‘มหัศจรรย์การอ่าน’ ดีต่อพัฒนาการลูกน้อย
ที่มา : เว็บไซต์แนวหน้า
แฟ้มภาพ
คุณแม่แอม-ชลธิชา อัศวาณิชย์ อดีตรองมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ปี 2552 เผยเลี้ยงลูกด้วย ‘หนังสือ’ พบ‘มหัศจรรย์การอ่าน’ ดีต่อพัฒนาการลูกน้อย
งานวิจัยหลายชิ้นการันตีว่า การสร้างพฤติกรรม “การอ่าน” จนกลายเป็นวิถีและวัฒนธรรม ถือเป็นการวางรากฐานอย่างเหมาะสม และดีที่สุดต่อพัฒนาการของเด็กปฐมวัย (0-6 ปี) เพราะโครงสร้างต่างๆของสมองกำลังพัฒนาสูงสุดถึง 80% อีกทั้งการอ่านไม่ได้ช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านใดด้านหนึ่ง แต่เรียกได้ว่าส่งผลดีต่อเด็กในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ การสื่อสารจิตใจ สติปัญญา แถมยังช่วยสร้างความสุขเสมือนโซ่ทองคล้องใจสานความสัมพันธ์ระหว่างพ่อ-แม่และลูก บุคคลในครอบครัวได้เป็นอย่างดี
หน่วยงานที่เล็งเห็นความสำคัญเรื่อง “การสร้างวัฒนธรรมการอ่าน” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย อย่างสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) โดยแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน ร่วมกับแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ.2560-2564:กรมส่งเสริมวัฒนธรรม พร้อมด้วยภาคีเครือข่ายส่งเสริมการอ่าน รวมทั้งหมด 27 แห่ง แก้ปัญหาวิกฤติพัฒนาการทางด้านภาษาของเด็กปฐมวัย(0-6ปี)ร่วมมือนำการอ่านเข้ามาช่วยในการแก้ปัญหาและยังเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาทักษะด้านอื่นๆ ภายใต้งานมหกรรมการอ่านแห่งชาติ “มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย” จะจัดขึ้นในวันที่10-11กุมภาพันธ์ 2561เวลา09.00-16.00น.ณ แอร์พอร์ตเรลลิ้งค์ มักกะสัน
ดร.นายแพทย์ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า จากวิกฤติพัฒนาการของเด็กปฐมวัย(0-6ปี) ที่สำรวจโดยกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่า พัฒนาการล่าช้าโดยรวมร้อยละ30 และพัฒนาการทางด้านภาษาล่าช้าสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยล่าสุดปี 2557เฉลี่ยร้อยละ 38.2 ส่งผลเสียต่อการพัฒนาทักษะด้านอื่น ๆ อาทิ การสื่อสาร การพัฒนาด้านอารมณ์ สังคม ดังนั้นกิจกรรมมหกรรมการอ่านแห่งชาติ “มหัศจรรย์การอ่านเพื่อเด็กปฐมวัย”เป็นเวทีแห่งการเรียนรู้ที่จะช่วยพ่อแม่ ครูได้คัดเลือกหนังสือเด็กให้ลูกๆ และนักเรียนได้อ่าน ขณะเดียวจะได้เห็นเทคนิคการอ่าน การส่งเสริมการอ่านมากมาย โดยเฉพาะการเล่านิทาน การอ่านในครอบครัว
นางพิมพ์รวี วัฒนวรางกูร อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม กรรมการและเลขานุการร่วมคณะกรรมการบูรณาการการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ กล่าวว่า จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ขณะนี้คนไทยอ่านหนังสือประมาณ 66 นาทีต่อวัน แต่ยังน้อยอยู่เมื่อเทียบกับประเทศอาเซียน โดยการจัดอันดับการอ่านของคนไทย อยู่ที่อันดับ 7 ของประเทศอาเซียนฉะนั้น แผนดังกล่าว วางเป้าหมายภายใน 5 ปี หรือปี 2564 คนไทยจะต้องใช้เวลาในการอ่านหนังสือที่มีคุณภาพมากขึ้นเฉลี่ย 90 นาทีต่อวัน รวมถึงมีการกำหนดยุทธศาสตร์สำคัญ 4 ประเด็นในการผลักดัน เรื่องนี้ คือ 1.ปลูกสร้างพฤติกรรมรักการอ่าน 2.อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสื่อการอ่านของประชาชน 3. ยกระดับคุณภาพแหล่งเรียนรู้และสื่อ และ 4.สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านตั้งแต่เยาว์วัย เป็นรากฐานสำคัญของการแสวงหาความรู้และสร้างเสริมการเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ตลอดชีวิต รวมถึงสร้างเสริมสุขภาพในทุกๆ มิติ
