‘ยีน’หนุนเด็กอ้วนผิดปรกติ

ผลวิจัยศึกษาเด็ก

 

‘ยีน’หนุนเด็กอ้วนผิดปรกติ

           เคมบริดจ์ : คณะนักวิจัยมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ และสถาบันแซงเกอร์ในอังกฤษ พบสาเหตุทางยีนที่เชื่อว่าทำให้เด็กอ้วนผิดปรกติคาดจะเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยโรคอ้วนรุนแรงให้ดีขึ้น เพราะหลายครั้งวินิจฉัยผิดว่าเกิดจากการให้เด็กรับประทานมากเกินไป

         

           ทั้งนี้ นักวิจัยศึกษาเด็ก 300 คนที่เป็นโรคอ้วนรุนแรง โดยวิเคราะห์จีโนมหน่วยพันธุกรรมครบเซตของเด็กเพื่อดูจำนวนชุดดีเอ็นเอว่ามีขาดหายหรือมีซ้ำเปรียบเทียบกับจีโนมของเด็กน้ำหนักตัวปรกติพบว่าโครโมโซมคู่ที่ 16 ของเด็กอ้วนรุนแรงมีดีเอ็นเอบางส่วนขาดหายไป สันนิษฐานว่ายีน sh2b1 ที่หายไปเป็นตัวควบคุมน้ำหนักและระดับน้ำตาลในเลือด คนที่ไม่มียีนตัวนี้มักรับประทานเก่งและน้ำหนักตัวเพิ่มง่าย

         

           ผลการศึกษานี้เป็นหลักฐานชิ้นแรกที่แสดงให้เห็นว่าจำนวนชุดดีเอ็นเอมีความเกี่ยวข้องกับภาวะที่เกิดจากกระบวนการเผาผลาญอาหาร เช่น โรคอ้วน ก่อนหน้านี้เป็นที่ทราบกันว่าจำนวนชุดดีเอ็นเอทำให้เกิดความผิดปรกติบางอย่างได้ เช่น กลุ่มอาการออทิสซึ่ม การมีปัญหาด้านการเรียนรู้ คาดว่าการวิจัยนี้จะช่วยปรับเปลี่ยนทัศนคติและวิธีปฏิบัติของผู้ดูแลสุขภาพเด็กได้

          

           อย่างไรก็ดี ดร.เอียน แคมป์เบล จากมูลนิธิเวทคอนเซิร์นย้ำว่า เด็กส่วนใหญ่ไม่ได้อ้วนเพราะยีน แต่เกิดจากวิถีการดำเนินชีวิต การรับประทานอาหาร และการออกกำลังกาย การที่ผลการศึกษาหลายชิ้นโทษการดูแลของพ่อแม่ว่าทำให้เด็กอ้วนโดยตัดปัจจัยด้านสังคมออกไปเป็นเรื่องน่าเป็นห่วงเพราะครอบครัวที่มีเด็กเป็นโรคอ้วนต้องการการสนับสนุนจากหลายหน่วยงานในสังคม

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

 

 

 

update: 8-12-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: กิตติยา  ธนกาลมารวย

 

Shares:
QR Code :
QR Code