ย้ำสลากเตือนภัยขนมเด็ก…สุขภาพดีมีลาภประเสริฐ
สุขภาพอนามัยของคน ถ้าพูดกันแบบกำปั้นทุบดินละก็ต้องมองภาพรวม ภาพรวมประเทศไทยไม่รู้ว่าวันนี้พัฒนาแล้วกำลังพัฒนาหรือว่าด้อยพัฒนา เพราะถ้าเจาะลึกอย่างจริงจังจะรู้ว่าคนไทยส่วนใหญ่ทุกช่วงอายุยังมีสุขภาพอนามัยแย่กว่าเกณฑ์แน่นอน
ประเทศไทยไม่ว่าประชากรจะนับถือศาสนาใดแต่ก็มีคติประจำใจสอนมาตลอดว่าสุขภาพกายใจสำคัญที่สุดเป็นประตูทรัพย์สินไหลเข้าหรือประตูแห่งลาภ พระพุทธศาสนาสอนย้ำว่า “ความไม่มีโรคเป็นลาภอันประเสริฐ”
ยิ่งเด็กเยาวชนไทยภาพรวมสุขภาพอนามัยยิ่งแย่หนัก เมื่อเทียบประชากรเด็กทั้งประเทศ ใครที่เคยไปสัมผัสเด็กๆ ในป่าในเขากลางทุ่งนา กระบวนการส่งเสริมปลูกฝังให้เกิดการเรียนรู้ปฏิบัติตัวให้มีสุขภาพอนามัยที่ดีไม่มี มีแต่กระบวนการตัวทำลายให้ถนนหนทางแย่แค่ไหน ตัวทำลายก็ทะลุทะลวงไปถึงไปทำลายเด็กได้ ว่ากันตั้งแต่ไม่มีใครเข้าไปให้ความรู้การปฏิบัติตัวต่อการกินการถ่ายการทิ้ง กินของไม่สุก ถ่ายลงน้ำที่สาธารณะ ทิ้งของเสียลงน้ำในที่สาธารณะที่ผลสะท้อนกลับมาคือโรคร้ายที่มากับน้ำอากาศ พืชผัก สัตว์ที่เป็นอาหารทั้งสิ้นนี่ทำกันมานับร้อยปี
กระบวนการทำลายจากภายนอกก็พวกขนมกรุบกรอบจากพวกพ่อค้าที่หัวใจบรรจุความโลภไว้เกินพิกัด ไม่สนใจว่าใครจะเดือดร้อน สังคมจะเลวร้าย ตัวเองได้ประโยชน์เข้าพกเข้าห่อพอแล้วที่กำลังเป็นประเด็นพูดถึงคือสลากให้ความรู้ว่าของกินเด็กกรุบกรอบนั้นมีคุณค่าทางร่างกายหรือแฝงตัวทำลายไว้เกินพิกัด
มีการสำรวจไว้โดยสำนักงานสำรวจสุขภาพประชาชนไทย ในปี 2552 ที่ระบุว่าเด็กมีความถี่ในการกินขนมกรุบกรอบเพิ่มขึ้น 2 เท่าจากปี 2546 ปัจจุบันเด็กไทยใช้เงินซื้อขนมถึงประมาณ 8,900 บาทต่อคนต่อปีมากกว่าการใช้เงินซื้อเครื่องเขียนที่ใช้ประมาณ 400-500 บาท ต่อคนต่อปีเท่านั้น
แล้วผลสำรวจก็มีว่าเด็กไทย อายุ 1-14 ปีจำนวน 540,000 คน หรือ 5% น้ำหนักเกินและอีก 540,000 คน หรือ 5% อยู่ในภาวะอ้วน นี่น่าจะเป็นเด็กในเมือง ผลกระทบที่ตามมาคือโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ความดัน เบาหวานโรคหัวใจ เรียนช้า ความรู้สึกช้า ฯลฯ
เห็นหรือไม่ว่านี่คือประตูที่ทำให้ลาภอันประเสริฐไหลออกไปจากครอบครัวนั้นๆ เริ่มจากค่าขนมแล้วตามมาด้วยค่ารักษาพยาบาลและอีกจิปาถะ
