ภัยยุคดิจิตอล…เด็กว่างมากระวัง
คำเตือนจากกรมสุขภาพจิต
เผยวัยรุ่นไทยใช้เวลา 1 ใน 8 ของวันอยู่กับโลกออนไลน์ ทั้งแชตหาเพื่อนคุยและเล่นเกม หวั่นอาจถูกหลอกและล่อลวง รวมทั้งเกิดปัญหาติดเกมที่ถือว่าเป็นไวรัสความรุนแรงชนิดหนึ่งซึ่งสร้างปัญหาใหญ่ให้ครอบครัวและสังคมไทยขณะนี้ พ่อแม่ควรหาเวลาพูดคุยแนะนำลูกเพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว เติมวัคซีนใจให้ลูกมีพลังสุขภาพจิตเป็นภูมิคุ้มกันภัยสังคมที่แฝงมากับโลกออนไลน์
น.พ.ชาตรี บานชื่น อธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดเผยว่า ปัจจุบันดิจิตอลเปรียบเสมือนเพื่อนผู้รู้ใจและเป็นไลฟ์สไตล์ของวัยรุ่นไทยที่ยิ่งนับวันยิ่งมีความสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับโลกออนไลน์มากยิ่งขึ้น ซึ่งอาจกลายเป็นพฤติกรรมที่ส่งผลด้านลบต่อวัยรุ่นได้ง่าย โดยเฉพาะช่วงนี้เป็นช่วงปิดเทอมวัยรุ่นจะมีเวลาว่างมากอาจใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่กับการท่องโลกออนไลน์ ทั้งนี้มีผลงานวิจัยที่น่าสนใจเกี่ยวกับพฤติกรรมในโลกออนไลน์ของวัยรุ่นซึ่งระบุว่าเวลา 1 ใน 8 ของวัน วัยรุ่นไทยจะใช้ชีวิตอยู่ในโลกออนไลน์ บางรายมีพฤติกรรมออนไลน์ได้ตลอดทั้งวันทั้งคืนจนกระทั่งหลับหน้าจอ
โดยผู้ชายจะนิยมดาวน์โหลดไฟล์ต่างๆ และเล่นเกมออนไลน์ ในขณะที่ผู้หญิงนิยม blog และฟังเพลง ปัจจุบันพบตัวเลขของสมาชิก hi5 ในไทยเพิ่มขึ้นเป็น 43 ล้านคน ซึ่งมากกว่าผู้ใช้ msn ประมาณ 5 แสนคน เฉลี่ยแล้ว hi5 มีสมาชิกใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 26,000 คนต่อวัน ในขณะที่คนไทยมีสถิติการใช้ msn ติดอันดับ 9 ของโลก หรือประมาณ 4.25 ล้านคน ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 47 เปอร์เซ็นต์ โดย 49 เปอร์เซ็นต์ของวัยรุ่นจะเล่นเกมส์ไปพร้อมกับออนไลน์ไปด้วย และ 90 เปอร์เซ็นต์ของวัยรุ่นจะ ad game ที่เพื่อนฟอร์เวิร์ดให้ โดยจะใช้เวลาเฉลี่ยในการเล่นครั้งละไม่น้อยกว่า 25 นาที
นอกจากนี้ยังพบว่าวัยรุ่นไทยใช้เวลาอยู่กับสื่อต่างๆ ต่อวันมากกว่าค่าเฉลี่ยตามปกติของคนเอเชียแปซิฟิก และสื่อที่พบว่ามีอิทธิพลต่อกลุ่มวัยรุ่นมากที่สุดคือมือถือ คิดเป็น 69 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคืออินเตอร์เน็ต 38 เปอร์เซ็นต์ และทีวี 31 เปอร์เซ็นต์ และยังพบอีกว่าคนไทยใช้มือถือมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของเอเชีย เฉลี่ย 2.47 ชั่วโมงต่อวัน ส่วนใหญ่จะใช้มือถือเพื่อการรับ-ส่ง sms โดยพบว่า ผู้ชายจะใช้มากกว่าผู้หญิง คิดเป็น 70 เปอร์เซ็นต์ และ 68 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ
จะเห็นได้ว่าสังคมในโลกออนไลน์สื่อที่มีอิทธิพลต่อวัยรุ่นไทยมากที่สุดก็คืออินเตอร์เน็ต โดยพบว่าปัจจุบัน hi5.com เป็นเว็บไซต์ยอดนิยมที่วัยรุ่นเข้าชมมากที่สุด คิดเป็น 52 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาคือ google 20 เปอร์เซ็นต์ และ sanook 4 เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ และเมื่อสำรวจถึงพฤติกรรมของการเข้าเว็บไซต์ของวัยรุ่นพบว่า เป้าหมายอันดับต้นๆ คือการแชตหาเพื่อนเพื่อคุยกับเพื่อน และการเล่นเกมออนไลน์ รองลงมาคือหาข้อมูลความรู้เพื่อทำรายงาน ฟังเพลงออนไลน์ อ่านข่าวบันเทิง อ่านนิยาย และอ่านข่าวสารทั่วไป ฯลฯ
