ย้อนรอยนวัตกรรมแห่งความสุขจาก สสส.

ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ จากหนังสือ "ถอดรหัสนวัตกรรม สสส. เล่ม 1-3"


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ย้อนรอยนวัตกรรมแห่งความสุขจาก สสส. thaihealth


มองกลับไปสิบกว่าปีก่อน คำว่า โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นชื่อที่สังคมไทยอาจยังไม่คุ้นเคย หรือไม่เข้าใจนัก ทั้งที่จริง NCDs เป็นโรคยุคใหม่ ที่เป็นภัยคุกคามมาอย่างเงียบๆ ที่เกิดจากการสะสมพฤติกรรมที่ไม่ดีต่อสุขภาพ อย่างต่อเนื่อง


36 ล้านคนทั่วโลก ตายด้วยโรค NCDs/ปี 3.2 แสนคนในประเทศไทย ตายด้วยกลุ่มโรค NCDs/ปี คือสัญญาณและสถานการณ์น่าเป็นห่วง จนขนาดที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ต้องเตือนนานาประเทศทั่วโลกให้เห็น ความสำคัญในการตระหนักถึงปัญหาและวางแผนป้องกันไม่ให้ประชากรในประเทศต้องตกเป็นคนป่วยด้วยโรคกลุ่มนี้


ปี 2552 หลังพบตัวเลขคนไทย เสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ  ความดัน เบาหวาน หลอดเลือดหัวใจ หลอดเลือดสมอง ไตเรื้อรัง ไขมันในเลือดสูง มะเร็ง ตับแข็ง สมองเสื่อม กว่า 3 แสนคน หรือ คิดเป็น 75% ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งทำให้หลายฝ่ายเริ่มเข้าใจว่า "สงครามสุขภาพ" ครั้งนี้ น่าจะ "เกินกำลัง" ที่ใครจะรับมือได้ตามลำพัง


นำมาสู่ "จุดเปลี่ยน" ครั้งสำคัญของสังคมไทย ที่เกิดการระดมความร่วมมือร่วมใจจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ทั้งยังกลายเป็นที่มาของการก่อตั้ง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือที่คนไทยรู้จักกันดี ในชื่อ สสส. ขึ้นมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ


ก้าวเริ่มของนวัตกรรมแห่งความสุข


เมื่อปลายทาง คือการสร้างความสุขเพื่อคนไทย ด้วยการมี "สุขภาวะ" ทั้ง ทางกายและใจที่ดี ผลพวงจากตลอดระยะเวลา 17 ปี ที่ผ่านมาของการทำงาน ที่ สสส. เดินหน้าบ่มเพาะเมล็ดพันธุ์สุขภาวะ สร้างกระแสรักสุขภาพเพื่อคนไทย ผ่านบทบาททั้งด้านเชื่อมประสาน ทำความเข้าใจ สร้างความรู้ และความตระหนักวันแล้ววันเล่าจนเกิดเป็นความเข้าใจ และการยอมรับจากคนในสังคม


ในวันนี้ สสส. ยังคงออกเดินทางสร้างสุขต่อเนื่อง โดยมีพื้นฐานจากความเชื่อที่ว่าทุกคนมีส่วนทำให้สังคมน่าอยู่ขึ้นได้และไม่ยากเกินความสามารถแค่ร่วมมือกัน


โดยอีกหนึ่งในความพยายาม คือ การผลักดันคนในสังคมทุกระดับให้ช่วยกันคิดหาวิธีแก้ไขปัญหา ที่บางเรื่องเกิดจากการเรียนรู้ความผิดพลาด จนกลายเป็นวิธีแก้ปัญหารูปแบบใหม่ และบางเรื่องเกิดจากการค้นพบ มองเห็นสิ่งรอบๆ ตัว ว่า สามารถนำมาเปลี่ยนแปลงให้เกิดประโยชน์ได้


สุดท้ายจึงกลายเป็น "นวัตกรรม" ที่สร้างความสุขแท้จริงจาก สสส. เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคมและพฤติกรรมคนไทย ให้เข้าใกล้สู่สังคมสุขภาวะ


อีกข้อดีข้อเด่นของ นวัตกรรม สสส. คือทุกนวัตกรรมล้วนมีรากฐานที่แข็งแรง เพราะเกิดจากบนพื้นฐานองค์ประกอบ  3 สิ่ง ได้แก่ พื้นฐานปัญหา คือ เมื่อเห็นปัญหาแล้วหาทางแก้ปัญหา ไม่ว่าจะด้วย วิธีคิดหรือเครื่องมือให้กลายเป็น วิธีการใหม่ ที่คิดหรือทำขึ้น และ ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ดังนั้น "นวัตกรรม" จึงไม่ใช่เพียงสิ่งประดิษฐ์ แต่เป็นกระบวนการที่จะหาทางแก้ปัญหา กระบวนการทำงาน กระบวนการทางความคิด ที่เมื่อนำไปลงมือปฏิบัติก็สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลง


