ระดมความคิดเห็น กองทุนพัฒนาสื่อฯ สานฝันอนาคตเยาวชน
เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงแรมภูเก็ตเมอร์ลิน อ.เมือง จ.ภูเก็ต นายนภดล จันระวัง คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต เป็นประธานเปิดการประชุมเพื่อระดมความคิดเห็น ร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ : จะสานฝันอนาคตเด็กและเยาวชนอย่างไร ซึ่งทางสาขาวิชานิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ร่วมกับแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) และมูลนิธิการพัฒนาเด็ก (มพด.) โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดขึ้น
โอกาสเดียวกันนี้ยังได้มีการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ : จะสานฝันอนาคตเด็กและเยาวชนอย่างไร โดยมีวิทยากรประกอบด้วยนายเชษฐา มั่นคง ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก นายอำพร วาภาพ ผู้ประสานงานสื่อเพื่อเด็กอีสาน และนายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา จากศูนย์พิทักษ์สิทธิผู้บริโภค เพื่อสื่อสารสร้างการรับรู้ความเข้าใจ ตระหนักถึงความสำคัญของกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แก่สาธารณะ เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่อร่างพระราชบัญญัติกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ และเพื่อแสวงหาแนวทางและกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนต่อการผลักดันพระราชบัญญัติกองทุนฯ
นางสาวอุษณีย์ ศิริสุนทรไพบูลย์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและงานวิจัย คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต กล่าวว่า ปัจจุบันสื่อต่างๆ มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนมากขึ้น แต่มีสื่อที่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชนในสัดส่วนที่น้อยมาก ซึ่งมีสาเหตุมาจากข้อจำกัดหลายประการ เช่น นโยบายที่มุ่งผลิตสื่อเพื่อเป้าหมายทางการตลาด เงินทุนเพราะสื่อสร้างสรรค์ที่มีคุณภาพต้องใช้ทุนในการผลิตสูง คุณภาพของสื่อเพราะผู้ผลิตสื่อที่มีคุณภาพและมีความรู้ความเข้าใจในการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนมีจำนวนน้อยจึงจำเป็นที่จะต้องมีแหล่งเงินทุนเพื่อใช้ในการส่งเสริมการผลิตและการพัฒนาสื่อที่มีคุณภาพและส่งเสริมการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชน ตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางสังคม ความเสมอภาค และการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกระดับ
ที่ผ่านมาภาคส่วนที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเครือข่ายภาคสังคมได้ขับเคลื่อนให้มีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ขึ้น โดยมีการวิจัยและจัดเวทีระดมความคิดเห็นจากภาคส่วนต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม ได้ผลักดันร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเมื่อ 23 มีนาคม 2553 โดยผ่านขั้นตอนการพิจารณาของกฤษฎีกาแล้ว แต่เนื่องจากมีการยุบสภาฯ ทำให้ยังไม่มีการนำเข้าสู่ขั้นตอนของสภาฯ
“อย่างไรก็ตามร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ถูกวิพากษ์วิจารณ์จากภาคสังคมในหลักการและแนวคิดโครงสร้าง ที่อาจจะยังไม่ตอบสนองต่อการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ที่มาจากการมีส่วนร่วมของประชาชน ดังนั้นเพื่อร่วมขับเคลื่อนให้สาธารณชนมีส่วนร่วมในการเสนอแนะต่อหลักการและสาระของร่างพ.ร.บ.กอง ทุนฯ และมีส่วนร่วมในการกระบวนการผลักดันกฎหมาย อันเป็นประโยชน์ต่อเด็ก-เยาวชน และสังคมอย่างแท้จริง รวมถึงรับรู้เข้าใจตระหนักถึงความสำคัญของกองทุนฯ ว่าเป็นเรื่องใกล้ตัวของทุกคน จึงได้มีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวขึ้น เพื่อให้กองทุน ดังกล่าวเป็นกองทุนเพื่อพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ของประชาชนโดยแท้จริง” นางสาวอุษณีย์กล่าว
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