รวมพลังพลเมืองเยาวชนสงขลา
ในยุคสังคมก้มหน้า ปฏิสัมพันธ์ของผู้คนถูกลดทอนด้วยเทคโนโลยี เมื่อบริบททางสังคมแปรเปลี่ยน เรื่องของ "จิตสำนึก"และ"หน้าที่พลเมือง" ดูจะเป็นสิ่งที่ไกลห่างจากคนรุ่นใหม่ แต่คงไม่ใช่เยาวชนแห่งเมืองสองทะเลซึ่งในวันนี้พวกเขาได้ผนึกกำลังแสดงพลังสำนึกพลเมือง (Active Citizen) โชว์ศักยภาพให้ผู้ใหญ่ได้เห็น และกลายมาเป็นโมเดล The Young Citizen ที่น่าจับตาที่สุดในขณะนี้
เมื่อเร็วๆนี้ มูลนิธิสยามกัมมาจล จับมือกับ สงขลาฟอรั่ม จัดกิจกรรม "เทศกาลการเรียนรู้ สงขลาส่องแสง ครั้งที่ 2"ภายใต้ "โครงการพลังเยาวชนพลเมืองสงขลาปีที่ 2" โชว์ 24 โครงการเด่น ซึ่งกลั่นจากสำนึก พลเมืองเยาวชน โดยได้รับเกียรติจาก นพ.ชูชัย ศุภวงศ์ กรรมการมูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นประธานในพิธีร่วมด้วยสมศักดิ์ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล พรรณิภา โสตถิพันธุ์ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่มณชุมชนคลองแดน อ.ระโนด จ.สงขลา
จุดเด่นของ "โครงการพลังเยาวชนพลเมืองสงขลา" อยู่ที่การมุ่งเน้นการเสริมสร้างศักยภาพด้านทักษะชีวิตและจิตสำนึกความเป็นพลเมืองให้แก่เด็กและเยาวชนอายุ14-24 ปี ทั้งในระบบและนอกระบบโรงเรียน รวมทั้งเยาวชนในชุมชนที่รวมตัวกันทำงานเพื่อสังคม โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรงที่สอดคล้องกับสถานการณ์ทั้งระดับชุมชน ระดับท้องถิ่น และระดับประเทศ เพื่อเสริมสร้างความเป็น "พลเมืองเยาวชน (The Young Citizen)" ตามแผนการดำเนินงานต่อเนื่อง 3 ปี (2555-2558)
ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร ผู้จัดการมูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวว่า เด็กในยุคนี้ขาดประสบการณ์ชีวิต ขาดทักษะในการสัมพันธ์กับคน เมื่อทบทวนดูแล้วจะพบว่าสิ่งที่เด็กขาดคือโอกาสสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนรอบด้าน ดังนั้นถ้าอยากเห็นเด็กในทิศทางActive Citizen ผู้ใหญ่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดเปลี่ยนทัศนคติ เปลี่ยนวิธีทำงานกับเด็กโดยให้โอกาสเยาวชนทำงาน จากแนวคิดดังกล่าวจึงมองหาโจทย์ชุมชนให้เด็กได้ศึกษาและมีโอกาสได้คุยกับคุณพรรณิภาจึงได้วางโครงการร่วมกัน โดยมีจุดประสงค์อยากเห็นเด็กที่ร่วมโครงการเกิดความคิดที่จะร่วมแบ่งปันศักยภาพกับสังคม ไม่ดูดายปัญหาสังคม