ในช่วงโอกาสที่ปี 2561 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ลองมาสรุปเครื่องมือนวัตกรรมดีๆ ที่เปรียบเสมือนการมอบของขวัญให้สังคมมาอย่างต่อเนื่องนั้นมีอะไรบ้าง


ย้อนรอยนวัตกรรมแห่งความสุขจาก สสส. thaihealth


ใกล้บ้าน สมานใจ


โปรแกรมการบำบัดดูแลเชิงรุกในชุมชนสำหรับผู้ติดสุรา แนวคิดเกิดจากการเห็นคนไทยมีปัญหาจากการดื่มสุราจำนวนมาก บางส่วนเข้ารับการบำบัด แต่ก็พบว่า 50% มีโอกาสกลับไปติดสุราซ้ำได้ แผนงานวิจัยระบบสุรา (ผรส.) ได้พัฒนารูปแบบการดูแล ผู้มีปัญหาจากการดื่มสุรา ด้วยการจัดทำคู่มือ ชุดโปรแกรม 5 เล่ม คือ โปรแกรมใกล้บ้าน สมานใจ โปรแกรมการบำบัด  คู่มือการดูแลตนเองสำหรับผู้ติดสุรา คู่มือ การดูแล ผู้เป็นโรคติดสุราโดยญาติ คู่มือการดูแลผู้ติดสุราสำหรับบุคลากรสุขภาพ  และ แบบบันทึกใกล้บ้าน สมานใจ


โดยมีขั้นตอนตามโปรแกรม เป็นแบบเชิงรุก มีการเยี่ยมบ้าน 10 ครั้ง และในแต่ละสัปดาห์ ผลจากการมีโปรแกรมดังกล่าว ทำให้การทำงานในชุมชนเกิดแบบแผน มีการทำงานเชิงรุก ช่วยเหลือผู้ติดสุรา ไม่ให้กลับมาดื่มซ้ำ ประหยัดงบประมาณในการรักษา และยังทำให้ผู้ติดสุรามีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น สามารถกลับสู่สังคมทำประโยชน์ได้


ธนาคารเหล้า


กลไกลสร้างการเฝ้าระวัง ลด ละ เลิกการดื่มเหล้า ผลพวงจากการสร้างชุมชนปลอดเหล้าเริ่มต้นนำร่องขึ้นที่ สภาชุมชนน่าอยู่บ้านดงยาง-พรพิบูลย์ อ.พิบูลย์รักษ์ จ.อุดรธานี มีผลต่อเนื่องมาจากกิจกรรมงดเหล้า เข้าพรรษา ซึ่งกระตุ้นให้คนที่อยากเลิกเหล้า ได้ลงมือเลิกเหล้าอย่างจริงจัง มาสู่นวัตกรรม ที่ชุมชนออกแบบและลงมือทำด้วยตัวเอง โดยจัดทำพื้นที่ฝากเหล้าไว้ ให้ผู้ที่สนใจจะเลิกเหล้าเข้าพรรษา แปะชื่อตัวเองลงบนขวดเหล้าแล้วเอามาฝากไว้จุดเดียวกัน  โดยลงทะเบียนฝากเหล้าพร้อมระบุช่วงเวลา งดเหล้า และมีคณะกรรมการหมู่บ้าน คอยติดตามดูแลพฤติกรรม ซึ่งจะระบุไว้ว่า ผู้ที่ฝากเหล้าไว้นั้นสามารถถอนเมื่อไหร่ก็ได้


feedback เชิงบวกจากการทำโปรแกรม ดังกล่าวนั้น ช่วยกระตุ้นให้คนที่ดื่มเหล้า  หันมาสนใจและฝากเหล้าไว้ที่ธนาคาร ซึ่งเป็นเหมือนประกาศความตั้งใจให้ทุกๆ คน ได้รู้ ซึ่งระหว่างนั้น ก็จะมีคนช่วยติดตาม ดูแล และทราบถึงพฤติกรรมของคนที่เลิกเหล้า โดยจากโครงการดังกล่าว ทำให้คนที่นำเหล้ามาฝาก 17 คน สามารถเลิกเหล้าได้เด็ดขาดถึง 7 คน และสามารถทำโครงการอย่างต่อเนื่องหลังออกพรรษาได้


