ยาเสพติดระบาด วัยรุ่นหันเสพในหอพัก
ชี้โดยเฉพาะผู้หญิง ซ้ำอายุน้อยลง!!
สธ. แฉสถานการณ์ยาเสพติดระบาดหนักทั่วเมือง หาซื้อได้ง่าย ราคาถูก แถมซื้อได้ตามเน็ต ขณะที่กลุ่มผู้เสพอายุลดลง แค่มัธยมต้นเท่านั้น และส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง พร้อมเปลี่ยนพฤติกรรมหันเสพยาตามหอพักและอพาร์ตเมนต์ แทนมั่วตามผับ บาร์ ส่วนการบำบัดโดยสมัครใจยังมีน้อย เพียงแค่ 20,000 คน จาก 80,000 คน
นายวิทยา แก้วภราดัย รมว.สาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์การระบาดของยาเสพติดในปัจจุบันว่า ขณะนี้การระบาดของยาเสพติดมีความรุนแรงมากขึ้น อายุของผู้ติดยาเสพติดปัจจุบันลดลงมาก โดยพบในเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปีมากขึ้น ตอนนี้เด็กอายุ 13 ปีก็หันมาเสพยาเสพติดแล้ว ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าห่วง เพราะการเสพยาเสพติดนอกจากจะทำลายสุขภาพแล้ว ยังส่งผลต่ออนาคตเด็ก ทำให้การเรียนตก
นอกจากนี้การบำบัดรักษาที่ผ่านมา พบว่า ผู้ติดยาสมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาน้อยมาก ส่วนมากจะถูกจับแล้วส่งมารักษามากกว่า ดังนั้นกระทรวงสาธารณสุขจะร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหานี้
ด้าน น.ต.นพ.บุญเรือง ไตรเรืองวรวัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า สถานการณ์ยาเสพติดในปัจจุบันน่าเป็นห่วงมาก เพราะมีผู้ติดยาเพิ่มสูงขึ้น มีการใช้ยาเสพติดมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง มิหนำซ้ำอายุน้อยลง จากเดิมผู้ติดยาเสพติดจะมีอายุระหว่าง 18 – 24 ปี รองลงมาคือ 15 – 18 ปี แต่ปัจจุบันอายุของผู้ติดยาเสพติดพบในกลุ่มอายุระหว่าง 13 – 18 ปีมากที่สุด คือ เป็นเด็กอายุ ม.1 ม.2 มากขึ้น
โดยอายุต่ำสุดที่เคยเข้ารับการบำบัดรักษาในสถานพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข คือ 10 ขวบ อยู่ในภาคกลาง ติดยาเนื่องจากข้างบ้านของเด็กคนดังกล่าวค้ายาบ้า แล้วเด็กไปช่วยงาน คนที่ค้ายาก็ให้ยาบ้าเด็กกิน และบังคับให้ขายยาด้วย
น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวต่อว่า ยาเสพติดที่มีการระบาดมากยังเป็นยาบ้า รองลงมา ได้แก่ กัญชา และยาเสพติดประเภทสารระเหย ส่วนหนึ่งที่ทำให้ยาเสพติดมีการระบาดมาก เนื่องจากการปราบปรามและจับกุมในช่วงที่ผ่านมาไม่เข้มข้น ทำให้ยาเสพติดมีราคาถูก และมีขายเกลื่อนทั่วไป ไม่เว้นแม้แต่ทางอินเทอร์เน็ต แต่ถ้าหากมีการปราบปรามเข้มงวด ยาเสพติดจะมีราคาแพงมาก เพราะหาซื้อยาก
นอกจากนี้ยังพบว่า มีการเสพยาเสพติดในสถานที่พักมากขึ้น โดยเฉพาะตามอพาร์ตเมนต์ หรือหอพัก และมักนำยาหลายชนิดมาผสมกัน เรียกว่า “ค็อกเทล” เช่น ยากล่อมประสาท ยาคลายเครียด ยาเสียสาว ซึ่งการเสพยาหลายๆ ตัว ที่เป็นสูตรค็อกเทลนั้น แน่นอนว่าจะทำให้การบำบัดรักษาทำได้ยากขึ้น
น.ต.นพ.บุญเรือง กล่าวด้วยว่า ตาม พ.ร.บ.ฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด พ.ศ. 2545 ให้ถือว่าผู้เสพเป็นผู้ป่วย ที่ต้องรับการบำบัดรักษาหรือฟื้นฟูสมรรถภาพ แต่ปรากฏว่า การบำบัดในปีที่ผ่านมาประมาณ 8 หมื่นคนนั้น มีผู้สมัครใจเข้ารับการบำบัดประมาณ 2 หมื่นคนเท่านั้น แต่ส่วนใหญ่ที่เข้ารับการบำบัดเพราะถูกจับกุมมีถึง 5 หมื่นคน ส่วนอีก 1 หมื่นคนต้องโทษและมีคดี
ขณะที่ ภ.ญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กล่าวถึงกรณีที่มีการนำสูโดอีเฟดรีน ซึ่งเป็นส่วนประกอบของยาแก้หวัดมาเป็นสารตั้งต้นในการผลิตยาบ้าว่า ปัจจุบัน อย. มีการควบคุมการจำหน่ายยาแก้หวัดที่มีส่วนผสมของสูโดอีเฟดรีนอยู่แล้ว โดยขอความร่วมมือไปยังร้านขายยาให้ระวังกรณีที่มีการกว้านซื้อยาในปริมาณมากๆ เพราะอาจมีการนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ และขอฝากไปยังพี่น้องประชาชนช่วยกันสอดส่องเป็นหูเป็นตาด้วย
วานนี้ (17 มี.ค.) เวลา 13.30 น.นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง ได้ประชุมผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปราบปรามยาเสพติดประกอบด้วย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก พล.ต.ท.วรพงษ์ ชิวปรีชา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ท.กฤษณะ ผลอนันต์ เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) โดยหารือกว่า 1 ชั่วโมง
นายสุเทพ กล่าวหลังการประชุม ว่า ในวันนี้ (18 มี.ค.) จะมอบนโยบายให้กับส่วนราชการต่างๆ ที่จะเข้ามาบูรณาการแผนปฏิบัติการ ในการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด โดยนายกรัฐมนตรีจะเป็นผู้มอบนโยบายและให้แนวทางการปฏิบัติ ยืนยันว่า เราจะทำเรื่องนี้ อย่างเต็มกำลังความสามารถ และด้วยความเคารพในสิทธิของประชาชน จะไม่ทำอะไรที่เป็นการล่วงละเมิด ทุกอย่างจะทำภายใต้กรอบกฎหมาย ไม่จำเป็นต้องมีตัวชี้วัดว่าจะต้องลดลงกี่เปอร์เซ็นต์ ไม่มีการอุ้มฆ่า หรือฆ่าตัดตอน ใครก็ตามที่มีส่วนเกี่ยวข้องเรื่องยาเสพติด เราจะดำเนินคดีตามกฎหมาย
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
update 18-03-52