‘ภาษีความเค็ม’ ยืดชีวิตคนไทย

ที่มา : หนังสือพิมพ์แนวหน้า


ภาพโดย สสส.


'ภาษีความเค็ม' ยืดชีวิตคนไทย thaihealth


เมื่อช่วงต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมควบคุมโรค และเครือข่าย ลดการบริโภคเค็ม จัดประชุมร่วมกับสื่อมวลชน ในประเด็น "แนวทางลดพฤติกรรมติดเค็มของคนไทย"


เนื่องจากคนไทยเจ็บป่วยจาก "กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non – Communicable Diseases : NCDs)" เป็นจำนวนมาก และ "ความเค็ม" ก็เป็นสาเหตุของบางโรค เช่น โรคไต โรคความดันโลหิตสูง โดยเฉพาะโรคไตที่พบว่า "จำนวนผู้ต้องล้างไตเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 2 หมื่นคนต่อปี" ถือว่าน่าเป็นห่วงมากในการประชุมมีการพูดกันถึง "ภาษีความเค็ม" หรือการเก็บภาษีอาหารที่มีส่วนผสมของ "โซเดียม (Sodium)" อันเป็นสารที่ให้รสเค็ม ในปริมาณที่เกินจากมาตรฐานที่กำหนดว่าควรบริโภคได้ "ท่านผู้อ่านอย่าเพิ่งโมโหโกรธา" อย่าเพิ่งมองว่ารัฐบาลถังแตกจะมารีดภาษีประชาชนทุกทางที่นึกออก เพราะจริง ๆ แล้ว "ในต่างประเทศก็เก็บภาษีความเค็มเช่นกัน" เพื่อจูงใจให้ทั้งผู้บริโภคลดการบริโภค และผู้ประกอบการลดการใส่ส่วนผสมดังกล่าวลง


อาทิ ฮังการี เริ่มเก็บภาษีความเค็มในสินค้าประเภท "ขนมขบเคี้ยว-เครื่องปรุงรส" มาตั้งแต่ปี 2554 พบว่า ประชาชนลดปริมาณการบริโภคลง ร้อยละ 20-35 ส่งผลให้ในเวลาต่อมาบรรดาผู้ผลิตต้องปรับสูตรอาหารให้ลดปริมาณโซเดียมลงด้วยเพราะไม่ต้องการจ่ายภาษีดังกล่าว ซึ่งจากตัวอย่างข้างต้น ประเทศในยุโรปด้วยกันอย่าง โปรตุเกส คิดเอาอย่างบ้าง โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา รัฐบาลโปรตุเกสเริ่มร่างแผนจัดเก็บภาษีจากอาหารและขนมที่มีปริมาณโซเดียมสูง เช่น เวเฟอร์ บิสกิต อาหารที่มีซีเรียลเป็นส่วนประกอบ รวมถึงมันฝรั่งแห้งหรือทอด


'ภาษีความเค็ม' ยืดชีวิตคนไทย thaihealth


นอกจากมาตรการทางภาษีแล้ว เรณู การ์ก (Renu Garg) ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ยังยกตัวอย่างมาตรการอื่น ๆ ที่ใช้ในหลายประเทศ เช่น อังกฤษ มีกฎหมายกำหนด "ฉลากแบบ สัญญาณไฟจราจร" ใช้กับส่วนผสม 4 ชนิด คือ น้ำตาล ไขมัน ไขมันอิ่มตัวและเกลือ แบ่งเป็น "สีเขียว" คือมีปริมาณน้อย "สีเหลือง (หรือส้ม)" คือมีปานกลาง และ "สีแดง" คือมีปริมาณมาก ให้ผู้บริโภคเห็นได้ชัดเจน


ไกลออกไป ณ ทวีปอเมริกาใต้ ชิลี มีการใช้ "ฉลากคำเตือน" ในอาหารหรือขนมที่มีโซเดียมเกินค่ามาตรฐาน และมีการลดปริมาณค่ามาตรฐานลงเป็น 3 ระยะ ตั้งแต่ปี 2559 กำหนดให้มีปริมาณโซเดียม 800 มก. ต่อ 100 กรัม, ปี 2561 ปริมาณโซเดียม 500 มก. ต่อ 100 กรัม และล่าสุดปี 2562 ปริมาณโซเดียม 400 มก. ต่อ 100 กรัม และกำหนดด้วยว่า "อาหารที่มีฉลากคำเตือนจะไม่สามารถขายในโรงเรียน หรือทำการตลาดกับเด็กได้" ส่งผลให้ผู้ประกอบการต้องเร่งปรับสูตรอาหารให้มีปริมาณโซเดียมลดลงไปโดยปริยาย


ผู้แทนองค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย ย้ำว่า "องค์การอนามัยโลกแนะนำให้บริโภคโซเดียมได้ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน หรือเทียบกับเกลือคือ ไม่เกิน 5 กรัมต่อวัน" แต่พบว่า "คนไทยบริโภคเกลือเฉลี่ย 10 กรัมต่อวัน หรือมากกว่าคำแนะนำขององค์การอนามัยโลกถึง 2 เท่า" ซึ่งใน 10 อันดับสิ่งที่ทำให้คนไทยเสียชีวิตมากที่สุด มีโรค NCDs ที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเค็มมากเกินไปถึง 3 โรค คือ อันดับ 1 โรคหัวใจขาดเลือด อันดับ 3 โรคหลอดเลือดสมอง และอันดับ 8 โรคไตเรื้อรัง