ปิยาภรณ์กล่าวอีกว่า หัวใจของโครงการนี้คือเปิดโอกาสให้เด็กได้ศึกษาปัญหาชุมชนและเปิดโอกาสให้เด็กแสดงศักยภาพและด้วยเด็กแต่ละคนมีศักยภาพที่แตกต่างกัน เมื่อมารวมตัวกันจะได้การทำงานที่เป็นทีมเวิร์ก สิ่งที่ได้คือเมื่อเด็กลงไปศึกษาโจทย์ชุมชนและเห็นศักยภาพของตัวเองในการเข้าไปร่วมแก้ปัญหาชุมชน สำนึกพลเมืองก็จะค่อยๆเกิดขึ้นในใจเด็ก เมื่อเจอโจทย์ต่อไปที่หนักขึ้น เด็กจะมีความมุ่งมั่นและไม่ท้อ
"งานของสงขลาฟอรั่มคือการเข้ามาช่วยทำให้ผู้ใหญ่ประสานความร่วมมือทำงานร่วมกัน โดยมีเด็กเป็นสื่อกลาง ดังนั้นเรื่องของเด็กจึงผูกพลังผู้ใหญ่ในการแก้ปัญหาชุมชนด้วย สำหรับมูลนิธิสยามกัมมาจล ได้ให้การสนับสนุนในเรื่องของ Know How ขณะที่สงขลาฟอรั่มเน้นในเรื่อง Coaching เราเข้าไปเติมเต็มเรื่องการวิเคราะห์โจทย์ชุมชน อีกส่วนคือให้การสนับสนุนงบประมาณ และสนับสนุนแนวทางในการสร้างการเรียนรู้กับสังคม ซึ่งจากความสำเร็จตลอด 2 ปีที่ผ่านมา สสส.ได้จับมือกับมูลนิธิสยามกัมมาจล ขยายแนวคิดนี้ไปอีก3 จังหวัด คือ น่าน ศรีสะเกษ และสมุทรสงคราม ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้วโดยนำแบบอย่างจากสงขลาฟอรั่มไปปรับกับงานวิจัยของแต่ละท้องถิ่น ถือเป็นการทำงานข้ามหน่วยงานที่ประสานความร่วมมืออย่างลงตัว" ปิยาภรณ์กล่าวทิ้งท้าย
ด้าน พรรณิภา โสตถิพันธุ์ ผู้อำนวยการสงขลาฟอรั่ม กล่าวว่า "โครงการพลังเยาวชนพลเมืองสงขลา" ได้เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2555 เป็นโครงการต่อเนื่องจากการดำเนินงานด้านเยาวชนของ "สงขลาฟอรั่ม"มาตั้งแต่ปี 2538 เพื่อเสริมสร้างทักษะชีวิตและสร้างจิตสำนึกพลเมือง Active Citizen ให้แก่เยาวชนในพื้นที่จังหวัดสงขลา โดยผ่านกระบวนการ Coaching ตั้งแต่เริ่มต้นเสนอโครงการไปจนถึงพัฒนาเป็นโครงการที่สมบูรณ์ ซึ่งจากกระบวนการดังกล่าวพบว่า เป็นการทำงานที่คุ้มค่ากับการลงทุนเพื่อสังคม โดยในปีที่สามจะได้สร้างคุณภาพในการทำงานในทุกระดับให้เข้มแข็งและชัดเจนมากขึ้นเพื่อขยายผลเป็นหลักสูตรในการพัฒนาเยาวชนสู่ความเป็นพลเมืองต่อไป
หนึ่งในแลนด์มาร์กของเมืองสงขลาที่ทุกคนนึกถึงคือภาพของ "นางเงือก" บริเวณหาดสมิหลา มนต์เสน่ห์แห่งทะเลสงขลาที่เชื้อเชิญให้นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศแวะเวียนมา ทว่าภัยเงียบที่คืบคลาน มากับเสียงคลื่นและสายลมก็คือผลกระทบทางระบบนิเวศที่มาจากการอนุรักษ์ชายหาดในบริเวณใกล้เคียง ด้วยเหตุนี้ กลุ่ม Beach for Life โรงเรียนมหาวชิราวุธ จ.สงขลาจึงได้ริเริ่ม "โครงการพลังเยาวชนจัดการชุมชนเรียนรู้ หาดสมิหลา" ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา โดยสานต่อการเรียนรู้เรื่องระบบนิเวศและปัญหาการพังทลายของหาดสมิหลาตั้งแต่ปี 2555 ด้วยการศึกษาข้อมูลจากงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการพังทลายของหาดทราย พร้อมลงพื้นที่สำรวจบริเวณหาดชลาทัศน์และหาดเก้าเส้งเพื่อศึกษาสภาพปัญหาการพังทลายของหาดสมิหลาอย่างใกล้ชิด รวมระยะทาง 7.8 กิโลเมตร ก่อนนำเสนอสู่สาธารณชนผ่านสื่อและนิทรรศการ