ช่วงปิดเทอมจึงเป็นช่วงเวลาที่ค่อนข้างสุ่มเสี่ยงและน่าเป็นห่วงสำหรับวัยรุ่นไทย เพราะเด็กจะมีเวลาว่างมากหลังจากที่ได้ตรากตรำกับการเรียนมานาน จึงต้องการที่จะผ่อนคลายและต้องการความเป็นอิสระ โอกาสที่เด็กจะขลุกอยู่กับหน้าจอคอมพิวเตอร์เพื่อแชตหาเพื่อนคุยหรือเล่นเกมออนไลน์จึงมีความเป็นไปได้สูง ทั้ง 2 ประเด็นนี้อาจกลายเป็นภัยสังคมที่แฝงมากับโลกออนไลน์ และสร้างปัญหาใหญ่ให้กับวัยรุ่นได้ โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่นที่เป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น เด็กที่ไม่มีกิจกรรมทำ อยู่บ้านคนเดียวหรืออยู่กับเด็กๆ ด้วยกัน ผู้ปกครองไม่มีเวลาดูแล รวมทั้งเด็กที่มีปัญหาทางด้านอารมณ์ เป็นต้น
ทั้งนี้ จากการสอบถามข้อมูลและพฤติกรรมเกี่ยวกับการสนทนาออนไลน์ในกลุ่มวัยรุ่นพบว่า วัยรุ่นทั้งหญิงและชายมากกว่า 20 เปอร์เซ็นต์ เคยนัดพบกับคนแปลกหน้า และเคยมีเพศสัมพันธ์กับคนที่รู้จักผ่านการแชตทางอินเตอร์เน็ตโดยเฉพาะวัยรุ่นหญิงไทยที่นิยมแชตหาเพื่อนคุยทางอินเทอร์เน็ตจะมีโอกาสเสี่ยงสูงต่อการถูกล่อลวงไปข่มขืน หรือการถูกล่วงละเมิดทางเพศได้ง่าย
ส่วนการเล่นเกมออนไลน์นั้นพบว่าถ้าเด็กเล่นเกมเกิน 6 ชั่วโมงต่อวันจะส่งผลทำให้ติดเกมได้ ซึ่งผลลบที่ตามมาจากปัญหาการติดเกมนั้นปัจจุบันพบว่าเป็นปัญหาใหญ่ของสังคมไทย ทั้งปัญหาเด็กหายออกจากบ้าน ปัญหาการก่ออาชญากรรม การจี้ปล้น ลักขโมย การขายบริการทางเพศ สิ่งเสพติด ฯลฯ เพราะปัญหาการติดเกมถือว่าเป็นไวรัสความรุนแรงชนิดหนึ่งที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ
ภัยอันตรายและปัญหาต่างๆ จากโลกออนไลน์ที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กในช่วงปิดเทอมนี้พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนล้วนมีส่วนร่วมป้องกันได้ถ้ารู้จักที่จะปรับจูนเข้าหากัน โดยผู้ปกครองควรใส่ใจและจัดสรรเวลาดูแลลูก เช่น การใช้เวลาทำกิจกรรมกับลูกตามความสมัครใจของลูก ให้ความสำคัญกับลูกด้วยการพูดคุยกัน และรับฟังความคิดเห็นของลูก หรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่ลูกชอบ การที่พ่อแม่ได้ใช้เวลาสักครึ่งชั่วโมงหลังเลิกงานพูดคุยสารทุกข์สุกดิบกับลูก หรือร่วมเล่นเกมกับลูก ให้คำแนะนำถึงเกมที่เหมาะสมหรือดูทีวีร่วมกันก็จะสามารถใช้เวลาระหว่างดูทีวีพูดคุยกันได้ ถ้าเป็นวันหยุดก็อาจพาไปเที่ยวนอกบ้านบ้าง เช่น การไปทัศนศึกษา ไปเลือกซื้อของที่ลูกชอบ หรือพาไปทำกิจกรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์ นอกจากลูกจะได้ใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์แล้วจะทำให้เขามีความภูมิใจในตัวเองที่ได้ช่วยเหลือสังคม
