ยาใจในเรือนจำ
ที่มา : หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ โดย ชัยณรงค์ กิตินารถอินทราณี
ภาพประกอบจาก สสส.
นอกจากการผ่านแต่ละวัน ที่ยาวนานกว่าโลกภายนอก การกอบกู้ตัวเองกลับคืนดูจะเป็นสิ่งที่ยากยิ่งหลังกำแพงสูง มองเผินๆ มันก็ไม่ต่างจากโรงเรียนประจำสักเท่าไหร่นักหรอก แยกหญิง-ชายชัดเจน ใช้ชีวิตประจำวันตามตารางเวลาบนกระดาน หรือกระทั่งชุดยูนิฟอร์มที่เหมือนกันไปหมด ต่างก็ตรง สัดส่วน และผู้คนที่ใช้ชีวิตอยู่ถูกแบ่งออกตามลำดับชั้นของ "โทษ" ที่ติดตัว โดยมีรั้วลวดหนาม และกำแพงเรือนจำกั้นกลางอาณาเขตเอาไว้
กลายเป็นภาพจำที่ฝังหัวสังคมไทยไปแล้วเวลาพูดถึง "เรือนจำ" หรือ "คุก"
ขณะที่ "ผู้ต้องขัง" หรือ "นักโทษ" ก็ต่างติดกลิ่นอายของความร้ายกาจ และดูน่ากลัวตามไปด้วย ไม่ใช่เรื่องแปลก หากเราย้อนมองถึงข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับเรือนจำที่ปรากฏผ่านสื่อในห้วงเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะความรุนแรงที่กลายเป็นพาดหัวข่าวหลักในการนำเสนอ หรือปริมาณของนักโทษที่กำลัง "ล้นคุก" อยู่ในขณะนี้ เมื่อเทียบเคียงกับสถิติผู้ต้องขังจากกรมราชทัณฑ์เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2562 มีผู้ต้องขังทั้งสิ้น 378,673 คน ขณะที่เรือนจำที่สามารถรองรับผู้ต้องขังได้เพียง 112,348 คน. จากเรือนจำ 143 แห่งทั่วประเทศ
ตัวเลขดังกล่าวทำให้จนถึงวันนี้ ประเทศไทยก็ยังมีผู้ต้องขังสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก อันดับ 3 ของเอเชีย (เป็นรองแค่ จีน กับ อินเดีย) และครองที่ 1 ของอาเซียน (จากการเก็บข้อมูลของ prisonstudies.org) ไปโดยปริยาย
จากข้อกำหนดกรุงเทพที่ริเริ่มจากวิสัยทัศน์ของพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ซึ่งทรงเล็งเห็นในประเด็นนักโทษหญิง โดยเฉพาะกลุ่มที่ตั้งครรภ์ และมีลูกเล็ก ๆ นำมาสู่โมเดลการจัดการเพื่อเป็นมาตรฐานสำหรับผู้ต้องขังหญิงที่มีอยู่ในเรือนจำทั่วประเทศ 49,675 ราย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะหลัง ประเด็นเรื่องของการ "สร้างโอกาส และส่งเสริมการกลับสู่สังคม" ถูกพูดถึง และเป็นแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ในหลายพื้นที่ ที่ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย เคยอธิบายถึงการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรือนจำ และผู้กระทำผิด ต้องมองทั้งประเด็น ภายในเรือนจำ (Inside Prison) ซึ่งเป็นการบริหารจัดการ และวางเส้นทางชีวิตผู้ต้องขัง มองเรื่องที่ กว้างไปกว่าเรือนจำ (Beyond Prison) หรือชีวิตนอกเรือนจำของผู้ต้องขัง ทำอย่างไรให้เขาได้เริ่มชีวิตใหม่อย่างภาคภูมิใจและได้รับการยอมรับจากสังคม อีกทั้งประเด็น นอกเหนือไปจากเรื่องเรือนจำ (Beside Prison) ทั้งเรื่องนโยบาย และการนำมาตรการอื่นๆ ที่ไม่ใช่การจองจำมาใช้ทดแทน