'ภาษีความเค็ม' ยืดชีวิตคนไทย thaihealth


สำหรับในประเทศไทย ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม เปิดเผยว่า แนวทางการเก็บภาษีความเค็มนั้น "จะเก็บเฉพาะอาหารและขนมสำเร็จรูปและกึ่งสำเร็จรูปเท่านั้น" เช่น บะหมี่ โจ๊ก ขนมขบเคี้ยว "ไม่เก็บกับสินค้าที่เป็นเครื่องปรุงโดยตรง เช่น เกลือ น้ำปลา ซีอิ๊ว" ดังนั้นจะไม่เป็นภาระกับประชาชน โดยคาดว่ารัฐบาลจะมีการพิจารณาในเร็วๆ นี้


อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าเป็นห่วง "สตรีทฟู้ด (Street Food)" หรืออาหารประเภทร้านหาบเร่แผงลอยริมถนน แม้จะเป็นผู้ประกอบการรายย่อยแต่มีผู้ค้าจำนวนมาก เช่นเดียวกับผู้บริโภค "โดยเฉพาะในกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีการสำรวจพบว่า ต้องมีอย่างน้อย 1 มื้อต่อวัน ที่ชาวเมืองหลวงบริโภคอาหาร สตรีทฟู้ด" ซึ่งการจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการปรุงอาหารของพ่อค้าแม่ค้ากลุ่มนี้ให้ลดส่วนผสมของโซเดียมอันเป็นสารให้ความเค็ม เช่น เกลือหรือน้ำปลาลง "ความรู้ของผู้บริโภค" เป็นหัวใจสำคัญดังจะเห็นว่า "ลูกค้าหลายคนมีการสั่งอาหารพร้อมบอกให้ปรุงแบบเค็มน้อย ถ้าชิมแล้วไม่พอเดี๋ยว เติมเอง ซึ่งหากผู้บริโภคไม่สั่งก็มักจะใส่เครื่องปรุงแบบเต็มที่ไว้ก่อน แต่หากสั่งแบบนี้ผู้ค้าก็จะปรับเปลี่ยนให้" นอกจากนี้ขอเสนอแนะว่า "ควรมีฉลากเตือนอันตรายจากการบริโภคในปริมาณมากเกินไป ติดไว้ข้างภาชนะบรรจุ คล้ายกับฉลากบุหรี่หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์" เชื่อว่าน่าจะมีผลทำให้ผู้บริโภคที่เห็นคำเตือนดังกล่าว "ได้สติและหยุดคิดก่อน" ว่าสมควรปรุงหรือไม่เพียงใด


'ภาษีความเค็ม' ยืดชีวิตคนไทย thaihealth


ขณะที่ นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผู้อำนวยการ ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และคณะกรรมการบริหารแผน คณะที่ 5 สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวเสริมว่า "อาหารแบบสตรีทฟู้ดไม่ได้มีเฉพาะใน กทม.แต่มีทั่วประเทศ" ทั้งนี้ ในส่วนของต่างจังหวัดนั้น "องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.)" สามารถเข้ามามีบทบาทได้ "องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) จัดทีมไปลองชิมดู มันมีเครื่องมือที่จุ่มลงไปแล้วมีเครื่องหมาย ถ้าหน้าเบ้ก็แปลว่าเค็ม ถ้าปากตรง ๆ แสดงว่าพอดี แล้วก็ไปเตือนไปให้คำแนะนำ บอกว่าต่อไปนี้คนจะไม่มาซื้อร้านคุณถ้าคุณยังทำอันตรายต่อประชาชนแบบนี้ ก็เหมือนกรมอนามัยที่มีเครื่องหมายไปติดตามร้านแผงลอยต่าง ๆ" ผอ.ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าว


นพ.วิวัฒน์ ทิ้งท้ายว่า ด้วยเหตุที่คนไทยมีแนวโน้มป่วยเป็นโรคไตเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ต่อปี และพบผู้ป่วยความดันโลหิตสูงเพิ่มขึ้นเป็น 1,500,000 คน ภายในระยะเวลาเพียง 5 ปี ซึ่งสาเหตุสำคัญมาจากการบริโภคอาหารรสเค็ม ดังนั้นหากสามารถทำให้คนไทยลดการบริโภคเค็มลงก็จะลดความสูญเสียได้


แม้จะเข้าใจได้ว่า "คนไทยไม่ค่อยไว้วางใจภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลแบบใด..จึงไม่พอใจอยู่ร่ำไปเมื่อมีข่าวรัฐจะเก็บภาษี" แต่สำหรับ "ภาษีความเค็ม" นั้นต้องบอกว่าเป็นเรื่องดีและมีตัวอย่างมาแล้วในต่างประเทศ ถึงกระนั้น "ที่นี่แนวหน้า" ก็ขอเสนอแนะบ้างว่า..เป็นไปได้หรือไม่? ที่จะกำหนดให้ภาษีความเค็มที่เก็บได้นี้ถูกนำไปใช้เฉพาะงานที่เกี่ยวกับการป้องกันและรักษาผู้ป่วยจากโรคที่เกี่ยวข้องเท่านั้น เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น

Shares:
QR Code :
QR Code