การอบรมเลี้ยงดูให้ความรักและเอาใจใส่ และสัมพันธภาพที่ดีภายในครอบครัวถือเป็นการเติมวัคซีนใจที่ช่วยให้ลูกมีพลังสุขภาพจิต เป็นภูมิคุ้มกันสำคัญในการป้องกันปัญหาที่ดีที่สุด การปลูกฝังความคิดที่ดีจากพ่อแม่ผู้ปกครองจะทำให้เด็กสามารถแยกแยะสิ่งที่ถูกต้องได้ พร้อมๆ ไปกับการเรียนรู้ที่สามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างมีประโยชน์ต่อตนเองและครอบครัว ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการสื่อสารในครอบครัวให้เบาบางลงได้ และเป็นพื้นฐานสำคัญที่ช่วยหล่อหลอมให้ลูกเติบโตเป็นคนที่มีความสนใจ ใฝ่เรียนรู้สิ่งที่มีประโยชน์ต่อตนเอง และเป็นคนที่มีคุณภาพของครอบครัวและสังคม
ในโอกาสสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติประจำปี 2552 ที่จะมาถึงในวันที่ 1-7 พ.ย.นี้ เนื่องจากเป็นวาระครบรอบ 120 ปีงานสุขภาพจิตไทย กรมสุขภาพจิตได้มีนโยบายที่จะให้ประชาชนในทุกพื้นที่ทั่วประเทศได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมรณรงค์เสริมสร้างพลังสุขภาพจิต อึด ฮึด สู้ ได้อย่างทั่วถึง จึงได้สนับสนุนให้หน่วยงานสังกัดกรมสุขภาพจิตทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค ได้แก่ โรงพยาบาลจิตเวช สถาบันสุขภาพจิตและศูนย์สุขภาพจิต ตลอดจนสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทุกแห่งทั่วประเทศ จัดกิจกรรมเสริมพลังสุขภาพจิตให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างสอดคล้องและเหมาะสมกับบริบทของประชาชนในแต่ละท้องถิ่น ภายใต้แนวคิดเสริมเพิ่มพลังฝ่าวิกฤติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิกฤติชีวิต วิกฤติเศรษฐกิจและการเมือง ภายใต้แนวคิด “พลังสุขภาพจิต อึด ฮึด สู้ สู่ความสำเร็จ”
โดยมุ่งหวังให้ประชาชนที่เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ ได้นำพลังสุขภาพจิต อึด ฮึด สู้ ไปใช้ในชีวิตประจำวันให้เกิดประโยชน์กับตนเองและผู้ใกล้ชิด เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันทางจิตใจให้สามารถฟันฝ่าอุปสรรคในชีวิตได้อย่างมีความเข้มแข็งและมีความมั่นคงในจิตใจ โดยเฉพาะปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กๆ ในช่วงปิดเทอมนี้ พ่อแม่ผู้ปกครองสามารถพาลูกๆ ไปร่วมกิจกรรมรณรงค์ได้ เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนได้เรียนรู้การเสริมพลังสุขภาพจิต อึด ฮึด สู้ ให้สามารถนำไปใช้สร้างภูมิคุ้มกันภัยจากโลกออนไลน์ให้กับตัวเองได้อย่างประสบความสำเร็จ นอกจากนี้คนที่ประสบวิกฤติต่างๆ ในชีวิต ทั้งเรื่องครอบครัว เศรษฐกิจ สังคม ก็สามารถนำพลังสุขภาพจิตไปใช้เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตได้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ทุกคนมีโอกาสที่จะประสบวิกฤติในชีวิตได้ เพียงแต่ปัญหาของแต่ละคนอาจไม่เหมือนกัน แต่ถ้าหากเราเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับปัญหาได้อย่างมีสติ มองเห็นต้นทุนของชีวิตที่ยังมีอยู่ มองเห็นคุณค่าของตนเอง สร้างกำลังใจให้กับตนเองได้ ก็จะสามารถเห็นทางออกของปัญหาและค่อยๆ แก้ไขปัญหาอย่างมีความมั่นคงทางจิตใจ เราก็จะประสบความสำเร็จและสามารถดำเนินชีวิตในสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างมีความสุข
ที่มา: หนังสือพิมพ์บ้านเมือง
update: 26-10-52
อัพเดทเนื้อหาโดย: ภราดร เดชสาร