‘มนุษย์เงินเดือน’ ปรับก่อนเปลี่ยน (1)

          แม้คนทั่วไปมักจะรู้สึกว่าชั่วเวลาแห่งความผันผวนวุ่นวายจะยาวนานกว่าปกติเสมอ แต่เพียงไม่ทันไร เราก็ผ่านพ้นไตรมาสแรกของปี 2557 ไปเรียบร้อยแล้ว ทั้งที่สถานการณ์ความวุ่นวายในบ้านเรายังไม่คลี่คลายลงแม้แต่น้อย

/data/content/23839/cms/afhjmpqrt256.jpg

          ท่ามกลางความคาดหวังว่าทุกอย่างน่าจะจบลงได้เมื่อนั้นเมื่อนี้ แต่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเราคงต้องยอมรับและหาทางยืนอยู่ให้ได้ แม้จะยังไม่รู้ว่าทางออกของประเทศคืออะไร และสภาพแวดล้อมจะเปลี่ยนไปทางไหน รู้แต่ว่าเราต้องอยู่รอดให้ได้ในทุกสภาวะเท่านั้น

          สำหรับองค์กรต่างๆ ในเวลานี้อาจเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสำหรับการวางแผนกลยุทธ์และหาแนวทางรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น แต่สำหรับคนทั่วไปโดยเฉพาะปัญญาชนคนชั้นกลางที่มีรายได้หลักจากเงินเดือนก็อาจต้องอาศัยช่วงเวลานี้ทบทวนตัวเองเพื่ออนาคตด้วยเหมือนกัน

          เริ่มจากข้อแรกคือ ต้องรู้จักตัวเอง โดยต้องรู้ว่าเรามีจุดเด่นและจุดอ่อนอะไรบ้าง เราอาจลองนั่งคิดหาจุดเด่นจุดดีของตัวเองมาสัก 3 ข้อ ซึ่งธรรมชาติของเราต้องมีดีสักข้อแม้จะไม่ตรงกับแนวทางขององค์กรก็ตาม แต่ถ้าหาตัวเองไม่เจอจนไม่รู้ว่าตัวเองมีจุดเด่นอะไร สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือความรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนที่ไม่มีค่าซึ่งก่อให้ทัศนคติด้านลบได้มากมายตามมา

          โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติที่องค์กรต่างๆ ต้องหาทางปรับตัวจนอาจจำเป็นต้องลดต้นทุน ลดเงินเดือนพนักงาน ซึ่งจะยิ่งลดทอนกำลังใจของเรามากยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อเรารู้ว่าไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์กรได้ ท้ายที่สุดก็จะทำให้เราหดหู่ มีกำลังใจถดถอยและทำงานแบบไปวันๆ แทนที่จะมีกำลังใจต่อสู้กับปัญหาในอนาคต

          แต่หากเรามั่นใจว่าเรามีจุดเด่นจุดดีด้านใด และรู้ว่าจะเอาจุดเด่นเหล่านั้นมาสร้างข้อได้เปรียบให้องค์กรอย่างไรได้บ้าง ความไม่แน่นอนจึงกลายเป็นโอกาสให้เราได้แสดงฝีมือและลดภาระขององค์กรที่ต้องประสบกับปัญหาต่างๆ มากมายได้สำเร็จ

          ข้อ 2 ต้องรู้จักคิดบวก ซึ่งนอกจากภายในที่จะต้องมีกระบวนการคิดสร้างสรรค์ให้เป็นบวกเสมอแล้ว ยังต้องอาศัยปัจจัยภายนอกให้เป็นบวกด้วยเช่นกัน นั่นคือบุคลิกภาพที่ต้องเอาจริงเอาจัง กล้าสบตากับคู่สนทนา และมีการส่งภาษากายได้อย่างเหมาะสม

เช่นเดียวกับภาพลักษณ์ภายนอกที่ต้องดูสะอาดสะอ้านสร้างความสบายตาให้ผู้ที่พบปะพูดคุย ซึ่งทั้งหมดนี้จะทำให้เราเป็นคนที่มีความเป็นบวกทั้งภายในและภายนอก และมีความพร้อมที่จะเจรจาพูดคุยกับผู้คนรอบข้างได้ตลอดเวลา

          ข้อ 3 ต้องกล้าอาสารับผิดชอบหน้าที่ใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ซึ่งอาจก่อให้เกิดงานใหม่ๆ หรือโครงการที่ไม่เคยทำมาก่อน แม้จะดูเป็นงานยาก แต่ก็ท้าทายให้เราได้พิสูจน์ฝีมือ

          ความกล้ารับผิดชอบสิ่งใหม่ๆ เหล่านี้เป็นบทเรียนสำคัญสำหรับคนที่จะเติบโตขึ้นมาเป็นผู้บริหารหรือผู้นำที่ต้องใช้ทักษะในด้านการบริหารการจัดการ และหากทำได้สำเร็จก็จะเป็นผลงานที่เราใช้เป็นตัวอย่างสำหรับเติบโตต่อไปในอนาคต และองค์กรก็นำไปปรับใช้กับหน่วยธุรกิจอื่นๆ ได้อีก

          ยังเหลืออีกหลายข้อที่ต้องขอยกยอดไปสัปดาห์หน้าครับ…

 

 

          ที่มา : เว็บไซต์กรุงเทพธุรกิจ โดยแจ็ค มินทร์ อิงค์ธเนศ

          ภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต

Shares:
QR Code :
QR Code