โจทย์สำคัญอีกมุมหนึ่งของเรื่องนี้จึงอยู่ที่การทลายกรอบคิด และภาพจำเก่าๆ ไม่ว่าจะเป็น "คนนอก" อย่าง สื่อมวลชน หรือประชาชนทั่วไป กับ "คนใน" อย่างบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม หรือเจ้าหน้าที่ในเรือนจำเอง
"เพียงแค่เรามีวิธีคิดที่มีความเป็นมนุษย์ขึ้นเท่านั้นเอง" รศ.ดร.นภาภรณ์ หะวานนท์ นักวิชาการที่ทำงานเกี่ยวกับผู้ต้องขังหญิงมาตลอดหลายปี มองถึงหลักคิดพื้นฐานที่จะสร้างเรือนจำในนิยามใหม่ที่จำเป็นต่อการสร้างคุณค่าในตัวเองที่ถูกลบหายไปหลังจากที่พวกเธอต้องเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ในโลกที่ไร้อิสรภาพใบนี้
รศ.ดร.นภาพร อธิบายถึง หลักคิดเกี่ยวกับบทลงโทษว่า การสูญเสียอิสรภาพสำหรับคนคนหนึ่งถือเป็นเรื่องใหญ่แล้ว เมื่อคนๆ นั้นถูกตัดสินว่ากระทำผิด สิ่งที่ต้องคิดต่อมาก็คือกระบวนการฟื้นฟูเพื่อให้พวกเขากลับไปเป็นบุคลากรส่วนหนึ่งของสังคมได้เหมือนเดิม ในขณะที่ปัจจัยที่เกิดขึ้นกับเหล่าผู้ต้องขังนั้นได้กลายเป็น "ตราประทับ" ที่ไม่มีวันถูกลบออกไปจากชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย
"ต้องไม่ลืมนะคะว่า นักโทษที่อยู่ในคุกส่วนใหญ่เป็นคนหนุ่มสาว นั่นเท่ากับว่าเราเสียทรัพยากรบุคคลที่จะขับเคลื่อนประเทศไปตั้งเท่าไหร่" นักวิชาการด้านผู้ต้องขังคนเดิมย้ำ
โครงการเรือนจำสุขภาวะ โดยการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้ขับเคลื่อนจนสร้างเรือนจำต้นแบบ "อุบลราชธานี-อุดรธานี-ราชบุรี" เพื่อใช้ "พลังเชิงบวก" โดยส่งเสริมกิจกรรมตามความถนัด-สมัครใจ ปรับให้เรือนจำเอื้อต่อการมีสุขภาวะกายใจ-ดี และทำให้ต่างจากสังคมภายนอกน้อยที่สุด เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการขับเคลื่อนกระบวนการดังกล่าว
ภรณี ภู่ประเสริฐ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะประชากรกลุ่มเฉพาะ ยอมรับถึงความพยายามขับเคลื่อนเรื่องเหล่านี้ให้ไปถึงระดับนโยบาย ซึ่งจะเป็นการเปลี่ยนกระบวนทัศน์ และภาพของผู้ต้องขังในทุกๆ มิติ ซึ่งจะนำไปสู่การลดทอนการกลับเข้ามาสู่เรือนจำอีกครั้งได้อย่างชัดเจน
ผศ.ธีรวัลย์ วรรธโนทัย หัวหน้าโครงการเรือนจำสุขภาวะ เล่าถึงผลสัมฤทธิ์ในการนำกิจกรรมต่างๆ เข้าไปสู่ ผู้ต้องขังหญิง เช่น การออกแบบและทำงานหัตถกรรม (บาติก โครเชต์ ออริกามิ ดอกไม้จากดินน้ำมัน) ศิลปะบำบัด (การใช้ดินสอสี สีน้ำ สีอะครีลิค) การทำเทียนหอม ยาหม่องและน้ำมันไพล สวนถาด ปลูกต้นไม้ในขวด หรือกิจกรรมที่มีส่วนช่วยพัฒนาสุขภาพผู้ต้องขังแบบองค์รวมคือ การฝึกโยคะ ที่ช่วยให้ผู้ฝึกมีสมาธิ มีความอดทนมุ่งมั่น และตระหนักในพลังของตนเอง เกิดความภาคภูมิใจในตัวเองขึ้น โดยการติดตามผู้เข้าร่วมกิจกรรมโยคะของโครงการเมื่อพ้นโทษออกไปประมาณ 50 คน พบว่ามีผู้กระทำผิดซ้ำ 3 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 6 เท่านั้น
เมื่อไม่ว่าใครก็ต้องการโอกาส ผู้ต้องขังก็ไม่ต่างกัน โจทย์ใหญ่วันนี้ จึงอยู่ที่ว่า ใครจะมาช่วยเปิดประตูบานนี้เพื่อให้พวกเขากลับคืนสู่สังคมอย่างเต็มภาคภูมิ
