มพด.ลงพื้นที่ศรีสะเกษ ช่วยเหลือเด็กจากเหตุไทย-กัมพูชา
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กลงพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษ ประสาน มรภ.ศรีสะเกษสร้างกิจกรรมนันทนาการให้เด็กที่ได้รับผลกระทบจากเหตุไม่สงบไทย-กัมพูชา ระบุต้องการอาหาร-ผ้าอ้อมช่วยเหลือด่วน
ตามที่เกิดเหตุการณ์ความมั่นคงบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาในขณะนี้ ส่งผลให้มีการอพยพประชาชนในพื้นที่ อ.กันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ มารวมบริเวณศูนย์อพยพที่ภาครัฐจัดเตรียมไว้นั้น นายเชษฐา มั่นคง หัวหน้าโครงการรณรงค์และเผยแพร่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก (มพด.)เปิดเผยว่า จากที่ มพด.ได้ดำเนินการช่วยเหลือคุ้มครองและพัฒนาเด็กในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษอย่างต่อเนื่อง ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 จากสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างประเทศไทย – กัมพูชา กระทั่งเกิดการสู้รบบริเวณชายแดนในพื้นที่ดังกล่าว ส่งผลให้ชาวบ้านตามแนวชายแดนไทย – กัมพูชา ต้องอพยพเคลื่อนย้ายมารวมกันบริเวณศูนย์อพยพ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้สูงอายุราว 10,000 กว่าคน โดยศูนย์อพยพที่มีผู้เข้าไปอาศัยอยู่จำนวนมากตามลำดับ ได้แก่ 1.หอประชุมที่ว่าการอำเภอกันทรลักษณ์ มีเด็กและผู้สูงอายุกว่า 3,000 คน จากทั้งหมด 20 แห่งของจังหวัดศรีสะเกษ 2.โรงเรียนเกษตรประชาฯ 3.วิทยาลัยการอาชีพกันทรลักษณ์ 4. โรงเรียนบ้านท่าสว่าง 5.ศาลหลักเมืองกันทรลักษณ์ 6.บ้านคะน้าใหม่ ม.3 และบ้านคะน้าเก่า หมู่ที่7,7. ที่ว่าการอำเภอศรีรัตนะ (อำเภอ กศน.โรงเรียนอนุบาล สถานีตำรวจ) 8.ที่ว่าการอำเภอพยุ และ 9.หอประชุมศาลากลาง อ.เมือง จ.ศรีสะเกษ
“จากการสู้รบซึ่งสถานการณ์ยังไม่ปกติและมีการปะทะกันต่อเนื่อง บางครอบครัวในพื้นที่บ้านภูมิซรอลต้องสูญเสียบ้านเรือนและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก ทำให้ต้องรีบอพยพชาวบ้านโดยด่วน บางครอบครัวไม่มีการเตรียมการล่วงหน้าทั้งในเรื่องอาหาร เสื้อผ้า เครื่องนุ่งห่มและเครื่องใช้อื่นๆ ประกอบกับทางภาครัฐเองยังไม่ได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ผู้อพยพขาดแคลนอาหารและอุปกรณ์เครื่องใช้เป็นจำนวนมาก บางรายครอบครัวต้องแยกย้ายกันไปตามศูนย์อพยพและบ้านญาติมิตร โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุที่ยังประสบปัญหาและต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉิน นอกจากนั้นแล้วผู้อพยพยังมีสภาพจิตใจที่ตื่นตระหนกต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น มีความเป็นห่วงต่อบ้านเรือนและสมาชิกในครอบครัว และสถานการณ์การสู้รบในอนาคต เด็กไม่ได้ไปโรงเรียนและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่แออัด มีอาหารที่ไม่พอเพียงและทั่วถึง สภาพจิตใจย่ำแย่ โดยมีหน่วยงานในจังหวัด ได้แก่ สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ หน่วยงานด้านสาธารณสุข กาชาด ตำรวจ เทศบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เร่งให้ความช่วยเหลือและดูแลผู้อพยพ โดยแต่ละแห่ง ประมาณการว่ามีเด็กไม่ต่ำ 300 คน” นายเชษฐากล่าว
