รร.บางมูลนาก ‘กินดีเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี’
ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า
ภาพประกอบจากเว็บไซต์ สื่อสาธารณะเพื่อพัฒนาสังคมชาวเหนือ
กระแสตื่นตัวด้านสุขภาพ ทำให้คนไทยส่วนหนึ่งหันมาใส่ใจเรื่องอาหาร การกินกันมากขึ้น ทั้งด้านคุณภาพและคุณค่าของสารอาหาร หากคนจำนวนไม่น้อยยังคงมองข้ามความสำคัญของเรื่องดังกล่าว อาศัยสะดวก และอร่อยเป็นหลัก ซึ่งผลลัพธ์อาจยังไม่เห็นในทันทีทันใด แต่ในระยะยาว ย่อมมีผลเสียตามมาอย่างแน่นอน โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่กำลังอยู่ในวัยเจริญเติบโต
กนกวรรณ แซวหยวก นักเรียนโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคม อ.บางมูลนาก จ.พิจิตร ผู้รับผิดชอบ โครงการกินดีเพื่อสุขภาพที่ดีซึ่งเป็น 1 ในชุดโครงการพลังเด็กและเยาวชนสร้างสุขภาวะชุมชน เปลี่ยนโลก ด้วยมือเรา ที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุน การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เล่าว่า ข้อมูลจากการสำรวจนักเรียน ชั้น ม.2 ที่เป็นสมาชิกผู้บำเพ็ญประโยชน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ จำนวน 65 คน พบว่ามีการบริโภคอาหารไม่หลากหลาย รับประทานตามใจอยาก โดยไม่คำนึงถึงประโยชน์และโทษที่จะได้รับต่อ ร่างกาย ส่วนใหญ่รับประทานมื้อเย็นหนักกว่ามื้ออื่นๆ และหลายคนไม่ได้ ล้างมือด้วยสบู่ก่อนรับประทานอาหาร
เธอจึงได้ร่วมกับเพื่อนๆ แกนนำ 5 คน ทำโครงการกินดี เพื่อสุขภาพที่ดี เพื่อให้ทุกคนรู้จักเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อตนเอง โดยให้เขียนเส้นทางอาหารที่รับประทาน ให้รู้ว่านำมาจากแหล่งไหน ปลอดภัยจากสารเคมีหรือไม่ ต่อไปจะได้เลือกแหล่งอาหารที่ถูกสุขลักษณะและปลอดภัยได้ พร้อมกันนั้นก็ให้บันทึกพฤติกรรมการรับประทานอาหารทุกมื้อ ส่งเสริมให้ปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานด้วยตนเองทั้งภายในโรงเรียนและในบ้าน
"เรามีการทดลองแยกสารปนเปื้อนในผักกาดดอง ซึ่งพบ แมงกานีส สารกันเชื้อรา ที่ทำให้เซลล์สมองตาย เยื่อบุกระเพาะอาหารเป็นแผล หากมีอาการแพ้มากก็อาจเวียนศีรษะ อาเจียน มีผื่นขึ้นได้ จึงนำข้อมูลมาเผยแพร่ให้เพื่อนๆ ได้ทราบ และระมัดระวังในการบริโภคยิ่งขึ้น" น้องกนกวรรณ บอก
นอกจากนี้ ยังได้ให้ความรู้เรื่องโทษภัยของน้ำตาลที่เกินความต้องการของร่างกาย จากการดื่มน้ำอัดลม ชาเย็น เครื่องดื่มต่างๆ รวมถึง ขนมกรุบกรอบ ทำให้เสี่ยงต่อโรคหลายชนิด เช่น เบาหวาน ฟันผุ โรคอ้วน โรคกระเพาะอาหาร ซ้ำยังเป็นค่าใช้จ่ายที่สิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ
กนกวรรณและเพื่อนๆ ที่เป็นแกนนำ ได้ชวนเพื่อนคนอื่นๆ ปลูกผักสวนครัวเอง และช่วยกันเพาะเห็ด ทำให้หลายคนหันมารับประทานผักที่ปลูก ทั้งที่อาจไม่ชอบ และไม่เคยรับประทานผักบางชนิด มาก่อน ที่สำคัญคือทุกกลางวันวันพุธ จะมีการห่อข้าวที่ปรุงเองจากที่บ้านมารับประทานร่วมกันที่โรงเรียน จึงได้พูดคุยกัน และเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงในการรู้จักเลือกรับประทานอาหารที่ดี มีประโยชน์มากขึ้น
