แล้ว ขึ้นอยู่กับวิธีการปรุง หากเราปรุงอย่างพอดี อาหารก็จะอร่อยและดีต่อสุขภาพอีกด้วย" นางสาวอัฐภิญญากล่าว


สำหรับผลการประกวด "รังสรรค์เมนูฟิวชั่นผักผลไม้ 100 กรัม"ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Wonder Girl มหาวิทยาลัยสวนดุสิต รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ทีมกระจุ๊กกระจิ๊ก มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ทีมกินพอดี สุขีดุสิตา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต


 

Shares:
QR Code :
QR Code