‘มอส.-สสส.’ผนึก 40 คนรุ่นใหม่ลงพื้นที่เสี่ยงไขปัญหาเด็กติดยา
“มอส.-สสส.ผนึก 40 แกนนำคนรุ่นใหม่ทั่วประเทศ ลงพื้นที่เสี่ยงไขปัญหาเด็ก เดินหน้าจัดอีก 4 ครั้ง สร้างพลังเครือข่ายเยาวชน สู้ปัญหาสังคมทั้งความรุนแรงยาเสพติด สู่การเสริมสร้างพลังเพื่อปฏิบัติการดีในพื้นที่เครือข่ายให้ตระหนักถึงปัญหาและหาทางออกของอนาคตร่วมกัน
นางเพ็ญพรรณ จิตตะเสนีย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)เปิดเผยว่า สสส.ร่วมกับมูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม (มอส.) จัดทำ “โครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงสังคม” ตั้งแต่เดือนเมษายน 2555 – สิงหาคม 2556 คัดเลือกเยาวชนระดับแกนนำ อายุ 19-27 ปี 40 คน จากหลายองค์กรทั่วประเทศ อาทิ สภาเด็กและเยาวชนองค์กรนักศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชนที่ทำงานด้านเยาวชน กลุ่มเยาวชนที่ขับเคลื่อนสังคมด้านต่างๆ เข้าร่วมส่งเสริมความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสภาพสาเหตุ และแนวทางแก้ไขปัญหา จึงต้องส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเยาวชนให้มีส่วนร่วมแสดงความคิดและทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ ในโครงการมีทั้งอบรม สัมมนา และศึกษาปัญหาในพื้นที่เสี่ยง เพื่อปลูกจิตสำนึกใหม่ในการเปลี่ยนแปลงสังคม
น.ส.ศิริพร ฉายเพ็ชร เจ้าหน้าที่ฝ่ายฝึกอบรมโครงการพัฒนาคนรุ่นใหม่ฯ มอส.กล่าวว่า โครงการนี้มีการอบรมลงพื้นที่ศึกษาปัญหาและทำกิจกรรมจิตอาสาในชุมชนต่างๆ แบ่งกลุ่มเยาวชนศึกษาปัญหา 4 มิติ ได้แก่ 1.สิทธิแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติ ที่มหาชัย จ.สมุทรสาคร 2.สิทธิคนจนเมืองและคนไร้บ้าน ที่ศูนย์คนไร้บ้านบางกอกน้อยและชุมชน (สลัม) บางกอกน้อย 3.วิถีเยาวชนเมือง และสิทธิหญิงบริการ ที่ชุมชนบางลำพูและพัฒนพงษ์ และ 4.สิทธิชุมชนกับการจัดการทรัพยากรที่ยั่งยืน เรื่องโฉนดชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย อ.คลองโยง จ.นครปฐม และการอนุรักษ์ป่าชายเลนที่บ้านแหลม จ.เพชรบุรี ซึ่งเห็นได้ชัดว่าเยาวชนเปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่าง รู้จักเชื่อมโยง และเข้าใจสังคมมากขึ้น หลายคนเกิดแรงบันดาลใจที่จะนำแนวทางการแก้ปัญหาจากการลงพื้นที่ไปปรับใช้ดำเนินการในชุมชนของตนเอง โดยจะจัดต่อเนื่องอีก 4 ครั้ง
น.ส.สุทธิดา ศักดิ์ภิญโญชัย นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนประสาทรัฐประชากิจ จ.ราชบุรี หนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ กล่าวว่า การลงพื้นที่ดุงานเรื่องโฉนดที่ดินเรียนรู้วิถีชีวิตจังหวัดเพชรบุรี ทำให้ได้เรียนรู้วิธีการทำงานและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้มีประสบการณ์ในภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะการต่อสู้ไม่ให้นายทุนมากว้านซื้อที่ดิน ซึ่งเป็นเรื่องยากมาก แต่เมื่อคนในชุมชนร่วมมือกัน มีความสามัคคี และขยายเครือข่ายที่เข้มแข็ง การต่อสู้ก็ประสบความสำเร็จ จะนำไปปรับใช้ทำงานในกลุ่มรักษ์สายชล ซึ่งตั้งขึ้นเพื่อดูแลคลองดำเนินสะดวกต่อไป
ที่มา: หนังสือพิมพ์คมชัดลึก