แพทย์หญิงชมพูนุท โตโพธิ์ไทย แพทย์ชำนาญการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาล ได้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเด็กปฐมวัย ทั้งหมดมาทำงานบูรณาการร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุขในการกำหนดทิศทางในการพัฒนาเด็กปฐมวัย การวางเป้าหมายอย่างชัดเจน ซึ่งการอ่าน ถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุดในการช่วยพัฒนาเด็กได้จึงมีการส่งเสริมการอ่าน มีการคัดเลือกดีๆ หนังสือแนะนำแก่เด็กเช่น การคัดสรรนิทาน ช่วยเน้นพัฒนาเด็ก 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสติปัญญา ด้านสุขภาพ ด้านจิตใจวัฒนธรรม คุณธรรม และด้านทักษะความสามารถต่างๆ เพื่อให้เด็กก้าวสู่การพัฒนาประเทศไทย 4.0
ปิดท้ายด้วยคุณแม่แอม-ชลธิชา อัศวาณิชย์ ผู้ประกาศข่าว และอดีตรองมิสไทยแลนด์ยูนิเวิร์ส ปี 2552 ที่เลี้ยงลูกวัย 3 ขวบ ด้วยหนังสือกล่าวว่า ยุคนี้สื่อต่างๆ เข้าถึงเด็กได้ง่ายมาก ทำให้ทุกอย่างรอบๆ ตัวเด็ก หมุนเร็วไปหมด แม่ไม่อยากให้ลูกต้องเร่งรีบตามทุกสิ่ง และมองหาวิธีที่จะทำให้ลูกอยู่กับเรานานที่สุดมีความสามารถในการอยู่กับตัวเองได้พบว่า อ่านหนังสือช่วยลูกได้จึงใช้หลักในการเลี้ยงลูกด้วยหนังสือ และจากการทำงานด้านพิธีกร ผู้ประกาศ ทำให้เข้าใจว่าทักษะความเข้าใจ การเรียนรู้ต่อยอดล้วนเกิดจากพื้นฐานมาจากการอ่านหากมีวิธีอ่านที่ดีจะก่อให้เกิดการวิเคราะห์และสังเคราะห์อย่างเหมาะสม หนังสือที่ให้ลูกดูหรืออ่านให้ลูกฟัง เช่น หนังสือภาพที่มีรูปภาพใหญ่ๆ สีสันสดใส เป็นสิ่งที่เรียกความสนใจจากลูกได้เป็นอย่างดี และการอ่านไม่จำเป็นต้องเป็นการอ่านจากหนังสือเพียงอย่างเดียว อาจจะอ่านจากข้อความต่างๆ แต่ต้องเป็นการอ่านตัวหนังสือให้เด็กจดจำตัวอักษร ตัวหนังสือได้หนังสือเป็นสิ่งสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างเราและลูกได้อย่างมากได้นอนอ่านหนังสือกับลูกหรือกอดลูกไว้ ขณะอ่านหนังสือทำให้ลูกได้รับความอบอุ่นจากเรา
อย่างไรก็ตาม สุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. และวรรณพร เพชรประดับ ประธานศูนย์ประสานงานอ่านยกกำลังสุข SMARTReading ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ภายในงานมีโซนจัดแสดงงานที่น่าสนใจ ประกอบด้วย โซนเวทีมหัศจรรย์การอ่าน พบคนดลใจร่วมสร้างมหัศจรรย์แห่งการอ่าน โซนนวัตกรรมชุมชนอ่านยกกำลังสุข โดยเครือข่ายศูนย์ประสานงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่านในชุมชนท้องถิ่นพบนวัตกรรม “บ้านอ่านยกกำลังสุข” และโมเดล บ้านสร้างสุขด้วยการอ่านจาก 15 พื้นที่ต้นแบบนำร่องทุกภูมิภาค รวมถึง มีโซน Reading inWonderland :ดินแดนมหัศจรรย์ด้วยนิทานหลากจินตนาการผ่านประตูวิเศษ แห่งดินแดนโลกหนังสือ โซนตลาดนัดนักอ่านสำนักพิมพ์ โซนสานพลังองค์กรร่วมสร้างวัฒนธรรมการอ่าน
อีกทั้ง ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจสำหรับพ่อ-แม่ผู้ปกครอง และเด็กๆ อาทิ นิทรรศการและกิจกรรมหนังสือดีเพื่อพัฒนาการEFการขับเคลื่อนจังหวัดแห่งการอ่าน กิจกรรมบ้าน นักเขียน หนังสือเด็ก กิจกรรมหนังสือออกแบบได้ระดมจิตอาสามาร่วมอ่านหนังสือเสียงให้กับน้องๆ ผู้พิการทางสายตา ฯลฯ