มากกว่าอาหาร ‘ออร์แกนิก ทัวริซึ่ม’

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์


ภาพประกอบจากเว็บไซต์เดลินิวส์


มากกว่าอาหาร 'ออร์แกนิก ทัวริซึ่ม' thaihealth


เดินทางมากว่า 1 ปี แล้ว ของวิสาหกิจเพื่อสังคม ฟู้ดแล็บหรือ แล็บอาหารยั่งยืน ประเทศไทย ได้ร่วมกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ขับเคลื่อน ออร์แกนิก ทัวริซึ่ม หรือ การท่องเที่ยววิถีอินทรีย์เพื่อสร้างระบบอาหารสมดุล ภายใต้การสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) บนพื้นฐานแนวคิดธุรกิจเกื้อกูลสังคม และหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง


โดยชวนผู้ประกอบการธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม ร้านอาหาร ในกรุงเทพฯ และเชียงใหม่ มาร่วมเรียนรู้ และร่วมขับเคลื่อน เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นตลอดระบบนิเวศอินทรีย์ โดยใช้องค์ความรู้ ของสามพรานโมเดล ซึ่งมีการขับเคลื่อนเชื่อมโยงกับคนต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ เพื่อสร้างชีวิตที่สมดุล มาอย่างต่อเนื่องกว่า 7 ปี


รูปแบบการขับเคลื่อนออร์แกนิก ทัวริซึ่ม ที่ผู้ผลิตคือเกษตรกรและผู้บริโภคคือธุรกิจท่องเที่ยว ได้มาทดลองเรียนรู้และทำงานร่วมกัน นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเป็นครั้งแรกในโลก เป้าหมายสำคัญคือการสร้างระบบอาหารสมดุล ซึ่งจากสถิติแต่ละปีมีนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศที่หมุนเวียนเดินทางไปใช้บริการโรงแรม ร้านอาหาร ที่พัก และแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ในประเทศไทย จำนวนมากกว่าปีละ 100 ล้านคน


"สิ่งที่เราพยายามย้ำให้ทุกแห่งเข้าใจคือ แนวคิดการขับเคลื่อนการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์เพื่อสร้างระบบอาหารสมดุล หรือ ออร์แกนิก ทัวริซึ่ม นั้นมิใช่เพียงเป็นเรื่องของการพานักท่องเที่ยวลงไปเที่ยวฟาร์มอินทรีย์เท่านั้น แต่เป็นการสร้างวิถีการมีส่วนร่วมหรือ Change Agent วิถีอินทรีย์ให้เกิดขึ้น ซึ่งโรงแรม ร้านอาหาร แต่ละแห่ง ที่จะออกนอกกรอบเดิม ๆ แล้วเข้ามีส่วนร่วม ร่วมขับเคลื่อนการท่องเที่ยววิถีอินทรีย์เพื่อสร้างระบบอาหารสมดุลอินทรีย์ ที่ให้คุณค่ามากกว่าการบริโภค แต่ยังช่วยให้เกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ไม่ใช้สารเคมี ไม่เป็นหนี้ มีสุขภาพดี และสิ่งแวดล้อมดี" อรุษ นวราช หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ฟู้ดแล็บ และเลขานุการมูลนิธิสังคมสุขใจ


มากกว่าอาหาร 'ออร์แกนิก ทัวริซึ่ม' thaihealth


ปัจจุบันมีโรงแรม ร้านอาหาร ชั้นนำในกรุงเทพมหานคร มาร่วมขับเคลื่อน ออร์แกนิก ทัวริซึ่ม อาทิ โรงแรม ดิแอทธินี โรงแรม อนันตราสยาม โรงแรม เดอะสุโกศล ร้านอาหารเอส แอนด์ พี เอ็มเค เรสโตรองต์ โดยเริ่มจากการที่ผู้บริหาร ฝ่ายจัดซื้อ และส่วนงานที่เกี่ยวข้องของแต่ละแห่ง ลงพื้นที่มาเรียนรู้ มาทำความเข้าใจเกษตรกรอินทรีย์เข้าใจข้อจำกัดของการผลิต เข้าใจคุณค่าของพืชผักที่ปลูกในระบบอินทรีย์