นายเชษฐา กล่าวอีกว่า มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็กได้ประสานงานเจ้าหน้าที่ในพื้นที่จังหวัดศรีสะเกษให้ลงพื้นที่และติดตามสถานการณ์ โดยเฉพาะเด็กที่ได้รับผลกระทบจากภัยการสู้รบ และได้ข้อมูลเบื้องต้นถึงจำนวนผู้อพยพราวหมื่นกว่าคน ส่วนใหญ่เป็นเด็กและผู้สูงอายุ โดยยังไม่สามารถแยกจำนวนเด็กและผู้ใหญ่ที่แน่ชัดได้ อยู่ระหว่างการตรวจสอบข้อมูล ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วน ดังนี้ 1.อาหาร ขนมและน้ำดื่มสำหรับเด็ก 2.นมกล่องและนมชงสำหรับเด็กเล็ก 3.ผ้าอ้อมเด็กสำเร็จรูป 4.อุปกรณ์ของเล่น หรือ อุปกรณ์บำบัดฟื้นฟูสภาพจิตใจเด็ก ได้แก่ ของเล่นสำหรับเด็กวัยต่างๆ สมุดระบายสี สีต่างๆ เป็นต้น 5.ผ้าห่มและเครื่องนุ่งห่ม เนื่องจากอากาศหนาวเย็น 6.ยาทากันยุง
ด้าน นางดวงใจ เที่ยงดีฤทธิ์ เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์พบว่าขวัญกำลังใจของเด็กและผู้สูงอายุในขณะนี้ยังอยู่ในความวิตกกังวลและหวาดกลัว โดยเฉพาะเด็กๆ ที่ส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็ก ซึ่งทางมูลนิธิฯ ได้จัดทำกิจกรรมนันทนาการ โดยร่วมมือกับอาสาสมัครของมหาวิทยาลัยราชภัฏจังหวัดศรีสะเกษ จัดกิจกรรมวาดภาพ ศิลปะ เล่นเกมให้เด็กๆ ส่วนผู้สูงอายุนั้นเบื้องต้นจะมีเจ้าหน้าที่ลงไปพูดคุยเพื่อให้คลายความกังวลจากสถานการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตามขณะนี้เปิดรับอาสาสมัครที่สนใจจะเข้ามาช่วยจัดกิจกรรมนันทนาการดังกล่าว โดยผู้สนใจสามารถสมัครได้ที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก หรือมหาวิทยาลัยราชภัฏจังหวัดศรีสะเกษ สำหรับผู้ที่ต้องการร่วมบริจาคเพื่อช่วยเหลือพี่น้องคนไทย สามารถบริจาคได้ที่ มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก เลขที่ 143/109-111 หมู่บ้านปิ่นเกล้าพัฒนา ซ.วัดสุวรรณคีรี ถ.บรมราชชนนี แขวงอรุณอมรินทร์ เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ 10700 โทร.02-433-6292 โทรสาร: 02-435-5281 ต่อ 102 หรือบริจาคผ่านบัญชีธนาคาร มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก ธ.กสิกรไทย สาขาบางยี่ขัน ประเภท ออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 047-2-61241-7 ธ.กรุงไทย สาขาสะพานขาว ประเภทออมทรัพย์ เลขที่บัญชี 021-0-02168-3 ธ.กรุงเทพ สาขาพระปิ่นเกล้า ประเภทสะสมทรัพย์ เลขที่บัญชี 162-0-23632-1 ธ.ออมสิน สาขาราชดำเนิน ประเภทเผื่อเรียก เลขที่บัญชี 98-9801-20-379147-6
เรื่องโดย : สุนันทา สุขสุมิตร team content www.thaihealth.or.th