มะนาวช่วยเลิกบุหรี่ได้!!!

ชี้วิตามินซีมีสารช่วยลด ความอยากนิโคติน

 มะนาวช่วยเลิกบุหรี่ได้!!!

          พบคุณวิเศษมะนาวกินเลิกบุหรี่ได้  ชี้ในวิตามินซีมีสารช่วยลดความอยากนิโคติน  ทั้งทำให้รสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไป  เผยผลทดลองในนักเรียนได้ผลดี  สามารถเลิกบุหรี่ได้ภายใน  2  สัปดาห์

 

          ผศ.กรองจิต วาทีสาธกกิจ ที่ปรึกษามูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  กล่าวในการประชุมวิชาการ  “บุหรี่กับสุขภาพแห่งชาติ”  ครั้งที่7 เรื่อง  “เยาวชนรุ่นใหม่ ร่วมใจต้านภัยบุหรี่”  จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ  (สสส.) และศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ  (ศจย.)  ว่า จากผลการวิจัยพบในวิตามินซีจะมีสารที่ช่วยลดความอยากนิโคตินได้ และช่วยฟื้นฟูร่างกายที่ทรุดโทรมให้สดชื่นกระปรี้กระเปร่า จึงมีการนำไปใช้เพื่อช่วยเลิกบุหรี่ โดยเทคนิคการรับประทานผลไม้รสเปรี้ยวที่มีวิตามินซีสูง โดยเฉพาะมะนาวพบว่าเมื่อนำไปใช้แล้วมีประสิทธิภาพได้ผลดีมาก เนื่องจากมะนาวมีผลต่อการทำงานของต่อมรับรสขม  ทำให้รสชาติของบุหรี่เปลี่ยนไป

 

          ผศ.กรองจิตกล่าวว่าวิธีการกินมะนาวช่วยเลิกบุหรี่ต้องหั่นมะนาวเป็นชิ้นเล็กๆ  ให้มีเปลือกติดมาด้วย ขนาดเท่าหัวแม่โป้ง หรือพอคำ  เมื่อมีความรู้สึกอยากสูบบุหรี่ให้กินมะนาวแทน  โดยอมแล้วค่อยดูดความเปรี้ยว  จากนั้นเคี้ยวเปลือกอย่างช้าๆ  นาน  3-5  นาที  จะมีผลทำให้ลิ้นขม เฝื่อน  จากนั้นดื่มน้ำ  1  อึก  นอกจากช่วยลดความอยากนิโคตินแล้ว  เมื่อสูบบุหรี่จะทำให้รสชาติบุหรี่เปลี่ยนเป็นขมจนไม่อยากสูบ และสามารถกินมะนาวหรือผลไม้ชนิดอื่นที่มีความเปรี้ยวมากๆ  ได้ทุกครั้งที่เกิดความอยากบุหรี่  แต่เมื่อเทียบกันพบว่ามะนาวจะได้ผลดีที่สุด

 

          “การเลิกบุหรี่ด้วยการกินมะนาว  ส่วนใหญ่จะสามารถเลิกบุหรี่ได้ภายใน  2  สัปดาห์  และไม่อยากบุหรี่อีก ถือว่าชนะนิโคตินได้ มีการนำไปทดลองกับนักเรียน  หลายคนที่ได้ทดลองวิธีนี้จะรู้สึกว่าสูบบุหรี่แล้วไม่อร่อย รสชาติไม่เหมือนเดิม ทำให้ไม่อยากสูบบุหรี่อีก  อย่างไรก็ตาม  แม้อาการทางกาย  คือความอยากจะหมดไป แต่อาการทางใจบางครั้งจะยังมีอยู่  เช่น  เศร้า  หงุดหงิดเหมือนคนอกหัก คนรอบข้างต้องให้กำลังใจ  และตั้งใจเลิกอย่างเด็ดขาดจะสามารถเลิกได้อย่างแน่นอน”  ผศ.กรองจิตกล่าว

 

