มีปัญหาพฤติกรรมตอนเด็ก
โตขึ้นเสี่ยงปวดเรื้อรังทั่วตัว
บีบีซีนิวส์ – งานศึกษาระบุเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม มีแนวโน้มมากขึ้นสองเท่าที่จะมีอาการปวดเรื้อรังทั่วตัวเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอะเบอร์ดีนในสกอตแลนด์ ที่ติดตามผลเด็ก 19,000 คน เชื่อว่าสัญญาณฮอร์โมนที่ผิดปกติในสมองอาจเป็นต้นเหตุของเรื่องนี้
ประสบการณ์เลวร้ายในช่วงเริ่มต้นชีวิตอาจทำอันตรายต่อระบบสมอง นำไปสู่ปัญหาพฤติกรรมในวัยเด็กและความเจ็บปวดแพร่กระจายและเรื้อรังในวัยผู้ใหญ่
รายงานที่อยู่ในวารสารรูมาโทโลจี้แจกแจงว่า เด็กทุกคนในการศึกษาเกิดปี 1958 โดยส่วนใหญ่อยู่ในสหราชอาณาจักร ตลอดเวลาที่ทำการศึกษา พ่อแม่และครูจะประเมินพฤติกรรมของเด็กโดยพิจารณาจากสัญญาณ ‘ปัญหา’ เช่น ไม่ค่อยมีเพื่อน ดื้อ ลักขโมย ชอบดูดนิ้วและกัดเล็บ โกหก เกเร และหนีเรียน
เมื่อมีอายุ 42 ปี นักวิจัยจะให้กลุ่มตัวอย่างเหล่านี้ทำแบบสอบถามเกี่ยวกับความเครียดทางจิตใจ และเมื่ออายุ 45 ปี ก็จะเป็นการสอบถามเกี่ยวกับความเจ็บปวด
จากผลลัพธ์ที่ได้ นักวิจัยพบว่าผู้ที่มีปัญหาพฤติกรรมรุนแรงในตอนเป็นเด็ก มีความเสี่ยงที่จะมีอาการปวดเรื้อรังทั่วตัวเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า
ดร.ตงปัง นักวิจัยของมหาวิทยาลัยอะเบอร์ดีน และเป็นผู้นำการจัดทำรายงาน กล่าวว่าแม้รู้กันมานานแล้วว่าประสบการณ์เลวร้ายวัยเด็ก เช่น การเข้าโรงพยาบาลหลังประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ หรือการต้องแยกจากกับแม่ มีส่วนเกี่ยวพันกับอาการปวดเรื้อรังทั่วตัวเมื่อโตขึ้น แต่การวิจัยนี้เปิดเผยเป็นครั้งแรกว่าปัญหาพฤติกรรมในวัยเด็กก็มีผลระยะยาวต่อการเจ็บปวดนี้
นอกจากนั้น ยังทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ในวัยผู้ใหญ่ เป็นต้นว่า ปัญหาทางจิตในระยะยาว อย่างเช่น อาการซึมเศร้า กังวล และการใช้สารเสพติด โดยปัญหาเหล่านี้อาจเป็นผลจากห่วงโซ่การเคลื่อนไหวที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของสมองส่วน hypothalamic-pituitary-adrenal axis หรือ hpa ที่ผลิตฮอร์โมนที่ควบคุมการตอบสนองต่อสถานการณ์ตึงเครียด
ที่มา : หนังสือพิมพ์ astv ผู้จัดการ
update 22-03-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : วีระ วานิชเจริญธรรม