"ผู้ปกครองบางคนแวะซื้อหมูปิ้ง ข้าวเหนียว หรืออาหารถุงที่ขายตามท้องตลาดมาให้ลูกๆ ตอนหลังหนูเห็นคนอื่นๆ ทำอาหารเองจากวัตถุดิบที่ดีมีประโยชน์ และปลอดภัยจากสารเคมี ก็เริ่มตระหนัก และกระตุ้นให้แม่ลองทำบ้าง จนกลายเป็นเมนูอาหารปลอดภัยที่หลากหลาย" น้องกนกวรรณ อธิบาย
ผลจากการประเมินของโครงการที่กนกวรรณและเพื่อนๆ ร่วมกันทำ พบว่า นักเรียนได้รับประโยชน์จากโครงการมาก เกินเป้าหมาย ที่วางไว้ คือร้อยละ 70 สามารถปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเอง แยกแยะอาหารที่มีประโยชน์และโทษได้ รวมทั้งเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารหมักดอง นอกจากนี้ยังรับประทานผักมากขึ้น หลีกเลี่ยงการรับประทานบะหมี่ กึ่งสำเร็จรูป ลดปริมาณการดื่มน้ำอัดลม บางคนเคยดื่มทุกวัน ก็เหลือ สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ลดปริมาณการรับประทานขนมกรุบกรอบ ขนมซอง และรับประทานผลไม้ทุกสัปดาห์ ดังนั้นในภาคเรียนต่อไป จะมีการขยายผลจาก 65 คน ไปสู่นักเรียนชั้น ม.2 ทั้งหมดในโรงเรียน เพื่อให้เพื่อนๆ รู้จักเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ จะได้เกิดพัฒนาการทั้งด้านร่างกาย และสมองต่อไป
ด้าน วลัยพรรณ กมเลศรังสรรค์ อาจารย์ที่ปรึกษา ย้ำว่า โครงการกินดีเพื่อสุขภาพที่ดี ไม่เพียงแค่ทำให้เด็กรู้จักเลือกรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์เท่านั้น แต่มีผลต่อการเรียนรู้ของสมอง และการเจริญเติบโตในระยะยาวด้วย ที่สำคัญคือทำให้นักเรียนได้ซึมซับหลัก ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงโดยไม่รู้ตัว มีความพอประมาณ ไม่มากเกินไป หรือน้อยเกินไปในเรื่องการรับประทานอาหาร มีเหตุผลในการเลือก รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และมีภูมิคุ้มกัน หลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารที่ทำลายสุขภาพ
ขณะเดียวกันขั้นตอนในการดำเนินกิจกรรมตามโครงการ ยังสร้าง ความรู้ ควบคู่ไปกับคุณธรรม ทุกคนต้องให้ข้อมูลอย่างซื่อสัตย์ต่อตนเอง และเพื่อน มีความสุจริต มีความเพียร ดูแลรับผิดชอบแปลงผักและ โรงเพาะเห็ด ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต และการทำงาน เรียนรู้ การเป็นผู้นำ กล้าแสดงออก พูดคุยมีสาระมากขึ้น
"สิ่งที่สังเกตเห็นได้อีกประการหนึ่ง คือเด็กเกิดจิตอาสา เมื่อคลุกคลีกันมากขึ้น เด็กเกิดความไว้วางใจครู และอยากเข้าหา จากที่เคยรีบปลีกตัวออกห่างเมื่อหมดชั่วโมงเรียน ระยะหลังเมื่อได้รับประทาน อาหารด้วยกันบ่อยๆ คอยให้คำแนะนำปรึกษาในการทำกิจกรรมอย่างใกล้ชิด เด็กๆ มักจะเข้าหาถามว่ามีอะไรให้ช่วยทำหรือไม่ เช่น ในช่วงพักกลางวัน หรือช่วงเย็น เป็นต้น" อาจารย์คนเดิม กล่าว
ถือได้ว่าโครงการกินดีเพื่อสุขภาพที่ดี ไม่ใช่แค่การขับเคลื่อน เพื่อให้นักเรียนมีสุขภาวะที่ดี เติบโตสมวัย หากยังเป็นการพัฒนา ศักยภาพของตัวเด็ก ให้รู้จักคิด วางแผน ทำงาน และแก้ปัญหาเป็น อันจะส่งผลต่อการดำรงชีวิต และการทำงานในอนาคตนั่นเอง