ไม่เฉพาะแต่เด็กเมือง เด็กๆ ในป่าในเขาก็เจอปัญหานี้ และยังเพิ่มโรคด้วยคือโรคฟันโรคเหงือกที่โอกาสรักษายากเพราะไม่มีใครไปให้ความรู้จึงเป็นที่มาของกระบวนการการผลักดันเรื่องฉลากบนห่อขนมขบเคี้ยวให้เป็นฉลากที่อ่านง่าย และเพิ่มสัญลักษณ์เพื่อให้พ่อแม่ผู้ปกครองครูอาจารย์สร้างความเข้าใจถ่ายทอดสู่เด็กเพื่อสร้างเข้าใจอย่างง่าย แม้ว่าจะดำเนินการมาเป็นเวลาหลายปีแต่ดูเหมือนจะยังไม่เกิดผลไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่มีแนวโน้มดีขึ้น
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ,มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว, สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพระหว่างประเทศ, สถาบันโภชนาการมหาวิทยาลัยมหิดล, เครือข่ายคนไทยไร้พุง, โครงการโภชนาการสมวัย,แผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ และเครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน จึงได้ร่วมกันนำเสนอฉลากขนมแบบใหม่ในรูปแบบสัญญาณไฟจราจร ซึ่งง่ายต่อความเข้าใจของผู้บริโภค
“สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลได้ทดสอบนักเรียนและผู้ปกครองจำนวน 450 คน เพื่อวัดความเข้าใจสัญลักษณ์โภชนาการ 4 แบบพบว่าสัญลักษณ์ไฟจราจร ให้ความหมายความเข้าใจและเหมาะสมที่สุดสัญลักษณ์ที่ง่ายที่สุด เช่น สัญลักษณ์ไฟจราจร เขียว เหลืองแดง เป็นตัวแทนสารอาหารและปริมาณ ซึ่งจะทำให้ทั้งเด็กและผู้ใหญ่เข้าใจได้ง่าย”รศ.ดร.ประไพศรี อธิบาย
ข้อถกเถียงที่ทำให้สัญลักษณ์ไฟจราจรยังไม่สามารถนำมาใช้เป็นฉลากโภชนาได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากความกังวลของอุตสาหกรรมอาหาร ที่มีข้อขัดแย้งว่า การใช้สัญลักษณ์ไฟ หากปรากฏว่าเป็นสีแดงจะเป็นการตีตราทำให้สินค้าดูเป็นผู้ร้ายในสายตาผู้บริโภค ที่ผ่านมา จึงมีการขอเวลาในการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงสูตรอาหารแต่ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ
ปัจจุบันฉลากโภชนาการแบบสีสัญญาณมีหลายประเทศเริ่มใช้แล้ว แต่เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการสมัครใจเข้าร่วมเองอาทิ ประเทศอังกฤษ พบว่า หลายบริษัทยักษ์ใหญ่และรายย่อยได้ประกาศสร้างทางเลือกเพื่อสุขภาพให้แก่ผู้บริโภค โดยใช้ระบบฉลากสีสัญญาณบนบรรจุภัณฑ์ ขณะที่ประเทศเยอรมนี มีบริษัท Frosta ผู้ผลิตอาหารแช่แข็งชั้นนำของประเทศ เป็นบริษัทแรกที่ประกาศใช้ระบบฉลากสีสัญญาณบนทุกบรรจุภัณฑ์เช่นกัน
สำหรับประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขมีคำสั่งให้ศึกษารูปแบบฉลากโดยอาจมีการทำประชาพิจารณ์ เพื่อรับฟังความเห็น เพื่อนำไปสู่การออกกฎหมายต่อไป
ที่มา : หนังสือพิมพ์สยามรัฐ