ระวัง! น้ำตาลในเลือดสูง เสี่ยงเบาหวาน
ระวัง! น้ำตาลในเลือดสูง เสี่ยงเบาหวาน
ปัสสาวะมาก หิวน้ำบ่อย น้ำหนักลง อ่อนเพลีย ส่อเค้าเป็นเบาหวาน
เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่ง เกิดขึ้น ณ ระดับน้ำตาลในกระแสเลือดสูงเกินกว่าในคนปกติ คนปกติน้ำตาลในเลือดจะถูกควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์ปกติตลอดเวลา ตัวการสำคัญคือ ฮอร์โมนอินสุลิน มีหน้าที่นำพาน้ำตาลในกระแสเลือด ให้สามารถผ่านเข้าสู่เซลล์ของร่างกายไปเผาผลาญให้เกิดพลังงานและเก็บสะสมไว้ใช้งานต่อไป
คนที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากความผิดปกติของต่อมไร้ท่อที่ตับอ่อน ซึ่งทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนอินสุลินทำหน้าที่ไม่ดี หรือเพราะมีจำนวนอินสุลินน้อย จึงเป็นเหตุให้น้ำตาลเหลืออยู่ในกระแสเลือดมาก น้ำตาลเหล่านี้จะถูกขับถ่ายออกมาในปัสสาวะ ทำให้ตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะหรือปัสสาวะมีรสหวาน เราจึงเรียกโรคนี้ว่าเบาหวาน
น้ำตาลในเลือดสูงนานๆ จะเกิดอะไรขึ้น
ระยะแรกจะมีอาการปัสสาวะมากและบ่อย หิวน้ำบ่อย น้ำหนักลดลง อ่อนเพลีย ถ้าเป็นมากขึ้นจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หายใจหอบ ซึมลง หมดสติ และตายได้ถ้าไม่รักษา อาการอื่นๆ ที่เป็นสาเหตุให้มาพบแพทย์ ได้แก่ คันตามตัว คันช่องคลอด เป็นฝีง่ายแต่หายยาก ติดเชื้อง่าย ถ้าตั้งครรภ์จะทำให้เกิดการแท้ง หรือทารกตายในครรภ์ ส่วนผลระยะยาว คือเบาหวานขึ้นตาทำให้ตาบอด ความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดหัวใจหรือโรคของหลอดเลือดสมอง เช่น ขาดเลือดไปเลี้ยงสมอง หรือเส้นเลือดแตกหรืออุดตัน จนเป็นอัมพาตหรือตาย หากหลอดเลือดไปเลี้ยงไตไม่ดีจะทำให้เป็นโรคไตวาย
ระดับน้ำตาลในเลือดเท่าใดจึงจะปกติ
คนปกติจะมีระดับน้ำตาลในกระแสเลือดก่อนอาหารไม่เกิน 120 มก.% และระดับน้ำตาลในกระแสเลือดหลังอาหาร 1-2 ชั่วโมงไม่เกิน 160 มก.%
เบาหวานเป็นโรคเรื้อรังต้องการดูแลอย่างต่อเนื่อง โรคนี้จึงเป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่ถ้ารักษาอย่างถูกต้องจะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อน ผู้ป่วยสามารถอยู่ได้อย่างเป็นสุขและมีชีวิตยืนยาวได้เหมือนคนปกติ โดยผู้ป่วยจึงต้องรู้จักควบคุมและดูแลตนเองอย่างเหมาะสม เพื่อให้ระดับน้ำตาลในเลือดอยู่ในภาวะสมดุล
เป็นเบาหวานจะต้องดูแลตนเองอย่างไร
เบาหวานเป็นโรคที่ต้องอาศัยการรักษา 2 ทางด้วยกัน คือการรักษาทางการแพทย์ และการปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเอง
1 การรักษาทางการแพทย์ เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอาศัยการติดตามประเมินสภาวะไต เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากความไม่สมดุลของน้ำตาลในกระแสเลือด ทั้งนี้คำนึงถึงโภชน-บำบัด และการออกกำลังกายของผู้ป่วยเป็นหลักสำคัญ
2 การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยเอง มีความสำคัญเท่ากันจัดได้ว่าเป็นแพทย์ของตนเอง นั่นคือผู้ป่วยต้องเข้าใจในเรื่องโรค วิธีการรักษา และการดำรงชีวิตให้สอดคล้องกับแผนการรักษา และสภาวะโรคเพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป สิ่งที่ผู้ป่วยต้องรักษาตนเองดังนี้
หลักในการปฏิบัติได้แก่
การควบคุมอาหาร ยึดหลักที่ว่าคุณค่าอาหารต้องครบถ้วน (5 หมู่) เพียงแต่จำกัดปริมาณพลังงาน (แคลอรี) ตามน้ำหนักตัว มีข้อปฏิบัติที่ต้องเรียนรู้ดังนี้
อาหารที่ควรงดและหยุดรับประทาน คือ อาหารหวานทุกชนิด น้ำอัดลม น้ำผึ้ง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ผลไม้แช่อิ่ม แยมต่างๆ และผลไม้ที่มีรสหวานจัด
อาหารที่ควรหลีกเลี่ยง ได้แก่ อาหารที่จะเพิ่มไขมันในหลอดเลือด และอาหารที่ทำให้อ้วน ได้แก่ ไขมันจากสัตว์ เครื่องในสัตว์ หนังสัตว์ น้ำต้มกระดูกสัตว์ ตลอดจนนม เนย ครีม มะพร้าว ไข่แดง
อาหารที่ควรรับประทานให้น้อยลง ได้แก่ อาหารกลุ่มแป้ง เช่น ก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ขนมปัง ขนมจีน เผือก มัน
อาหารที่รับประทานได้แต่ต้องจำกัดจำนวน ได้แก่ ข้าว โดยเฉพาะข้าวกล้อง ข้าวโอ๊ต ซึ่งรับประทานได้ตามปกติแต่พอสมควร และผลไม้บางชนิดที่มีรสหวานอ่อนๆ เช่น ส้ม ฝรั่ง กล้วยน้ำว้า พุทรา มะม่วงดิบ มะละกอ
อาหารที่รับประทานได้มากพอควร ได้แก่ เนื้อสัตว์ปราศจากไขมันและหนัง ปลาควรเป็นปลาทะเล ไข่ ควรรับประทานสัปดาห์ละ 3-4 ฟอง ส่วนผู้มีไขมันในเลือดสูง ควรรับประทานไข่ไม่เกินสัปดาห์ละ 2 ฟอง หรือรับประทานแต่ไข่ขาว น้ำนมควรเป็นนมสดไม่ปรุงแต่งรสและเป็นชนิดจืดขาดมันเนย เนย
อาหารที่รับประทานได้ไม่จำกัด ได้แก่ อาหารจำพวกผักต่างๆ (ควรทำให้สุกโดยการนึ่ง ย่าง ต้ม ผัดก่อนบริโภค)
การออกกำลังกายเป็นการเพิ่มความไวของอินสุลินที่มีต่อเนื้อเยื่อ ทำให้ร่างกายใช้น้ำตาลได้มากขึ้น ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงได้ ซึ่งต้องได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือพยาบาลผู้เชี่ยวชาญว่า การออกกำลังกายที่เหมาะสมควรปฏิบัติอย่างไร
ที่มา : โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
update 12-05-51