ที่น่าสนใจจากกระบวนการพูดคุยอย่างมีส่วนร่วมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ได้นำไปสู่การรวมตัวเป็นเครือข่ายพลเมืองเยาวชน 9 สถาบันและประมวลความคิดเห็นทั้งหมดผลักดันเป็น"ธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน" แล้วประกาศใช้ในระหว่างการจัดงาน แลเลแลหาด ครั้งที่ 4 พร้อมเซ็นสัญญาตกลงความร่วมมือในการดำเนินงานอนุรักษ์หาดสมิหลาร่วมกับเทศบาลนครสงขลา ร่วมรณรงค์คัดค้านการใช้โครงสร้างแข็งที่ทำลายระบบนิเวศหาดทราย
น้ำนิ่ง – อภิศักดิ์ ทัศนี แกนนำรุ่น 1 บอกว่า คนส่วนใหญ่จะมองข้ามเวลาหาดทรายหาย มองแต่ปัญหาถนนโดนกัดเซาะต้นสนล้ม ซึ่งจริงๆการที่หาดหายเท่ากับเราเสียแผ่นดิน แต่ไม่มีใครตื่นเต้นเดือดร้อนอะไร ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าคิด ทั้งนี้ตลอดสองปีที่ผ่านมาเป็นมิติที่ดีและส่งสัญญาณที่ชัดเจนว่า อนาคตอันใกล้นี้เราคงจะได้มีหาดกลับมาเหมือนเดิมถ้าทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานประชาชน เข้าใจในสิ่งที่เรากำลังสื่อสารอย่างที่บอกเราไม่ได้ปฏิเสธโครงสร้างทุกโครงสร้าง เรายังยินดีให้บางโครงสร้างยังอยู่สิ่งที่หวังคือไม่น่าจะเกิน 10 ปี พื้นที่ชายหาดทั้งหมดคงกลับมาเป็นเหมือนเดิม ถ้าทุกภาคส่วนยังคงทำงานอย่างแข็งขัน และในปีหน้า โจทย์ของพวกเราคือการกำหนดยุทธศาสตร์ร่วมกับชุมชนที่อยู่ริมหาดเกี่ยวกับแผนการรับมือธรรมชาติ โดยให้ชุมชนลงมาศึกษาเองและเยาวชนเป็นตัวประสาน
ขณะที่ สมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา กล่าวว่า เยาวชนเป็นทรัพยากรที่สำคัญ ต้องช่วยกันผลักดันให้ทุกคนได้สนใจในเรื่องของคลื่นกัดเซาะชายหาดต้องชื่นชมน้องๆ กลุ่ม Beach for Life ที่สร้างปรากฏการณ์ สร้างองค์ความรู้นี้ สร้างความเข้าใจให้กับชุมชนและชาวสงขลา ถือเป็นพลังมวลชนอีกภาคหนึ่งที่มาปลุกให้คนในท้องถิ่นได้หันกลับมาให้ความสนใจในเรื่องทรัพยากรทางธรรมชาติและดีใจที่มี "ธรรมนูญเยาวชนอนุรักษ์หาดสมิหลาอย่างยั่งยืน" เพื่ออนุรักษ์และรักษาชายหาดสงขลาแห่งนี้ให้ยั่งยืนต่อไป
