ยกระดับงานประจำสู่การวิจัยพัฒนาระบบสาธารณสุขยั่งยืน ด้วย R2R
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ
ภาพประกอบจาก สสส.
ปัญหาจากการทำงานเกิดขึ้นแทบทุกองค์กร เช่นเดียวกับในระบบสาธารณสุข ทั้งในด้านบุคลากร ผู้ป่วย เครื่องมือ สถานที่ และอื่น ๆ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยที่เป็นปัญหาซึ่งพบได้จากการทำงานประจำ หากนำปัญหาเหล่านั้นมาวิจัยเพื่อให้ได้คำตอบก็สามารถเป็นแนวทางนำกลับมาแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้นได้
เพื่อเป็นประโยชน์ในการขับเคลื่อน ระบบสุขภาพ จึงเป็นที่มาของพิธีลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ ในการดำเนินงานสนับสนุนการพัฒนา งานประจำสู่งานวิจัย (R2R) ระดับประเทศ ระหว่าง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
กระทรวงสาธารณสุข คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ที่ร่วมกันสนับสนุน และนำผลการวิจัยไปปรับปรุงกระบวนการบริการเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน ส่งเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค ฟื้นฟูและคุ้มครองผู้บริโภค
Routine to Research หรือ R2R คือ การพัฒนางานประจำสู่การวิจัยเพื่อนำมาแก้ไขปัญหา นำไปสู่การพัฒนาระบบสาธารณสุขที่ยั่งยืนและ มีประโยชน์ โดย ศาสตราจารย์คลินิก เกียรติคุณ นายแพทย์ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวง สาธารณสุข กล่าวถึง การลงนามความร่วมมือ R2R ในครั้งนี้ว่า งานประจำคือทรัพย์ที่สำคัญที่สามารถเปลี่ยนเป็นงานวิจัยที่สร้างสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้น ซึ่งงานประจำของบุคลากรทางด้านสุขภาพทั้งหมดสามารถ ตั้งคำถาม วิเคราะห์ วิจัย และนำผล กลับมา แก้ปัญหาได้ ถือเป็นการพัฒนางานให้ดียิ่งขึ้น โดยสามารถทำได้ในระบบสุขภาพ ทั้งในระดับชุมชนไปจนถึงระดับประเทศ นับว่าเป็นการพัฒนาให้เป็นแบบอย่างเพื่อให้ เกิดผลดีกับประชาชนทุกระดับ
"ตลอด 15 ปี ที่ผ่านมา มีงานวิจัยกว่า 3,000 ชิ้น ซึ่งโครงการ R2R ทำให้ประชาชนได้รับการดูแลที่ปลอดภัยมากยิ่งขึ้น เจ้าหน้าที่ที่ดูแลก็จะมีความรู้ มีความสะดวกสบายใจ และงานที่ท้าทายนำไปสู่ความมั่นคง ยั่งยืน ของระบบสาธารณสุขของประเทศได้" รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าว
ด้าน ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริม สุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงการสนับสนุนและการนำผลการวิจัยไปปรับปรุงกระบวนการบริการที่ยั่งยืนว่า สสส. ได้เห็นประโยชน์ของหลักคิดและกระบวนการ R2R ในการสร้างเสริมสุขภาพ แนวคิดดังกล่าวเริ่มต้นจากการบริการสุขภาพต่อผู้ป่วยเป็นหลัก แต่งานด้านส่งเสริมป้องกันสุขภาพนั้นยังมีข้อจำกัดอยู่ จึงได้สนับสนุนงานวิจัยกว่า 200 ชิ้น ในปี 2556 และเพิ่มขึ้นเป็น 941 ชิ้น ในปี 2561 นับว่าสัดส่วนของงานที่ไปสู่ การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคสูงขึ้นอย่างชัดเจน โดย งาน R2R นี้ยังสามารถประยุกต์ใช้กับระบบสุขภาพโดยรวมด้านอื่น ๆ ที่ให้บริการผู้ป่วยนอกเหนือจากหมอ พยาบาล แล้วนั้น ยังใช้กับการทำงานในชุมชน และการสร้างเสริมสุขภาพในพื้นที่ต่าง ๆ อีกด้วย นอกจากนี้ทางเครือข่ายและภาคีด้านการสร้างเสริมสุขภาพ ของ สสส.ได้รับเอาแนวคิด R2R ไปขยายผล รวมไปถึงการสนับสนุนวิชาการ เรื่องฐานข้อมูล เว็บไซต์ วารสารวิชาการต่าง ๆ ในอนาคตเช่นกัน
"การสนับสนุนของ สสส. เปรียบเสมือน น้ำมันหล่อลื่นให้เกิดกระบวนการพัฒนา และอำนวยความสะดวก เป็นการช่วยให้เครือข่ายเกิดกระบวนการเรียนรู้ และ การสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ซึ่งในระยะต่อไป จะพัฒนาเป็นศูนย์เรียนรู้ประจำเขตสุขภาพ ทั่วประเทศผ่านสำนักงาน ที่มีอยู่แล้วทำให้เกิดกระบวนการทำงานขึ้นในจุดต่าง ๆ" ดร.สุปรีดา กล่าว
งานวิจัยโครงการปทุมธานี พี่ช่วยน้อง พัฒนาระบบการดูแลผู้คลอดเพื่อลด ภาวะแทรกซ้อนจากการตกเลือดหลังคลอด โรงพยาบาลปทุมธานี เป็นอีกหนึ่ง ความสำเร็จที่นำหลัก R2R มาวิเคราะห์และแก้ไขปัญหา ทำให้เกิดแนวทางที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ทำให้ลดอัตราการสูญเสียไปเกือบ 100 % ซึ่ง องค์ความรู้ดังกล่าว เป็นประโยชน์ทางการแพทย์อย่างยิ่ง โดย พว.พรทิพย์ คะนึงบุต หัวหน้างานห้องคลอด โรงพยาบาลปทุมธานี ในฐานะหัวหน้าโครงการวิจัย เล่าถึงสิ่งที่เจอว่า ได้พบ ผู้คลอด ตกเลือดหลังคลอดแล้วเสียชีวิต ซึ่งเป็นเรื่องที่สูญเสียสำหรับญาติ รวมถึงเจ้าหน้าที่ ผู้ที่เกี่ยวข้องก็รู้สึก สูญเสียเช่นกัน จึงคิดพัฒนาระบบ โดยร่วมกับโรงพยาบาลระดับชุมชน และช่วยผลักดันให้เกิดเป็นนโยบายในการปฏิบัติทุกโรงพยาบาล มีการติดตามการดำเนินงานและจัดอบรมกับโรงพยาบาล ชุมชน ซึ่งผลจากการปฏิบัติงานดังกล่าว สามารถช่วยเหลือคนไข้ได้ทันและสามารถลดการสูญเสียได้อีกด้วย
"R2R เป็นงานที่ทำแล้วมีความสุข สามารถแก้ปัญหางานประจำที่ทำอยู่ และที่สำคัญเมื่อทำการวิจัยแล้วมีองค์กรยอมรับ พร้อมที่จะสนับสนุน หากเราไม่มีข้อมูลที่ชัดเจน หรือองค์ความรู้พอ ก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรต่าง ๆ ซึ่งผลลัพธ์ของการทำงานก็ดีขึ้น ส่งผลให้คนทำงานมีความสุข และไม่รู้สึกเหนื่อยกับสิ่งที่ทำนั่นเอง" พว.พรทิพย์ กล่าว