มุ่งสู่องค์กรสุขภาวะด้วย "MapHR"

        กลายเป็นสังคมอุดมคติใหม่ที่ทำได้จริง กับการทำงานอย่างเป็นสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ไปพร้อมๆ กัน  ด้วยแนวคิด "องค์กรสุขภาวะ" หรือ "Happy Workplace" ที่ สำนักสนับสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำมาเผยแพร่และขยายผลจนประสบความสำเร็จในสังคมไทย


/data/content/25454/cms/e_dhmrswy14689.png


          ด้วยเพราะมีเครื่องมือปฏิบัติงานที่หลากหลาย ให้แต่ละองค์กรหรือบริษัทสามารถหยิบนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับตัวเอง ซึ่งหนึ่งในเครื่องมือที่น่าสนใจ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของพนักงาน และนำองค์กรไปสู่ความสำเร็จบนเส้นทางการเป็นองค์กรสุขภาวะได้นั้น คือ "MapHR" ของ โครงการพัฒนาดัชนีสุขภาวะองค์กรและสร้างเสริมศักยภาพการพัฒนาองค์กรสุขภาวะ หรือ Happy Workplace Index  กับบทบาทหน้าที่เผยแพร่องค์ความรู้ในเรื่อง "ตรวจสอบสุขภาวะองค์กร"


          โดยทางคณะทำงานโครงการฯ ได้ทำการศึกษา ด้วยการสังเคราะห์กิจกรรมสร้างสุขขององค์กรสุขภาวะต้นแบบในปี พ.ศ. 2553 เพื่อสร้างชุดดัชนีตรวจสอบสุขภาวะองค์กร  ซึ่งก็พบว่าดัชนีสุขภาวะองค์กรนั้นประกอบด้วยปัจจัยที่สำคัญ 5 มิติ คือ 1.ระบบการจัดการ หรือ M: Management 2.บรรยากาศและสภาพแวดล้อม A: Atmosphere & Environment 3.กระบวนการสร้างสุขในองค์กร P: Process 4.สุขภาพกายและสุขภาพใจ H: Health และ 5.ผลลัพธ์ขององค์กร R: Result และแปรเป็นคำถามเพื่อสอบถามข้อมูลทั้งหมด 37 ข้อให้แต่ละองค์กรไปสำรวจตัวเอง


          ทั้งนี้ค่าดัชนีสุขภาวะองค์กรที่ได้ จะแสดงถึงระดับการจัดการทรัพยากรที่เอื้อให้เกิดความสุขบนฐานของสุขภาพ ที่สมบูรณ์ครอบคลุมทั้งกาย ใจ สังคม และปัญญาของบุคลากรในองค์กร


          อย่างไรก็ดี แม้ชุดตรวจสอบสุขภาวะองค์กร จะมีคุณภาพเหมาะสมสำหรับการนำมาใช้เป็นเครื่องมือสนับสนุนการสร้างเสริมองค์กรแห่งความสุข ทว่า จากการดำเนินงานที่ผ่านมา นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับสุขภาวะองค์กร หลายคนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับ "เรื่องความสุข" ทั้งในระดับพนักงานและระดับองค์กร รวมไปถึงขาดทักษะที่ดีในการตรวจสอบสุขภาวะองค์กรและการออกแบบกระบวนการสร้างสุข ที่สอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทในองค์กร


          จึงเป็นที่มาของการพัฒนาโปรแกรมสร้างเสริมศักยภาพ ด้านการตรวจสอบสุขภาวะองค์กร และการออกแบบกระบวนการสร้างสุขให้กับผู้บริหาร นักพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และผู้รับผิดชอบงานสร้างสุขในองค์กรในอีก  5  ขั้นตอน  ประกอบด้วย  1.สร้างภาพฝันองค์กรแห่งความสุข Happy Workplace Vision 2.ศึกษาองค์กร Workplace Diagnosis 3.ออกแบบกระบวนการสร้างสุขในองค์กร MapHR Design 4.ดำเนินงานสร้างสุขในองค์กร Implementation และ 5.สรุปการเรียนรู้และแลกเปลี่ยน Learn & Share ซึ่งกระบวนการทั้ง 5 จะสัมฤทธิ์ผลได้ก็ต่อเมื่อแต่ละองค์กรผ่านการอบรมและทำกิจกรรม ในระยะเวลา 3 วัน 2 คืน


          ซึ่งผู้ที่ผ่านการอบรมจะกลายเป็น "นักสร้างสุของค์กร" ที่ช่วยขับเคลื่อนงานสร้างสุขให้เพื่อนร่วมงาน ด้วยแนวคิดการสร้างสุขเชิงบวก และศักยภาพที่มีมากขึ้นในการพัฒนาองค์กรสุขภาวะอย่างเข้าใจ และด้วยจำนวนนักสร้างสุขที่มากขึ้นจากต้นทางเพียง 500 คน ได้ผลิดอกออกผลขยายเพิ่ม จนกลายเป็น "ชุมชนนักสร้างสุของค์กร" พื้นที่แลกเปลี่ยนและเรียนรู้เทคนิควิธีการระหว่างองค์กร ในการก้าวไปสู่การเป็นองค์กรสุขภาวะ ที่พร้อมขยายผลการเป็นองค์กรแห่งความสุขแก่หน่วยงานอื่น ๆ ต่อไป


          สำหรับองค์กร บริษัท หรือหน่วยงานใดที่สนใจนำหลัก MapHR ไปพัฒนาสร้างสุขในที่ทำงาน สามารถสออบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.happy-workplace.com ส่วนเกณฑ์การคัดเลือกผู้เข้าร่วมอบรมเพื่อเป็นนักสร้างสุข ทางโครงการ Happy Workplace Index แจ้งว่า ต้องเป็น องค์กรหรือหน่วยงานที่มีข้อมูลในฐานข้อมูลตรวจสอบสุขภาวะองค์กร และมีความยินดีที่พร้อมจะนำเครื่องมือMapHR ไปใช้ในการพัฒนาปัจจัยและกิจกรรมที่เอื้อให้เกิดความสุขในองค์กร


 


 


       ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Shares:
QR Code :
QR Code