          ด้านนางอนงค์  พัวตระกูล  อาจารย์โรงเรียนบางมดวิทยา  “สีสุกหวาดจวนอุปถัมภ์”  ซึ่งได้รับรางวัลควบคุมยาสูบแห่งชาติ ประเภทสถานศึกษาปลอดบุหรี่ กล่าวว่าจากการทำค่ายลดละเลิกบุหรี่ โดยนำนักเรียนที่สูบบุหรี่จำนวน 75  คนมาทำกิจกรรม  โดยให้ความรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ และให้เด็กใช้เวลาในการเลิกบุหรี่อย่างจริงจังประมาณ  3-7  วัน  รวมทั้งใช้วิธีการเคี้ยวมะนาวเพื่อช่วยลดความอยากสูบบุหรี่  พบว่าร้อยละ  75  จะสูบเป็นครั้งคราว  เมื่อผ่าน 2  สัปดาห์  จะมีเด็กที่เลิกสูบเด็ดขาดร้อยละ  50  และภายใน  1  ปีมีเด็กเพียงร้อยละ  30  ที่กลับไปสูบอีก โดยปัจจัยเสริมที่ทำให้เลิกได้ พบว่า หากเป็นเด็กที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองสูงก็จะเลิกง่ายกว่าเด็กที่หัวอ่อนตามเพื่อน

 

          “ภาย 2 สัปดาห์พบว่าการติดตามพฤติกรรมร่วมกับการใช้มะนาวช่วยเลิกบุหรี่สามารถทำให้เด็กลดและเลิกบุหรี่ได้ นอกจากนี้ต้องมีคนให้คำปรึกษา  ให้คำแนะนำ ซึ่งโรงเรียนต้องใช้ทั้งไม้อ่อนและไม้แข็งในการดูแลเด็ก  มีการทำโทษ  แจ้งผู้ปกครอง  หรือแม้แต่การให้ไปเสียค่าปรับที่โรงพักก็เคยมี เนื่องจากการเลิกบุหรี่ในเด็กกับผู้ใหญ่มีความแตกต่างกัน ส่วนใหญ่ที่เลิกได้จริงก็จะเกิดจากความตระหนักรู้เกี่ยวกับพิษภัย และไม่กลับมาสูบบุหรี่อีกตลอดไป”  นางอนงค์กล่าว

 

          นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์  ปลัดกระทรวงสาธารณสุข  เปิดเผยว่า  ในปี  2550-2551  นี้ สธ.มีนโยบายให้สถาบันการศึกษาในสังกัดสถาบันพระบรมราชชนก เป็นต้นแบบของสถาบันการศึกษาด้านสุขภาพในการแก้ไขปัญหาบุหรี่และสุขภาพ เนื่องจากบุหรี่เป็นสาเหตุให้คนไทยตายจากโรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดหัวใจ  โรคถุงลมโป่งพอง  และเส้นเลือดในสมองแตก  หรือตีบ  รวมปีละกว่า  42,000  คน  เฉลี่ยวันละ  115  คน

 

          ดังนั้น บุคลากรและนักศึกษาของสถาบันฯ ควรมีบทบาทสำคัญในการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ และเป็นตัวอย่างที่ดีและมีความรู้ความสามารถในการส่งเสริมการไม่สูบบุหรี่ด้วย  เพื่อลดการเจ็บป่วยจากโรคที่มีสาเหตุจากการสูบบุหรี่ สธ.จึงร่วมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ นำร่องโครงการใน 6  วิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี  ใน  5  จังหวัด  คือ  ชลบุรี  ชัยนาท  ลำปาง มหาสารคาม ตรัง  และวิทยาการสาธารณสุขสิรินธร  1  แห่ง  ที่จังหวัดพิษณุโลก  เป็นวิทยาลัยต้นแบบจัดสิ่งแวดล้อมให้เป็น  “เขตปลอดบุหรี่” บรรจุเรื่องการแนะนำการเลิกสูบบุหรี่เข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอนนักศึกษา ทั้งภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ  ดำเนินการระหว่างเดือนสิงหาคม 2550-พฤษภาคม 2551 การประเมินผลพบว่าได้ผลดี  ผู้ที่สูบบุหรี่ร้อยละ  93  อยากเลิกสูบบุหรี่ ส่วนบุคลากรของสถาบันร้อยละ  98  รู้สึกสบายใจเมื่อทราบว่าวิทยาลัยเป็นเขตปลอดบุหรี่  ในปี  2552  จึงมีนโยบายขายผลเพิ่มอีก  31  แห่ง

 

 

 

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

 

 

update : 18-08-51

 

Shares:
QR Code :
QR Code