ยางรถยนต์ใช้แล้ว ประหยัดน้ำทำการเกษตร

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพประกอบจากแฟ้มภาพ


ยางรถยนต์ใช้แล้ว ประหยัดน้ำทำการเกษตร thaihealth


ยางรถยนต์ใช้แล้ว…ช่วยประหยัดน้ำสำหรับทำการเกษตร


ดร.อิทธิพล แจ้งชัด คณบดีคณะวิทยาศาสตร์สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดเผยหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการขับเคลื่อนสามพรานโมเดลเพื่อสร้างระบบอาหารสมดุล ภายใต้มูลนิธิสังคมสุขใจ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจาก สสส.ยกระดับห่วงโซ่อาหารอินทรีย์ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ เมื่อเร็ว ๆ ว่า เพื่อพัฒนาหลักสูตรพัฒนาบัณฑิตยุคใหม่ให้รองรับบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต การแปรรูป การตลาด ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งและคุณค่าอาหารอินทรีย์ อาหารปลอดภัยและการมีสุขภาพและสุขภาวะที่ดีของคนในสังคมได้มากขึ้น


ดร.อิทธิพล กล่าวว่า คณะวิทยาศาสตร์ สจล.จะนำงานวิจัย ท่อยางน้ำซึมจากผงยางรถยนต์ใช้แล้ว ยางธรรมชาติ และยางรีเคลมเสริมแรงด้วยเศษเส้นใยพลายเพื่อใช้เป็นอุปกรณ์ให้น้ำทางการเกษตรมาทดลองใช้กับการเกษตร ที่ทำเกษตรอินทรีย์ในโครงการสามพรานโมเดล ซึ่งเป็นโครงการวิจัยที่นำมาต่อยอดกับภาคเอกชนแล้ว ซึ่งท่อยางน้ำซึมมีคุณสมบัติที่ดีกว่าท่อน้ำทั่วไป ทั้งท่อน้ำหยดหรือท่อให้น้ำในแปลงเกษตรแบบพ่นน้ำ เพราะด้วยคุณสมบัติของยางรถยนต์ใช้แล้วผสมกับวัสดุดังกล่าวทำให้ท่อมีรูพรุนและสามารถฝังลงไปในดินให้น้ำได้ถึงรากพืช ซึ่งได้ใช้หลักวิทยาศาสตร์มาคำนวณว่าพืชแต่ละต้นใช้น้ำในปริมาณเท่าไรจะให้น้ำผ่านท่อยางน้ำซึมนั้นเท่ากับจะประหยัดน้ำสำหรับทำการเกษตร


ปัจจุบันประเทศขาดแคลนน้ำยิ่งในช่วงหน้าแล้ง และยังช่วยกำจัดขยะจากยางรถยนต์ใช้แล้วซึ่งเมื่อนำไปทิ้งไม่ถูกที่กลายเป็นที่เพาะเชื้อของยุงลายที่เป็นสาเหตุของไข้เลือดออก และยังช่วยเพิ่มมูลค่าให้ยางพารา ซึ่งนอกจากนำผลิตภัณฑ์มาทำถนนได้แล้วยังต่อยอดออกมาเป็นท่อน้ำรูซึมเพื่อให้น้ำอย่างเหมาะสมในการทำเกษตร และเป็นท่อส่งปุ๋ยให้พืชได้ด้วย


นายอรุษ นวราช เลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ กล่าวว่า โจทย์สำคัญของการขับเคลื่อนระบบอาหารอินทรีย์ คือการสร้างคนการบริหารจัดการความรู้ และการถ่ายทอดองค์ความรู้ ซึ่งจากการทำงานกับทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้บริโภค ภายใต้กรอบโซเชียล มูฟเมนต์ มาร์เกตติ้ง ( Social Movement Marketing) ให้ความสำคัญกับการสร้างแรงบันดาลใจการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การลงพื้นที่จริงเพื่อลงมือทำจริงและการแชร์เส้นทางของการเรียนรู้ ซึ่งทั้ง 4 ส่วนนี้เป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนาและการขับเคลื่อน ทั้งนี้ภายใต้ สามพราน อะคาเดมี (Sampran Model Academy) ที่ ได้มีการก่อตั้งขึ้นเมื่อปลายปีที่แล้วให้เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้ที่เกิดขึ้นตลอดห่วงโซ่ จึงมีความพร้อมและยินดีที่จะได้ร่วมกับคณาจารย์ของ สจล.เพื่อบูรณาการความรู้ร่วมกัน

Shares:
QR Code :
QR Code