ขณะที่ในเชียงใหม่ มี โรงแรม บูที ร้านอาหารที่สนใจเรื่องอาหารอินทรีย์อยู่แล้ว สนใจมาร่วมขับเคลื่อน อาทิ โรงแรมแทมมาริน โรงแรม รายาเฮอริเทจ รีสอร์ท โรแรม 137 พิลล่าร์เฮาส์ โรงแรม ครอสทู โดยมีวิสาหกิจเพื่อสังคม "เจียงใหม่ออร์แกนิก" ทำหน้าที่ประสานงานให้ ผู้บริหาร และเชฟ มาเรียนรู้ร่วมกัน และทำงานร่วมกัน โดยนอกจากการพาลงพื้นที่ไป เจอเกษตรกรอินทรีย์ตัวจริงก็มีการสร้างสรรค์กิจกรรม Organic Chef's Table เชิญเชฟของ โรงแรม ร้านอาหาร ในโครงการมาทำงานร่วมกันในการสร้างสรรค์เมนูออร์แกนิก จากพืชผักพื้นบ้าน พืชผักตามฤดูกาล


มากกว่าอาหาร 'ออร์แกนิก ทัวริซึ่ม' thaihealth


"บริษัทมีแนวคิดว่าไม่ได้ทำธุรกิจเพื่อกำไรอย่างเดียว แต่ต้องการให้พนักงานและชุมชนมีความสุขไปด้วยกัน คุยกันหลายครั้งกว่าจะสำเร็จ เราอยากทำให้สังคมยั่งยืน ทุกวันนี้ซื้อผลผลิตจากเจโม หรือสหกรณ์ โรงแรมแทมมารินใช้พืชผักอินทรีย์ 10  เปอร์เซ็นต์ ส่วนโรงแรมรายาเฮอริเทจใช้  80-90  เปอร์เซ็นต์" ธงไชย ชูน้ำเที่ยง ผู้จัดการฝ่ายอาหารและเครื่องดื่ม รร.แทมมาริน วิลเลจ เล่าถึงขั้นตอนในช่วงเปลี่ยนผ่าน หลังจากเข้ารับการอบรมจากสามพรานโมเดลว่า


"พนักงานเป็นลูกเกษตรกร หลังจากได้ไปเรียนรู้พอกลับมาทำงานก็ไม่ต่อต้านแล้ว รู้สึกสนุก ฤดูนี้มีผักกาดจอออกเยอะ ก็ทำเมนูเกี่ยวกับผักกาดจอ 1-2 เดือนตามผลผลิต พอผักหมดฤดูก็เปลี่ยนเป็นอย่างอื่น เชฟก็รู้สึกดี ภาคภูมิใจว่าได้คิดเมนูเพื่อลูกค้า ก่อนนี้ไม่ได้คุยกับลูกค้า ตอนนี้เชฟเริ่มถามว่า วันนี้ทานฝรั่งหรือยัง เป็นออร์แกนิก นะ พรุ่งนี้ไม่มี แล้วทานผักเชียงดาผัดใส่ไข่หรือยัง วันพรุ่งนี้ไม่มีนะ"


มากกว่าอาหาร 'ออร์แกนิก ทัวริซึ่ม' thaihealth


ในการขับเคลื่อน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้การขับเคลื่อน ออร์แกนิก ทัวริซึ่ม นั้นไม่สะดุด ต่อเนื่อง ต่อยอดได้ ก็คือ อุดมการณ์ ของคนขับเคลื่อน จึงมีการจัดกิจกรรมทัวร์ เดอ ฟาร์ม (Tour De Farm) สืบจานเมนูอินทรีย์นี้มาจากไหน พาผู้บริโภคลูกค้าของร้านอาหารอิ่มเอม ลงพื้นที่ไปพบ คุณโจน จันใด แห่งสวนพันพรรณ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เพื่อให้ได้เห็นถึงมิติและคุณค่าของอาหารอินทรีย์ที่เป็นมากกว่าอาหาร แต่หมายถึงอุดมการณ์ วิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม


ปัจจุบัน ได้มีการตั้งสามพรานโมเดล อะคาเดมี่ เพื่อรวบรวมองค์ความรู้ ด้วยการสมัครเป็น Organic Social Mover ที่จะมีการใช้ แอพพลิเคชั่น ออนไลน์ ในการส่งข้อมูลข่าวสาร และเชื่อมต่อให้ทุกคนที่สนใจมามีส่วนร่วม.

Shares:
QR Code :
QR Code