กาบตาลฟื้นฟูกาย


นวัตกรรมเครื่องออกกำลังกายเพื่อ ผู้สูงวัยที่มาจากชุมชน ลำพังการจะแจกจ่ายอุปกรณ์ ออกกำลังกายให้เพียงพอในชุมชน  เป็นเรื่องยากในการหางบประมาณมาใช้  แต่การรวมกลุ่มกันทำให้มีการต่อยอด ความคิดด้วยการใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายแบบที่สามารถหาได้เองในพื้นที่ จึงกลาย มาเป็น "กาบตาลฟื้นฟูกาย" เครื่อง ออกกำลังกายแบบ "ชุมชนเมด" ซึ่งทำมาจากกาบตาลแห้ง และเชือกห่วงหุ้มพลาสติกด้านปลายกาบตาล เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการยืดเส้น ยืดสายส่วนต่างๆ ของร่างกาย  ที่ใครๆ ก็ทำได้ เพียงนำกาบตาลมาตัดใบ ตัดโคนกาบให้เหลือความยาวประมาณ 1.20 เมตร เหลาหนามออกให้เรียบ  เจาะรูตรงโคนและร้อยเชือกทำเป็นห่วง  ซึ่งมาพร้อมการคิดค้นเซ็ตท่าออกกำลังกายได้อีก 5 ท่า ทำให้สามารถยืดหลัง  ยืดแขน ยืดข้าง ยืดข้อเท้า ยืดปลายนิ้ว  จากที่ใช้เป็นเครื่องมือออกกำลังกาย สำหรับผู้สูงวัย ก็กลายเป็นอุปกรณ์ที่ได้รับ ความนิยม และคนในชุมชนนำไปใช้กันอย่างแพร่หลาย


ย้อนรอยนวัตกรรมแห่งความสุขจาก สสส. thaihealth


ที่นอนลูกโป่ง


นวัตกรรมหลักร้อยช่วยลดทุกข์ผู้ป่วย ติดเตียง หัวอกคนที่เจ็บป่วยนั้นก็ทุกข์พอดูอยู่แล้ว แต่ถ้าป่วยแล้วต้องนอนนิ่งๆ อยู่บนเตียง ทุกข์คงทับทวีคูณไปอีก ปัจจุบันจึงมีผู้ป่วยติดเตียงจำนวนมากเกิดปัญหาแผลกดทับเพราะนอนติดเตียงเป็นเวลานาน ซึ่งจากการสำรวจพบว่า  มีผู้สูงอายุติดเตียงเกิดปัญหานี้ราว 1.5%


นวัตกรรมแก้ปัญหาเรื่องนี้นั้นจะว่าง่ายก็ง่าย เพียงแค่หันมาใช้ที่นอนลม เพื่อลดปัญหาการกดทับ แต่ปัญหาคือที่นอนลมนั้นมีราคาใช่ย่อย ถูกสุดก็ราคาตั้งแต่ 5 พัน ไปจนถึงหลายหมื่นบาท งานนี้ พายัพ วงษ์อินทร์ ผู้จัดการพื้นที่ จ.สิงห์บุรี ประธาน อสม. จึงได้นำความรู้เรื่องที่นอนลูกโป่งมาต่อยอดเพื่อช่วยผู้ป่วย จึงเกิดที่นอนลูกโป่งราคาหลักร้อย นวัตกรรมชิ้นเอกของ ต.ทับยา อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี  ซึ่งกว่าจะสำเร็จได้ ก็ผ่านการลองผิดลองถูกไม่น้อย หากแต่ท้ายสุดคือผลงานที่เปี่ยมไปด้วยความภูมิใจเพราะกลายเป็นนวัตกรรมการเรียนรู้ที่ส่งต่อเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วย ติดเตียงในพื้นที่อื่นต่อไป


สามพรานโมเดล


เกษตรอินทรีย์ครบวงจร หากให้เลือกได้ เกษตรกรทุกคนใครๆ ก็อยากผลิตพืชผลแบบเกษตรอินทรีย์ที่ดีต่อสุขภาพ หากแต่ในความเป็นจริง การจะเดินหน้าสู่วิถีเกษตรอินทรีย์ก็มิใช่เรื่องง่าย เพราะเริ่มตั้งแต่ความยุ่งยากของขั้นตอนการปลูก แถมผลิตผลต้องใช้เวลานานกว่าปกติ และอีกปัญหาสำคัญคือ "ไม่มีตลาดรองรับ"


