ภัยใกล้ตัว!จาก “ผลิตภัณฑ์ความงาม”
ชี้ แชมพู-โลชั่น เสี่ยงก่อมะเร็งเต้านม
หากลองสังเกตฉลากบนผลิตภัณฑ์แชมพู ครีมนวดผมหรือเจลอาบน้ำ ในนั้นจะระบุส่วนประกอบสำคัญ อาทิ เมทิลพาราเบน, เอทิลพาราเบน หรือ โพรพิลพาราเบน แต่คุณแน่ใจได้แค่ไหนว่าสารประกอบเหล่านี้จะมีประโยชน์หรือโทษมากกว่ากัน
พาราเบน เป็นสารประกอบทางเคมีที่ถูกนำมาใช้อย่างกว้างขวางในแวดวงผลิตภัณฑ์ความงาม ส่วนมากมักพบในแชมพูเด็ก เจลจัดแต่งทรงผม โลชั่นบำรุงผิว ครีมโกนหนวด และเครื่องสำอางทั้งหลายแหล่ที่ต้องมีกระบวนการยืดอายุการใช้งาน หรือเข้าใจง่ายๆ ว่า “พาราเบน” ก็คือสารกันเสียชนิดหนึ่งที่ถูกเติมลงไปในเครื่องสำอางนั่นเอง
พาราเบนที่นิยมใช้มีอยู่ด้วยกัน 3 ชนิด ได้แก่ เมทิลพาราเบน เอทิลพาราเบน และ โพรพิลพาราเบน ซึ่งทางคณะกรรมการวิทยาศาตร์ผลิตภัณฑ์อุปโภค – บริโภค (scientific committee on consumer products: sccp) ได้ทำการสืบค้นข้อมูลเชิงลึกจนรู้และมีหลักฐานชัดเจนว่า สารดังกล่าวเกี่ยวเนื่องและเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งเต้านม และระบบสืบพันธุ์เพศชาย
นักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น โอซูมา ฮันดา จากมหาวิทยาลัยแพทย์ประจำกรุงเกียวโต ออกมายืนยันผลการวิจัยชิ้นนี้อีกครั้งว่า “ถึงแม้ว่าพาราเบนจะเป็นสารที่ไม่ก่อให้เกิดอันตรายโดยตรง แต่แอลกอฮอล์เป็นอีกหนึ่งส่วนประกอบที่พบได้มากในเครื่องประทินโฉม จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการทำงานของพาราเบนให้ซึมซาบสู่ชั้นผิวหนังและแปรสภาพจากเมทิลพาราเบน กลายเป็นบิวทิลพาราเบน หรือโพรพิลพาราเบน ซึ่งจะเข้าไปทำลายการทำงานของฮอร์โมนเพศทั้งชายและหญิงครั้งละมหาศาลเลยทีเดียว
ณ ปัจจุบันมีสินค้ากว่า 16,000 รายการ ที่มีส่วนประกอบของสารเมทิลพาราเบน รวมไปถึงมอยเจอร์ไรเซอร์, ครีมกันแดดและยาสีฟันอีกด้วย
เคยมีการโต้เถียงหลายครั้งเกี่ยวกับเรื่องนี้ซึ่งแพทย์หญิงบาร์บารา ออลิโอโซ ศาสตราจารย์ด้านเคมี หนึ่งในที่ปรึกษาของผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางชื่อดังจากหลากหลายแบรนด์แย้งว่า “งานวิจัยได้ทำการตรวจสอบสารพาราเบนที่อยู่ในเครื่องสำอางประมาณร้อยละ 20 – 60 จากปัสสาวะ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่า พาราเบนจะต้องอยู่ในเครื่องสำอางเสมอไป เพราะมันอาจถูกดูดซึมผ่านเข้าไปในร่างกายด้วยกลไกอื่นก็เป็นได้”
เธอพยายามเปรียบเทียบผลงานวิจัยของตนเองกับโทนี ทิลล์บรูก ผู้ที่คิดค้นพาราเบนในครีมอาบน้ำและบอดี้โปรดักส์ ที่โทนีเคยบอกว่า “ถ้าคุณมัวแต่มองว่าส่วนผสมอะไรในเครื่องสำอางที่จะก่อให้เกิดโรคมะเร็ง นั่นก็แปลว่า คุณต้องห้ามใช้ผลิตภัณฑ์ความงามทุกชนิดที่ทาผิวหนังโดยตรง ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้” ซึ่งคุณหมอออลิโอโซยังกล่าวว่า “จริงๆ แล้วฉันอยากให้ระวังผลกระทบต่อผิวหนังมากกว่า เพราะที่ผ่านมาพาราเบนมีส่วนให้ผู้ใช้เกิดความระคายเคืองต่อผิวสัมผัสได้ง่ายกว่า”
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทางกองทุนมะเร็งเต้านมก็ยังไม่หยุดที่จะสืบค้นข้อมูลที่ชัดเจน เพราะหลักฐานที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอที่จะให้เชื่อได้ว่า พาราเบนในเครื่องสำอางนั้นจะปลอดภัยจริง
เออร์เลน วิลกี จากกองทุนมะเร็งเต้านมกล่าวว่า “ณ ปัจจุบัน วารสารการแพทย์ได้รวบรวมและจัดให้พาราเบนเป็นหนึ่งในสารที่อาจจะก่อให้เกิดโรคมะเร็งเต้านม ถึงแม้ว่าจะยังไม่มีใครเป็นโรคมะเร็งเต้านม หลังจากการใช้เครื่องสำอางที่มีส่วนประกอบของพาราเบนก็ตาม แต่พวกเราจะยังทำงานซึ่งอาจจะมีผลวิจัยอะไรที่น่ากลัวกว่านี้ในอนาคตอันใกล้ก็เป็นได้
ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์
update 13-07-52
อัพเดทเนื้อหาโดย : กันทิมา ลีจันทึก