ปัจจัยเสี่ยงก่อมะเร็ง
ที่มา: MGR Online
แฟ้มภาพ
สธ.แจ้งผู้ที่ป่วยมะเร็งมีปัจจัยที่ก่อให้เกิดหลายด้าน หากรู้จักรักษาหรือสังเกตุตัวเองและแก้ไขทันทีมีสิทธิ์หาย
นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับต้นๆ ของประชากรไทย จากข้อมูลทะเบียนมะเร็งของประเทศไทย โดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า ผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในเพศชาย 3 อันดับแรก คือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก และผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ในเพศหญิง 3 อันดับแรก คือ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับและท่อน้ำดี โรคมะเร็งเป็นกลุ่มของโรคที่เกิดจากเซลล์ของร่างกายมีความผิดปกติที่ DNA หรือสารพันธุกรรม ส่งผลให้เซลล์มีการเจริญเติบโต มีการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนเซลล์มากกว่าปกติ ส่งผลให้เกิดก้อนเนื้อผิดปกติลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง หลอดเลือดและหลอดน้ำเหลือง ในที่สุดจะทำให้เกิดการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่นๆ ส่งผลให้การทำงานของอวัยวะเหล่านั้นผิดปกติ
นพ.ธีรพล กล่าวว่า ปัจจัยเสี่ยงต่อการเป็นโรคมะเร็งที่สำคัญ 3 ประการ คือ 1. ปัจจัยจากสิ่งแวดล้อมภายนอกร่างกาย เช่น สารก่อมะเร็งที่ปนเปื้อนในอาหาร อากาศ เครื่องดื่ม ยารักษาโรค รวมทั้งการได้รับรังสี เชื้อไวรัส เชื้อแบคทีเรียและพยาธิบางชนิด 2. ปัจจัยจากพฤติกรรม เช่น การสูบบุหรี่ ดื่มสุรา การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูงหรือเค็มจัด อาหารที่มีส่วนผสมดินประสิวและไหม้เกรียม 3. ปัจจัยทางพันธุกรรม เช่น ความผิดปกติของยีน และความบกพร่องของระบบภูมิคุ้มกัน ปัจจุบันแพทย์สามารถรักษามะเร็งหลายชนิดให้หายได้ และทำให้ผู้ป่วยมะเร็งมีอัตรารอดชีวิตที่ยาวนานมากขึ้น ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชนิดของมะเร็ง ระยะของมะเร็งที่พบ เพราะมะเร็งระยะเริ่มแรกมีการตอบสนองต่อการรักษา และมีโอกาสหายขาดมากกว่าระยะลุกลาม ดังนั้น การตรวจค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรกจึงมีความสำคัญมาก ส่งผลให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นเนื่องจาก “รู้เร็ว รักษาหายได้”
นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า สัญญาณอันตราย 7 ประการที่พึงระวัง ว่า มีโอกาสเป็นมะเร็งได้โดย เฉพาะมีอาการนานกว่า 2 สัปดาห์ ได้แก่ 1. มีการเปลี่ยนแปลงของระบบขับถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ เช่น ถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ หรือปัสสาวะเป็นเลือด 2. กลืนอาหารลำบาก หรือมีอาการเสียด แน่นท้องเป็นเวลานาน 3. มีอาการเสียงแหบและไอเรื้อรัง 4. มีเลือดออกผิดปกติจากทวารต่างๆ 5. เป็นแผลรักษาแล้วไม่ยอมหาย 6. มีการเปลี่ยนแปลงของหูดหรือไฝตามร่างกาย และ 7. มีก้อนตุ่มที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย สำหรับการป้องกันโรคมะเร็ง มีหลักการง่ายๆ คือ ออกกำลังกายเป็นประจำ ทำจิตแจ่มใส กินผักผลไม้อย่างน้อยครึ่งหนึ่งของมื้ออาหาร กินอาหารให้หลากหลาย ไม่ซ้ำซาก จำเจ และใหม่สด สะอาด ปราศจากเชื้อรา ไม่กินอาหารที่มีไขมันสูง อาหารปิ้งย่าง หรือทอดไหม้เกรียม อาหารหมักดองเค็ม และปลาน้ำจืดที่มีเกล็ดดิบๆ รวมทั้งไม่สูบบุหรี่ ไม่ดื่มสุรา ไม่มีเซ็กซ์มั่วหรือไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย ไม่อยู่กลางแดดนานๆ และที่สำคัญคือตรวจร่างกายเพื่อค้นหามะเร็งระยะเริ่มแรกเป็นประจำอย่างน้อยปีละครั้ง