ในมุมคนซื้อมองว่าช่องทางหา ผักเกษตรอินทรีย์มีน้อยและราคาสูง ขณะที่ เกษตรกรเองยอมรับว่า เพราะต้องลงทุนมาก ได้ผลผลิตน้อยกว่า สินค้าเกษตรอินทรีย์ จึงต้องมีราคาสูง ที่ผ่านมา เราจึงพบว่าดีมานด์และซัพพลายระหว่างผู้ปลูกและ ผู้บริโภคที่อยากกินพืชผลเกษตรอินทรีย์ ไม่เคยลงตัว


สามพรานโมเดล เป็นการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดใหม่ โดยเป็นตลาดกลางที่จะช่วยให้วงจรเกษตรอินทรีย์เป็นธุรกิจที่อยู่ได้อย่างเป็นระบบ ด้วยการดึงทั้งคนปลูกและคนซื้อ รวมถึงภาคเอกชน ภาครัฐ โรงเรียน มหาวิทยาลัย ให้ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วม สร้างตลาดที่มีคนซื้อรองรับ และยังต่อยอดขยายผลสู่โครงการมากมาย เช่น โครงการ Farm to Firm ที่เกษตรกรเกษตรอินทรีย์สามารถขายส่งสินค้าตรงไปยังโรงแรม ที่ต้องการผลผลิตมีคุณภาพ


จนปัจจุบันนครปฐม กลายเป็นแหล่งผลิตใหญ่ เพราะเกษตรกรในพื้นที่หันมาทำเกษตรอินทรีย์จำนวนมากและสามารถก้าวไปสู่การรับรองคุณภาพ รวมถึงเป็นต้นแบบที่หลายพื้นที่เข้ามาเรียนรู้


ย้อนรอยนวัตกรรมแห่งความสุขจาก สสส. thaihealth


วิ่งสู่ชีวิตใหม่


จุดกระแสวิ่งสุดฮิตในสังคมไทย แม้หลายคนทราบว่า การวิ่งเป็นเรื่องที่มีประโยชน์และไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมาก แต่ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร เพราะในอดีตการวิ่งเป็นเรื่องของคนกลุ่มเล็กๆ เท่านั้น


หากจุดเริ่มต้นที่เปลี่ยนสังคมไทย จนสามารถกลายเป็นสังคมวิ่งเพื่อสุขภาพ ได้อย่างรวดเร็ว ได้แรงบันดาลใจมาจาก "วิ่งสู่ชีวิตใหม่" หนังสือ 199 หน้า ที่ ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้เขียนขึ้น โดยได้รวบรวมความรู้เรื่องวิ่งไว้อย่างสมบูรณ์ ตั้งแต่ปี 2539


ด้วยเป้าหมายอยากให้คนในสังคมไทย ได้หันมาออกกำลังกายมากขึ้น สสส. จึงเริ่ม ต่อยอดความรู้เรื่องวิ่งให้ออกมาเผยแพร่อย่างเป็นระบบ พร้อมทั้งรณรงค์สร้างกิจกรรมส่งเสริมการวิ่ง หนึ่งในนั้นคือแคมเปญ วิ่งสู่ชีวิตใหม่ ที่เชิญชวนคน มีชื่อเสียงในสังคม ดารามาวิ่งด้วยกัน  จนเมล็ดพันธุ์แห่งการวิ่งค่อยๆ เติบโต แบบไม่ทันตั้งตัว


จุดเปลี่ยนมาถึงเมื่อสังคมโซเชียลมีเดีย เติบโต ซึ่งพอดี กับภาพยนตร์ของ GTH  ซึ่งมีการทำหนังเรื่องวิ่ง ผู้คนเริ่มหันมาถ่ายรูปตัวเองลงในโซเชียล กลายเป็นเทรนด์ใหม่ที่อยากให้คนหันไปออกกำลังกาย ซึ่งเทรนด์นี้ทำให้สวนสาธารณะปรับปรุงพื้นที่ให้รองรับการวิ่ง มีงานวิ่งจำนวนมากในแต่ละเดือน ภาคเอกชนหันมาใช้งานวิ่งเพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมภาพลักษณ์ จนเปลี่ยนให้คนไทยรักการวิ่งไปโดยปริยาย


เริ่มต้นที่ปีใหม่นี้ ลองตั้งเป้าหมายที่จะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ลด ละ เลิกพฤติกรรมเสี่ยงก่อโรคภัย เพื่อให้เป็นของขวัญกับ ตัวเอง มาลงมือประกาศความตั้งใจ ไปพร้อมกันว่า เราจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง  เพื่อไปสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า เชื่อว่าทุกคนทำได้

Shares:
QR Code :
QR Code