ยกระดับอาหารริมทาง ขยายพื้นที่ต้นแบบทุกจังหวัด
ที่มา : มติชน
แฟ้มภาพ
เปิดงานมหกรรมอาหารริมบาทวิถีปลอดภัย คนไทยสุขภาพดี เพลิดเพลินวัฒนธรรมอีสาน ถนนคนเดินเซราะกราว เทศบาลเมืองบุรีรัมย์ อำเภอเมืองบุรีรัมย์ จังหวัดบุรีรัมย์ ตามนโยบายการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถีของประเทศไทย (Kick off Street Food Thailand) ภายใต้โครงการพัฒนาการจัดการอาหารริมบาทวิถีปลอดภัย สร้างเสริมสุขภาพ และสนับสนุนการท่องเที่ยวไทย
นายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า สธ. มีนโยบายยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถีให้ได้มาตรฐาน ทั้งในด้านสุขอนามัย และด้านความปลอดภัยของอาหาร โดยเฉพาะอาหารริมบาทวิถี ร้านค้า แผงลอย ที่ปัจจุบันมักพบว่าประชาชนนิยมบริโภค เนื่องจากหาซื้อได้ง่าย และมีราคาประหยัด ที่สำคัญอาหารริมบาทวิถีตามแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย ยังเป็นหนึ่งในเป้าหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติในการเดินทางมาบริโภค ซึ่งแต่ละพื้นที่มีวัฒนธรรมของอาหารแตกต่างกัน
"สธ.ตั้งเป้ายกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถีต้นแบบ 30 แห่งทั่วประเทศ และจะขยายพื้นที่ให้ครบทุกจังหวัดในปี 2564 โดยกำหนดให้มีการพัฒนาและขยายพื้นที่ดำเนินการดังนี้
1.ให้รักษามาตรฐานต้นแบบอาหารริมบาทวิถี โดยใช้ป้ายสัญลักษณ์ อาหารปลอดภัย ใส่ใจสุขภาพ ซึ่งได้พัฒนาตามเกณฑ์มาตรฐานอาหารริมบาทวิถี 4 มิติ คือมิติด้านสุขภาพ มิติด้านเศรษฐกิจ มิติด้านสังคม และมิติด้านวัฒนธรรม 2.ให้เพิ่มพื้นที่ในการจำหน่ายอาหารประเภทผัก ผลไม้ที่สะอาดปลอดภัย เพื่อส่งเสริมการบริโภคอาหารที่มีคุณค่าด้านโภชนาการ ใช้เกลือเสริมไอโอดีนในการปรุงประกอบอาหาร และส่งเสริมให้ประชาชนบริโภคผักผลไม้อย่างเพียงพอ 400 กรัมต่อวัน และ 3.ให้มีการพัฒนานวัตกรรมด้านสุขาภิบาลอาหาร เช่น การปกปิดอาหาร การสร้างต้นแบบของพื้นที่ดำเนินงานอาหารริมบาทวิถีที่ได้มาตรฐาน
โดยอาศัยระบบและกลไกในการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายในระดับพื้นที่ในการจัดการพื้นที่ดำเนินงานอาหารริมบาทวิถีและยกระดับมาตรฐานอาหารริมบาทวิถีเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทยโดยให้แนวทางว่า ถนนสะอาด รสชาติอาหารอร่อย แม่ค้าถ้อยทีถ้อยอัธยาศัย ถูกใจราคา รักษาไว้วัฒนธรรม" ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วย สธ.กล่าว