มหันตภัยครีมหน้าเด้ง เสี่ยงเละ..ก่อนสวย
อย.เตือนอันตรายจากสารปรอทในเครื่องสำอาง
หลังจากที่ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ประกาศรายชื่อเครื่องสำอางที่ผสมสารห้ามใช้ทั้ง 3 ชนิด ได้แก่ สารประกอบของปรอท, สารไฮโดรควินิน และกรดเรทิโนอิก (กรดวิตามินเอ)
หลังจากที่ระดมกำลังทำลายล้างโกดังเครื่องสำอางต้องห้ามที่ผิดกฎหมายไปเรียบร้อยแล้ว ล่าสุด อย.พบผลิตภัณฑ์เสริมความงามหลากหลายรูปแบบที่มาในรูปของสมุนไพร ไม่ว่าจะเป็นแชมพู ครีมนวดผม โฟมล้างหน้า ซึ่งในระยะหลังๆ มักออกมาในรูปแบบครีมหน้าเด้ง ครีมบัวหิมะ หรือแม้กระทั่งครีมกระชับทรวงอก ที่ผู้ประกอบการบางแห่งหัวใส ใช้รูปแบบการจดทะเบียนเป็นสินค้าโอท็อป (otop) หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือการแอบอ้างว่าเป็นผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากธรรมชาติแท้ๆ 100% เพื่อให้ผู้บริโภคตายใจว่า เมื่อซื้อสินค้าดังกล่าวไปแล้วจะปลอดภัยและสวยถาวร แต่ในความเป็นจริง ยังมีผู้ประกอบการอีกหลายคนที่ใช้ตราผลิตภัณฑ์สินค้าโอท็อปมาบังหน้าเพื่อเป็นช่องทางในการทำมาหากิน
เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ทางโรงพยาบาลศิริราชได้จัดงานสัปดาห์เภสัชกรรม ครั้งที่ 9 ขึ้น โดยภายในงานได้มีการบรรยายพิเศษถึงเรื่อง “อันตรายจากเครื่องสำอาง” ที่ได้ผู้เชี่ยวชาญจากกองส่งเสริมงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เภสัชกรหญิงพรพรรณ สุนทรธรรม มาให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกใช้เครื่องสำอางอย่างไรไม่ให้ถูกหลอก และขยายความเกี่ยวกับเรื่องนี้ให้ฟังอีกด้วย
ภญ.พรพรรณ สุนทรธรรม กล่าวว่า “ก่อนอื่นต้องบอกก่อนเลยว่า สินค้าโอท็อปในประเทศไทยที่ดีๆ ยังมีอยู่เยอะ แต่ในบางรายทางเราก็กำลังตามเรื่องอยู่ เพราะเคยมีผู้ร้องเรียนมากับทาง อย.หลายคน ว่าได้รับอันตรายจากการใช้เครื่องสำอางที่ขึ้นทะเบียนว่าเป็นสินค้าโอท็อปมาแล้ว การจะจดทะเบียนผลิตภัณฑ์ใดสักชิ้นเพื่อให้ขึ้นเป็นสินค้าโอท็อป จะต้องผ่านการตรวจสอบดูแลจากกรมส่งเสริมการส่งออก ไปตรวจสอบยังแหล่งผลิตและแพ็กเกจจิ้ง แต่เรื่องคุณภาพของเนื้อสินค้าเขาก็ไม่ได้ลงไปดูลึก ซึ่งตรงนั้นก็เป็นหน้าที่ของทาง อย. ซึ่งทาง อย.ก็มีศูนย์ประสานงานสุขภาพชุมชนที่ลงไปช่วยดูแลตรงนี้อยู่แล้ว ซึ่งสินค้าโอท็อปที่เป็นสกินแคร์หรือน้ำยาซักล้างต่างๆ จะมีข้อจำกัดอยู่ 2 อย่าง คือ 1.บุคลากรยังขาดความรู้ความเข้าใจที่มากพอ 2.กรรมวิธีการผลิต ที่บางแห่งจะยังไม่สะอาดเท่าที่ควร ภาชนะหม้อหุงต้มที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ตรงนี้ก็เป็นหน้าที่ของศูนย์ประสานงานฯ ที่ต้องเข้าไปให้ความรู้กับแม่บ้านยังชุมชนต่างๆ ให้มากขึ้น”
เภสัชกรหญิงกล่าวต่อว่า “การที่จะเข้าไปถึงในทุกๆ ตัวผลิตภัณฑ์มันไม่ใช่เรื่องง่าย ตอนนี้ต้องยอมรับเลยว่าเราตามกระแสสื่อไม่ไหว ทั้งจากโทรทัศน์ วิทยุ โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตที่ประโคมข่าวโฆษณาเครื่องสำอางพวกนี้เกินจริง เรากำลังดำเนินเรื่องกับทางเว็บไซต์เหล่านี้อยู่ แต่คงต้องใช้เวลา เพราะมันยังต้องพึ่งกระบวนการยุติธรรมให้เข้ามาดูแลเรื่องนี้ด้วย” ผู้เชี่ยวชาญฝากถึงผู้บริโภคว่า อยากให้ผู้บริโภครู้เท่าทันสื่อให้มากกว่านี้ หากสินค้าตัวใดที่โฆษณาอวดโอ้เกินความเป็นจริง ก็ไม่อยากให้หลงเชื่อ ไตร่ตรองดูสักนิด ตัวไหนที่บอกว่าใช้แล้วจะขาวใสภายใน 7 วัน ก็ขอให้รู้เอาไว้เลยว่ามันจะต้องมีส่วนผสมของสารต้องห้ามที่ทาง อย.กำหนดเอาไว้แน่นอน”
ภญ.พรพรรณยังได้แนะเทคนิคการทดสอบความปลอดภัยจากเครื่องสำอางที่มีลักษณะเป็นเนื้อครีมด้วยตนเองง่ายๆ ว่า หากอยากตรวจสอบเครื่องสำอางที่เราซื้อมาว่าปลอดภัยจริงหรือไม่ ให้ลองนำเนื้อครีมเหลวมาป้ายลงบนกระดาษทิชชูสีขาว จากนั้นให้นำผงซักฟอกที่ละลายน้ำแล้ว หยดลงไปบนกระดาษทิชชูที่มีเนื้อครีมนั้นอยู่ ลองสังเกตสีของเนื้อครีม หากเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล แสดงว่าเครื่องสำอางชิ้นนั้นเป็นอันตรายอย่างแน่นอน
หากใครที่ยังลังเลใจอยู่ ว่าเครื่องสำอางที่อยู่ในมือนั้นจะปลอดภัยจริง 100% อย่างที่ในโฆษณาเขาบอกหรือไม่ ก็สามารถโทร.สายด่วนมาตรวจสอบได้ที่ 0-2590-7277-8 เพื่อที่จะได้ไม่ต้องตกเป็นเครื่องมือของผู้ประกอบการไร้จริยธรรมที่มุ่งหวังแต่ผลกำไรเข้ากระเป๋าตัวเอง
ที่มา : หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update : 03-07-51