มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถล่มสคบ.

ออกกฎอุ้มโฆษณาแฝงทีวีให้ถูกกม.

 

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ถล่มสคบ.

          นางอัญญาอร พานิชพึ่งรัถ ประธานเครือข่ายครอบครัวเฝ้าระวังและสร้างสรรค์สื่อ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เปิดเผยถึงกรณีที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้พิจารณาร่างแนวทางเรื่องการปรากฏเห็นสินค้าในรายการโทรทัศน์ไม่ถือว่าเป็นการโฆษณาแฝง ว่า จากการสำรวจความคิดเห็นเรื่อง “ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อโฆษณาแฝง” กับกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 12-70 ปี ระหว่างวันที่ 13-14 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จำนวน 232 คน พบว่า ส่วนใหญ่กว่าร้อยละ 72 ไม่เห็นด้วยกับร่างแนวทางของ สคบ. ที่ให้สามารถปรากฏเห็นสินค้าในรายการโทรทัศน์ได้โดยไม่ถือว่าเป็นการโฆษณาแฝง ส่งผลให้มีโฆษณาแฝงเกิน 12.30 นาทีต่อชั่วโมง ตามที่กฎหมายระบุไว้ โดยมีกลุ่มตัวอย่างเพียง ร้อยละ 37.1 เท่านั้นที่ทราบว่ามีกฎหมายคุมปริมาณโฆษณาแฝงดังกล่าว

 

          นางอัญญาอร กล่าวว่า มีกลุ่มตัวอย่างที่เคยเห็นโฆษณาแฝงในละครมากถึงร้อยละ 72.8 รองลงมาเคยเห็นโฆษณาแฝงในซิทคอมร้อยละ 72.4 และเคยเห็นโฆษณาแฝงในเกมโชว์ ร้อยละ 69.4 เคยเห็นโฆษณาแฝงในข่าวร้อยละ 53.9 เคยเห็นโฆษณาแฝงในสารคดีร้อยละ 23.3 เคยเห็นโฆษณาแฝงในรายการเด็กร้อยละ 35.8 และเคยเห็นโฆษณาแฝงในรายการอื่นๆ ร้อยละ 3

 

          “กลุ่มตัวอย่างเกือบ 2 ใน 3 หรือประมาณร้อยละ 65.1 คิดว่าโฆษณาแฝงในรายการโทรทัศน์ต่างรุกล้ำสิทธิของผู้บริโภค โดยกลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมด หรือร้อยละ 97 คิดว่าโฆษณาแฝงในเนื้อหารายการโทรทัศน์ หวังผลประโยชน์ทางธุรกิจ และร้อยละ 86.2 ยอมรับว่าโฆษณาแฝงเป็นปัญหาและคิดว่าควรเปิดเผยข้อมูลรายได้จากโฆษณาแฝง และการตรวจสอบทางการเงิน ตลอดจนระบบการเสียภาษีให้หน่วยงานรัฐ ทั้งนี้ การที่สคบ.ผลักดันเรื่องนี้ถือว่าไม่เป็นการพยายามแก้ปัญหา ในทางกลับกันจะยิ่งทำให้โฆษณาแฝงนี้มีความถูกต้อง ชอบธรรมตามกฎหมาย และยังจะทำให้มีโฆษณาแฝงมากขึ้นกว่าที่เคยมี” นางอัญญาอรกล่าว

 

          น.ส.กรรณิการ์ กิจติเวชกุล กรรมการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ในการประชุมร่วมกับ สคบ.ครั้งล่าสุด ตนได้เสนอให้แนบท้ายข้อความในร่างแนวทางฯที่จะต้องเสนอให้นายสาทิตย์ลงนามว่า ร่างแนวทางฯจะต้องไม่มีผลผูกพันกับกฎหมายใดๆ ในอนาคตทั้งสิ้น เพราะเกรงว่าจะถูกใช้เป็นบรรทัดฐานในการออกกฎหมายควบคุมโฆษณาแฝงในอนาคต ซึ่งปัจจุบันไทยมีโฆษณาแฝง 12.30 นาที ถือว่ามากเกินไปแล้ว ซึ่งไม่มีที่ใดในโลกทำ ซึ่งอนาคตอาจจะมีมากขึ้นกว่านี้ได้

 

          “นอกจากนี้ ยังให้ระบุว่า ผู้บริโภคสามารถฟ้องร้องได้ หากมีการโฆษณาแฝงเกินกว่าเวลาที่กฎหมายระบุ ซึ่งขณะนี้ทางภาคประชาชนกำลังหารือทางประเด็นกฎหมายเพื่อดำเนินการฟ้องร้องต่อไป เพราะเรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องผิดกฎหมายชัดเจน แต่ สคบ.พยายามทำให้เป็นเรื่องถูกกฎหมาย” น.ส.กรรณิการ์กล่าว

 

 

 

 

 

 

 

ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน

 

 

 

update: 23-11-52

อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร

Shares:
QR Code :
QR Code