ส่วนหนึ่งของ "พลังพลเมืองเยาวชนสงขลา" ที่วันนี้ไม่เพียงแต่ส่องแสง "สำนึกพลเมือง" สู่สาธารณชนได้ประจักษ์เท่านั้น หากแต่ยังเป็นต้นแบบของ "พลเมืองเยาวชน" ที่เข้มแข็งซึ่งเปี่ยมไปด้วยศรัทธาและความมุ่งมั่น ในการอนุรักษ์และพัฒนาถิ่นฐานบ้านเกิดด้วยสำนึก "พลเมืองที่รับผิดชอบ" ต่อสังคม
"ถ้าอยากเห็นเด็กในทิศทาง Active Citizen ผู้ใหญ่ต้องเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนทัศนคติเปลี่ยนวิธีทำงานกับเด็ก"24 โครงการ : ผลงาน
'พลังพลเมืองเยาวชนสงขลา ปีที่ 2'
1. โครงการพลังเยาวชนจัดการชุมชนเรียนู้ หาดสมิหลาLife รร.มหาวชิราวุธ จ.สงขลา
2.โครงการ Smily by CD โดย กลุ่ม CD Share มรภ.สงขลา
3. โครงการสร้างคลอง สร้าง*น โดย กลุ่มเยาวชนรักษ์หนองบัว4. โครงการ "สานสายใยเพื่อนช่วยเพื่อน" โดย กลุ่มพลังคนหัวรั้นเพื่อสังคม
5. โครงการ Hero Herb โดย กลุ่ม CD Dr.Kampong
6. โครงการ "ครู Delivery" โดย กลุ่มเยาวชนสังคมศึกษาพัฒนาเยาวชนคณะศึกษาศาสตร์ ม.ทักษิณ
7. โครงการ 3 อ. เอาอ้วนออก โดย กลุ่มเยาวชน Slim Bear Island รร.ส่งเสริมศาสนาวิทยามูลนิธิ
8. โครงการ รักษ์น้ำ ลดไฟ ใส่ใจหอพัก โดยกลุ่มเยาวชน Miss Cleaning รร.ส่งเสริมศาสนาวิทยามูลนิธิ
9. โครงการภาพเล่าเรื่องเมืองสงขลา ปี 2 โดย กลุ่มชมรมต้นคิด รร.มหาวชิราวุธ จ.สงขลา
10.โครงการคืนลำคลองสำโรงสู่ชุมชน โดย กลุ่ม Environmental คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา
11. โครงการ "เรียนรู้หลักศาสนาเพื่อการจัดการตนเอง" โดย กลุ่ม Sullaminulum
12. โครงการศูนย์สามวัย โดย กลุ่ม Volunteers
13. โครงการรู้รักถิ่นเกิดเปิดประวัติศาสตร์ดอนขี้เหล็ก โดย กลุ่มเยาวชน DKL ไชโย14. โครงการ "สวยใส สไตล์มุสลีมะฮ์" โดย กลุ่ม Muslimah Online
15. โครงการ MasokGembiraSampah โดย กลุ่ม บ.ศ.นักอนุรักษ์เพื่อโลกสวย16. โครงการปลูกต้นน้ำคืนชีวิต โดย กลุ่ม CD Power มรภ.สงขลา
17. โครงการเด็กดีเพื่อชุมชน โดย กลุ่มเยาวชน พลังปลิง รร.เทพา
18. โครงการสื่อเล็กๆ ของเด็กสงขลา โดย กลุ่มเด็กดื้อรื้อฝัน รร.เทศบาล 5
19. โครงการห้องน้ำในฝัน โดย กลุ่มเยาวชน เด็กรุ่นใหม่หัวใจเกินร้อย รร.พะตงประธานคีรีวัฒน์
20. โครงการ "ห้องเรียนประวัติศาสตร์ชุมชนบ้านบ่อทรัพย์" โดย กลุ่มเยาวชนจิตใสอาสา
21. โครงการกองทุนขยะสร้างอนาคต โดย กลุ่มหิ่งห้อยน้อย
22. โครงการโตไปไม่ว่างงาน โดย กลุ่มเด็กไทยใจกตัญญู
23. โครงการหมอน้อย กลุ่มรักษ์สุขภาพ โดย กลุ่มหิ่งห้อยน้อย
24. โครงการกองทุนขยะพัฒนาบ้านเกิด โดย กลุ่ม RN' Mix รร.ระโนด
ที่มา: หนังสือพิมพ์สยามรัฐ
ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต