‘รักเรา รักษ์เข่า ไม่เก่าเลย’ เพื่อผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม

ที่มา : เดลินิวส์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


'รักเรา รักษ์เข่า ไม่เก่าเลย' เพื่อผู้ป่วยโรคข้อเสื่อม thaihealth


รณรงค์ให้ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ใส่ใจดูแลสุขภาพของตัวเองด้วยการออกกำลังกาย เพื่อป้องกันการเกิดโรค "ข้อเข่าเสื่อม"


รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ป่วยที่ผ่าตัดเปลี่ยนข้อได้ใส่ใจการออกกำลังกาย รพ.ราชวิถี ร่วมกับ ชมรมวิ่งโรงพยาบาลราชวิถี และ สมาคมนิสิตเก่าแพทยศาสตร์ ม.รังสิต จัดกิจกรรมเดิน-วิ่ง เพื่อผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม "รักเรา รักษ์เข่า ไม่เก่าเลย" เมื่อเร็วๆ นี้  ที่นอร์ธปาร์ค วิภาวดี มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 2,000 คน ในจำนวนนี้มีผู้ที่เคยได้รับการเปลี่ยนข้อเข่ากว่า 200 คน โดยรายได้นำไปสมทบทุนกองทุนผ่าตัดเปลี่ยนข้อ มูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยต่อไป


นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวว่า โรงพยาบาลมีการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียมมาแล้วกว่า 30 ปี โดยเฉลี่ยปีละกว่า 300 ราย ถือเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศในการรักษาโดยการผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ใช้คอมพิวเตอร์นำวิถี ซึ่งมีความแม่นยำเที่ยงตรง นอกจากนี้เริ่มนำการผ่าตัดแบบแผลเล็กและฝื้นตัวเร็วจาก 10-14 วัน ลดลงเหลือ 3-4 วัน อีกทั้งยังมีการผ่าตัดรีวิชั่น แก้ไขข้อที่เคยผ่าแล้ว แต่เริ่มมีการหลวมใหม่ การแก้ไขนี้มีความยุ่งยากซับซ้อนกว่าการผ่าเปลี่ยนข้อเทียมครั้งแรก อย่างไรก็ตามในการผ่าตัดบางสิทธิไม่สามารถเบิกค่ารักษาได้ ทำให้เป็นภาระของผู้ป่วยต้องชำระค่าใช้จ่ายส่วนที่เกิน จึงได้จัดกิจกรรมขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในการรักษา


สาเหตุของการเกิดโรคข้อเข่าเสื่อม ผศ.นพ.พรภวิษญ์ ศรี ภิรมย์ นายแพทย์ชำนาญการ หัวหน้างานศัลยกรรมเปลี่ยนข้อ กลุ่มงาน ออร์โธปิดิกส์ รพ.ราชวิถี เผยว่า เกิดจากหลายปัจจัย ทั้งการเสื่อมตามวัย อุบัติเหตุ ติดเชื้อ โรคเกาต์ โรครูมาตอย และเกิดจากการทำงานออกแรงใช้เข่ามาก หรือมีการกระแทก หรืองอเข่าบ่อยๆ แต่ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 50 เกิดจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไป และมักพบมากในผู้หญิงประมาณ 2-3 เท่า เบื้องต้นมีอาการปวดบริเวณข้อเข่า ลุกขึ้นจากท่านั่งลำบาก ข้อขัดฝืด ตึง มีเสียงดังกรอบแกรบเวลาขยับเข่า งอเข่าได้น้อยลง เหยียดข้อเข่าได้ไม่สุด ระยะแรกการปวดเข่ามักสัมพันธ์กับการลงน้ำหนัก การเดิน การขยับ ยกเว้นข้อเข่าเสื่อมจากโรคข้ออักเสบอาจมีอาการปวด บวม ร้อน ตลอดเวลาที่มีการอักเสบ ผู้ที่เป็นข้อเข่าเสื่อมอย่างรุนแรงระยะท้าย ๆ อาการปวดเข่าอาจเกิดได้ตลอดเวลา หรือปวดตอนกลางคืนแม้ไม่ได้มีการใช้งาน


สำหรับการรักษามีหลายวิธี แต่ที่เห็นผลและได้รับความนิยมคือ การผ่าตัดเปลี่ยนข้อเข่าเทียม ซึ่งการผ่าตัดสามารถลดอาการปวดได้มาก และทำให้ผู้ป่วยกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ ซึ่งการดูแลตัวเองก่อนการผ่าตัดควรกินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำวันละ 6-8 แก้ว นอนพักผ่อนให้เพียงพอ งดยาที่มีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาแอสไพริน เพื่อป้องกันภาวะเลือดออกขณะผ่าตัดและหลังผ่าตัด สิ่งสำคัญคือดูแลตัวเองหลังผ่าตัด นอนพักรักษาที่โรงพยาบาล 3-5 วัน และพบแพทย์เพื่อดูอาการ


ส่วนการออกกำลังกายที่เหมาะสมควรเลี่ยงการออกกำลังกายที่มีแรงกระทำต่อข้อเข่ามากๆ เช่น วิ่งบนพื้นผิวขรุขระ หรือกระโดดเชือก ควรออกกำลังกายบริหารกล้ามเนื้อด้านหน้าต้นขาและรอบเข่า เช่น การเดินช้าๆ การใช้เครื่องปั่นจักรยาน ไม่แนะนำให้ปั่นจักรยานจริงๆ ซึ่งเสี่ยงกับการล้มและเกิดอุบัติเหตุได้ นอกจากนี้การออกกำลังกายในน้ำช่วยให้มีแรงในการขยับข้อเข่าและพยุงข้อเข่ามั่นคงขึ้น ทั้งนี้ผู้ป่วยควรมีความเข้าใจในตัวโรคเพื่อดูแลตัวเองได้ถูกต้อง และปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม

Shares:
QR Code :
QR Code