ความรักของ 'แข'
"แม่ไม่รักหนู" นี่เป็นความเชื่อที่ แข (นามสมมติ) ฝังหัวตัวเองมาตลอด
สภาพแวดล้อมที่หล่อหลอมตัวเธอไม่ต่างจากเด็กบ้านแตกทั่วไป แขอยู่กับแม่ที่วันๆ ไม่รู้ว่าเอาแรงด่าเธอมาจากที่ไหน ทำอะไรก็ผิดไปหมด ชั่วโมงที่หันหน้าไปทางไหนก็พบแต่ความหดหู่ "เพื่อน" และ "ยา" จึงเปรียบเสมือนแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของเธอในวันนั้น
จนมาได้สติอีกทีก็วันที่เจ้าหน้าที่พังประตูห้องเข้ามาควบคุมตัว นั่นแหละ ถึงได้รู้ว่าเวลาของเธอหมดแล้ว 7 เดือนหลังกำแพงลวดหนาม ที่อยู่ในระหว่างพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น ก็มีแต่แม่เท่านั้นแหละ ที่เธอเห็นหน้าบ่อยที่สุด
"หนูรู้แล้วว่าแม่รักหนูขนาดไหน" แขยิ้มพลางปาดน้ำตา
ที่นี่ นอกจากตารางชีวิตประจำวันทั่วไป เธอเลือกการถักตุ๊กตาไหมพรมเป็นจุดหมายของการใช้ชีวิต ด้วยความชอบศิลปะเป็นทุนเดิม และคิดว่า นี่จะเป็นช่องทางการหาเลี้ยงชีพต่อไปในอนาคต ไม่ว่าคำพิพากษาจะออกมาแบบไหนก็ตาม
แขบอกว่าส่วนที่ยากที่สุดก็คือ การประกอบรอยต่อ และเก็บงานบนตัวตุ๊กตาให้เรียบร้อยที่สุด ที่เหลือก็แล้วแต่การฝึกฝน และความตั้งใจ เหมือนกับตุ๊กตาตัวโปรดของเธอที่กำลังอยู่ระหว่างการรังสรรค์อย่างสุดฝีมือม …เพื่อเอาไปฝากแม่ วันที่ได้กลับบ้าน
ขอโอกาสให้คนคุกอย่างเราเถอะ
"ขอแค่โอกาสเท่านั้นแหละค่ะ" ไม่ว่าจะ บ๋อม (นามสมมติ) หรือ แพรว (นามสมมติ) ต่างก็ยืนยันแบบนี้
คนหนึ่งจะติดคุกในคดีฉ้อโกง ส่วนอีกคนคดียาเสพติด แต่เมื่อเข้ามาอยู่ในเรือนจำแล้ว "คนคุก" ก็คือสถานะที่ถูกใส่มาให้พวกเธอจะด้วยความเต็มใจหรือไม่ก็ตาม
ทั้งคู่ต่างยอมรับว่า ขึ้นชื่อว่า "เรือนจำ" หรือ "คุก" ไม่ว่าใครก็ไม่อยากกรายกล้ำทั้งนั้น ยิ่งกับสิ่งที่ได้เห็นในหนังเกี่ยวกับนักโทษหญิงเมื่อหลายปีก่อน เมื่อรู้ตัวว่าต้องติดคุกมันจึงเป็นความหวาดกลัวที่ถาโถมเข้ามาพร้อมกับความเครียดกองเบ้อเร่อ
"แดนแปดเหมือนกับในหนังเลย" ใครบางคนเล่าติดตลก
กว่าจะทำใจได้ก็ปาเข้าไป 2-3 เดือน เมื่อเริ่มคุ้นชินกับชีวิตประจำวันในแดนหญิง สิ่งที่ต้องคิดต่อก็คือ จะทำอย่างไรให้แต่ละวันหมดไปอย่างมีความหมาย กิจกรรมการจัดสวนในขวด หรือการจัดสวนในกระถาง สำหรับบ๋อม ถือเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ เผื่อเอาไว้ใช้กับธุรกิจร้านอาหารที่บ้าน ขณะที่แพรวมองเป็นอีกช่องทางการทำกินที่จะติดตัวออกไปหลังจากพ้นโทษ
กำลังใจในการอยู่จนพ้นโทษก็เรื่องหนึ่ง แต่ที่สำคัญยิ่งกว่าก็คือ หลังจากพ้นรั้วเรือนจำออกไปแล้ว สายตาคนรอบตัว หรือคนรู้จักจะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน
ปากก็บอกว่า ไม่กลัว และไม่แคร์สายตาคนข้างนอกหรอก แต่บ๋อมก็ยอมรับโดยดีว่า การเปิดใจ หรือการให้โอกาสก็เป็นสิ่งสำคัญเหมือนกัน
แน่ล่ะ ถ้าเลือกได้…"ไม่มีใครอยากเข้ามาใช้ชีวิตในนี้หรอกค่ะ" สองนักโทษชั้นเยี่ยมคนเดิมต่างช่วยกันยืนยัน