‘มหิดล’ แนะทำโมบายอาหาร
‘มหิดล’ แนะทำโมบายอาหาร
รศ.วิสิฐ จะวะสิต ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล แถลงว่า ปัจจุบันประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยประสบภัยพิบัติเพิ่มมากขึ้นทุกปี ทำให้ประชาชนประสบกับความทุกข์ยากลำบาก ทั้งในเรื่องที่อยู่อาศัย การคมนาคม ตลอดเรื่องของสุขภาพอนามัย ซึ่งสิ่งสำคัญที่เชื่อมโยงกับสุขภาพอนามัยคือ อาหาร ซึ่งต้องได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและเพียงพอเพื่อให้มีภาวะโภชนาการที่ดีอันจะส่งผลถึงสุขภาพที่แข็งแรงเพื่อที่จะเป็นต้นทุนต่อสู้กับพิบัติภัยที่เกิดขึ้น
รศ.วิสิฐกล่าวว่า สถาบันโภชนาการได้รับการสนับสนุนจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (fao) ให้ศึกษาวิจัยออกแบบหน่วยเคลื่อนที่ (mobile unit) สำหรับบริการอาหาร เพื่อความเพียงพอทางโภชนาการในภาวะพิบัติภัย และล่าสุด เอฟเอโอได้นำโมเดลนี้ไปใช้ในประเทศต่างทั่วภูมิภาค โดยหน่วยเคลื่อนที่สำหรับบริการอาหารเพื่อความเพียงพอทางโภชนาการในภาวะภัยพิบัติมีลักษณะเป็นตู้คอนเทนเนอร์ขนาดกว้าง 2.2 เมตรยาว 5.8 เมตร สูง 2.3 เมตร เปิดด้านข้างได้สองด้านและด้านหลังได้ เพื่อให้สามารถบรรจุ/ขนส่งและให้บริการอาหารได้โดยสะดวกที่สามารถเคลื่อนย้ายโดยยกตั้งบนรถบรรทุก 6 ล้อ หรือเคลื่อนย้ายโดยยกตั้งบนรถบรรทุก 6 ล้อ หรือเคลื่อนย้ายทางอากาศด้วยเฮลิคอปเตอร์ได้
“หน่วยเคลื่อนที่สำหรับบริการอาหารมีการติดตั้งเครื่องปั่นไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่ใช้ก๊าซ มีพื้นที่ด้านซ้ายและขวาขนาด 3 ลบ.ม. ใช้เก็บอาหารแห้งเพื่อนำมาใช้ในการเตรียมและแจกจ่าย โดยออกแบบให้สามารถเก็บอาหารที่เพียงพอในการเลี้ยงคนได้ 400 คน เป็นเวลา 7 วัน ได้รับพลังงาน อย่างน้อย 1,800 กิโลแคลอรีต่อคนต่อวัน (คาร์โบไฮเดรต 65% โปรตีน 15% ไขมัน 20%) สำหรับพื้นที่ตรงกลางแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกใช้ขนอาหารที่พร้อมบริโภคทันที ที่บรรจุในถุงอลูมินั่มฟอยด์(retortable pouch) สำหรับ 400 คน เป็นเวลา 2 วัน พร้อมน้ำดื่มขนาด 1.5 ลิตร 400 ขวด (ข้าว500 กรัม 2,400 ถุง/กับข้าว 2 อย่างขนาด 140 กรัม 4,800 ถุง)
นอกจากนี้ยังใช้เก็บอาหารทางการแพทย์ นมสำหรับทารกและวิตามินรวม พื้นที่ตรงกลางส่วนที่สองใช้บรรทุกตู้แช่สำหรับผักและเนื้อสัตว์สดเพิ่มเติม และอุปกรณ์การประกอบอาหารได้แก่ หม้อหุงข้าวไฟฟ้าขนาดใหญ่ 2 หม้อ (100 คนต่อหม้อ) กระทะผัดพร้อมตะหลิว เตาแก๊ส หม้อกระทะขนาดใหญ่ และเตาอบไมโครเวฟรวมถึงอุปกรณ์อัตโนมัติที่ใช้ผนึกอาหารใส่ถุงพลาสติกหรืออลูมินั่มฟอยด์ ส่วนพื้นที่ด้านซ้ายมีถังเก็บน้ำบริโภคขนาด 1,000 ลิตร และชุดฆ่าเชื้อโรคในน้ำด้วยคลอรีน และชุดถ่านกัมมันต์เพื่อดูดกลิ่นคลอรีน ทั้งสิ้นงบประมาณสำหรับตู้คอนเทนเนอร์พร้อมอุปกรณ์ประกอบ (ไม่รวมอาหาร) 2.5 ล้านบาท”รศ.วิสิฐกล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์มติชน