ระวัง 4 โรคอุบัติใหม่
พบติดคนประปราย
เมื่อวันที่ 9 มกราคม นพ.ภาสกร อัครเสวี ผู้อำนวยการสำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า ในปี 2554 สำนักระบาดเตรียมการเฝ้าระวังโรคอุบัติใหม่โรคอุบัติซ้ำที่พบในสัตว์และอาจติดต่อมาสู่คน เนื่องจากที่ผ่านมา พบการระบาดบ้างประปราย ซึ่งต้องเตรียมการรับมือประกอบด้วย 4 โรคสำคัญ ได้แก่ โรคไข้หวัดนก โรคลิชมาเนียซีส (leishmania) หรือ โรคจากเชื้อโปรโตซัว โรคไข้สมองอักเสบจากไวรัสนิปาห์ (nipah) และโรคบรูเซลโลซิส(brucellosis) หรือโรคแท้งติดต่อ
นพ.ภาสกร กล่าวว่า สำหรับสาเหตุที่ต้องพึงระวัง เช่น โรคไข้หวัดนก เนื่องจากเมื่อ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา พบการระบาดในคนที่ประเทศอียิปต์ และพบการระบาดในสัตว์ปีกที่ประเทศเกาหลีใต้ จึงยังไม่ควรไว้วางใจ อีกทั้งในปัจจุบันสัตว์ปีก โดยเฉพาะนกมีการอพยพข้ามประเทศและข้ามทวีป ซึ่งคนไทยยังเสี่ยงกับโรคนี้เช่นกัน ส่วนโรครองลงมาที่ต้องเฝ้าระวังไม่ต่างกันคือ โรคลิชมาเนียซีส โดยประเทศไทยพบการระบาดทุกปี ปีละประมาณ 2-3 ราย ล่าสุดพบในปี2552 พบระบาด 1 ราย ซึ่งมีที่มาจากประเทศในแถบแอฟริกา โดยปรากฏอยู่ในชนบท พาหะของโรคนี้คือ ตัวริ้นทอง มีลักษณะคล้ายยุง สำหรับพื้นที่ประเทศไทยนั้นจะพบได้ในบริเวณทางภาคใต้ ซึ่งหากร่างกายมีแผลด้วยและถูกตัวริ้นทองกัดก็จะก่อให้เกิดโรคนี้ได้
“สำหรับลักษณะของโรคนั้น มีหลักๆ 2 ประเภทคือ แบบเฉียบพลัน ผิวหนังตรงบริเวณถูกริ้นทองกัดจะเกิดเป็นตุ่มแดงแล้วค่อยๆ ใหญ่ขึ้น ต่อมาแตกเป็นแผล ไม่เจ็บ อาจมีอาการคันบ้างเล็กน้อย ขอบแผลนูนขึ้น น้ำเลือดหรือน้ำเหลืองแห้งกรังติดบนแผล ส่วนแบบเรื้อรังจะมีอาการรุนแรงโดยจะขึ้นเป็นผื่นหนาสีแดงอยู่นานเป็นปีอาจดีขึ้นและเป็นใหม่อยู่เรื่อยๆ โดยผู้ป่วยที่พบในประเทศไทยนั้นจัดเป็นประเภทแรกและรักษาตัวจนหายขาดได้แล้ว แต่ สธ.ก็ยังไม่วางใจ เพราะปัจจุบันมีแรงงานไทยเดินทางไปแอฟริกาบ่อย อาจจะมีการนำโรคนี้หรือโรคอื่นเข้ามาในประเทศได้ จึงต้องดำเนินการค้นหาผู้ป่วยซึ่งเป็นกลุ่มที่เดินทางกลับจากพื้นที่ประเทศข้างต้นให้พบอย่างรวดเร็ว รวมทั้งเฝ้าติดตามสถานการณ์ของพาหะนำโรคด้วย แม้ว่าตัวริ้นทองยังพบไม่มากนักในบ้านเรา” นพ.ภาสกรกล่าว
ส่วนโรคไข้สมองอักเสบจากไวรัสนิปาห์นั้น นพ.ภาสกร กล่าวว่า ปัจจุบันพบว่าไวรัสชนิดนี้อาศัยอยู่ในตัวค้างคาว และค้างคาวจะมีการกัดกินเลือดในสัตว์เลี้ยง เช่น สุกร จากนั้นเชื้อจะแพร่สู่สุกรและหากคนกินเนื้อสุกรที่ปรุงไม่สุก หรือกึ่งสุกกึ่งดิบก็เสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้เช่นกัน แม้ว่ายังไม่พบผู้ป่วยในไทยก็ตาม แต่แหล่งกำเนิดโรคอยู่ใกล้ประเทศไทย ดังนั้น ต้องเตรียมรับมือให้ดี ส่วนโรคบรูเซลโลซิส ปัจจุบันค้นพบว่าเกิดในสัตว์จำพวกแกะ-แพะในพื้นที่ จ.กาญจนบุรี และขณะนี้ไทยกำลังสนับสนุนให้มีการเลี้ยงสัตว์ทั้งสองชนิด ดังนั้น จึงเสี่ยงต่อการเกิดโรคชนิดนี้ได้ ที่ต้องเฝ้าระวังเพราะสามารถติดต่อมาสู่คนได้ แต่ไม่สามารถแพร่ไปสู่คนด้วยกันได้ซึ่งการแพร่กระจายของโรคสามารถเกิดขึ้นเมื่อมีการสัมผัส เช่น รก ลูกอ่อนที่แท้งปัสสาวะ ปุ๋ย หรือซากสัตว์ ฯลฯ สธ.จึงจะประสานความร่วมมือกับปศุสัตว์ทั่วประเทศเพื่อเฝ้าระวังโรคนี้
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน
update : 10-01-54
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร