“ฟันน้ำนม” ใครคิดว่าไม่สำคัญ
พบเด็ก 9 เดือนก็เริ่มฟันผุแล้ว
มักมีผลงานวิจัยออกมาบ่อยครั้งเกี่ยวกับความสำคัญของฟันน้ำนม ที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่จะละเลยการให้ความสำคัญการดูแลรักษาฟันน้ำนม ซึ่งถือเป็นฟันซี่แรกของหนูน้อย เพราะมีความเชื่อที่ว่าอีกหน่อยก็มีฟันแท้ซึ่งจะอยู่คู่ติดตัวไปอีกนาน ฟันแท้จึงควรมีความสำคัญและบทบาทมากกว่า แต่คุณรู้หรือไม่ว่ากำลังคิดผิด
รศ.ทพญ.ชุติมา ไตรรัตน์วรกุล ภาควิชาทันตกรรมสำหรับเด็ก คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เล่าถึงผลการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 6 พ.ศ. 2550 พบว่า ร้อยละ 61.4 ของเด็กไทยอายุ 3 ปี มีฟันผุอย่างน้อยหนึ่งซี่ ในกลุ่มนี้ร้อยละ 2.33 เริ่มมีการสูญเสียฟันแล้ว ทั้งที่ฟันน้ำนมควรหลุดตามปกติในช่วงอายุ 6-13 ปี โดยการวิจัยระยะยาวเกี่ยวกับการเกิดฟันผุในเด็กเล็ก ผลสำรวจน่าตกใจที่ประเทศไทยพบว่า เริ่มมีการเกิดฟันผุซี่แรกตั้งแต่เด็กอายุเพียง 9 เดือน ทั้งๆ ที่ควรจะอยู่ในช่วงอายุ 9-18 เดือน ที่ผ่านมาพ่อแม่ผู้ปกครองอาจไม่ให้ความสำคัญกับการดูแลฟันน้ำนม ทั้งๆ ที่ฟันน้ำนมมีประโยชน์ไม่น้อยกว่าฟันแท้เลย คือ ฟันน้ำนมมีประโยชน์ต่อการบดเคี้ยว การออกเสียง ความสวยงาม รวมถึงบุคลิกภาพ และยังมีผลต่อการทำให้ฟันแท้ขึ้นได้ตรงทิศทางที่ควรจะเป็นในเวลาที่เหมาะสม ทำให้ลดปัญหาที่ต้องมีการจัดฟัน ช่วยทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายในอนาคตอีกทางหนึ่งด้วย
รศ.ทพญ.ชุติมา ยังบอกอีกว่า หากฟันน้ำนมผุจะส่งผลต่อการเจริญเติบโตทั้งทางร่างกาย สติปัญญาและอารมณ์ของเด็ก อาทิ การมีน้ำหนักและส่วนสูงต่ำกว่าปกติ และศีรษะเล็กกว่าปกติ เด็กจะรับประทานอาหารได้น้อยลง เพราะในภาวะที่เด็กมีความเจ็บปวด และอยู่ในระหว่างการติดเชื้อของฟัน รวมถึงการมีความเจ็บปวดทำให้รบกวนการนอน ส่งผลต่อการหลั่งฮอร์โมนที่ควบคุมการเติบโตของร่างกาย ทำให้มีผลต่อพัฒนาการของเด็กในที่สุด ซึ่งเด็กที่มีฟันน้ำนมผุสูงก็จะส่งผลให้ฟันแท้ผุสูงตามไปด้วย
นอกจากนี้ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากฟันผุ คือ เกิดความเครียดในครอบครัว อดนอน เสียค่าใช้จ่ายในการรักษา เสียรายได้จากการลางานเพื่อพาบุตรหลานมารักษาฟัน และยังต้องตระเวนหาผู้เชี่ยวชาญรักษาโรคฟันในเด็ก เนื่องจากปัจจุบันนี้มีทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการรักษาฟันเด็กน้อยมาก
แล้วฟันผุเกิดจากปัญหาใด?
เป็นความเชื่อมาโดยตลอดที่ว่าเกิดจากการกินของหวาน แปรงฟันไม่ถูกวิธี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของการเกิดฟันผุอย่างแน่นอน ตามที่ได้ร่ำเรียนกันมา รศ.ทพญ.ชุติมาได้ขยายให้ฟังอีกว่า ยังพบว่า สาเหตุที่ทำให้เกิดฟันผุในเด็กเล็ก เกิดจากการดูดนมแม่ นมขวด ที่ดูดคาปากเวลานอน ถึงแม้จะเป็นนมจืด แต่ในนมจืดมีน้ำตาลแล็กโตส ขณะที่ในช่องปากมีแบคทีเรียที่สามารถเปลี่ยนสภาพให้กลายเป็นกรดและเกิดฟันผุได้ แล้วยังพบอีกว่าผู้ปกครองจำนวนมากไม่ทราบว่าควรจะแปรงฟันลูกเมื่อไหร่ บางรายก็แปรงเมื่อลูกเริ่มโตเดินได้ แต่ความจริงแล้ว ผู้ปกครองควรแปรงฟันลูกตั้งแต่ซี่แรก ซึ่งวิธีการแปรงฟันอย่างถูกวิธีทำได้ไม่ยาก
· แปรงฟันตั้งแต่ฟันน้ำนมซี่แรก ด้วยยาสีฟันที่มีส่วนผสมของฟลูออไรด์ 500 ppm ใช้ยาสีฟันเพียงเล็กน้อย ปริมาณขนาดแตะปลายขนแปรงพอชื้น
· เลือกแปรงสีฟันที่มีลักษณะขนแปรงนุ่ม หน้าตัดเรียบ หัวเล็กที่สามารถครอบคลุมฟันประมาณ 3 ซี่ และมีด้ามจับที่ใหญ่
· แปรงฟันให้แก่เด็กวันละ 2 คร้ง โดยอาจแปรงฟันในช่วงก่อนหรือหลังอาบน้ำให้แก่เด็กเพื่อฝึกให้เป็นกิจวัตร
· ผู้ปกครองควรแปรงฟันให้เด็กอย่างต่อเนื่องจนถึงอายุประมาณ 7-8 ขวบ ซึ่งจะเป็นช่วงอายุที่เด็กมีการพัฒนาของกล้ามเนื้อนิ้วมือได้ดีแล้ว หรืออาจสังเกตจากที่เด็กผูกเชือกรองเท้าได้ด้วยตัวเอง
“โดยทั่วไปน้ำตาลแล็กโตสในนมไม่ได้มีผลทำให้ฟันผุโดยตรง แต่แบคทีเรียในช่องปากมีความสามารถพิเศษที่จะปรับตัว และสามารถทำให้แล็กโตสเกิดกรดได้ ดังนั้น การดูแลรักษาฟันอย่างถูกวิธีจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยการแปรงฟันอย่างถูกวิธี อย่างยาสีฟันที่ผสมฟลูออไรด์จากการศึกษาในระยะสั้นจะช่วยป้องกันฟันผุได้ประมาณร้อยละ 30 แต่มีนักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าหากศึกษาในระยะยาวจะพบว่าฟลูออไรด์จะช่วยลดการเกิดฟันผุให้ได้ประมาณร้อยละ 50-60 ส่วนยาสีฟันของเด็กที่มีรสหวานนั้นไม่ต้องเป็นห่วงว่าจะเป็นตัวการทำให้ฟันผุ เพราะในยาสีฟันของเด็กจะใช้น้ำตาลเทียม” รศ.ทพญ.ชุติมา กล่าว
แต่หากเกิดฟันผุไปแล้วจะทำอย่างไร ยิ่งโดยเฉพาะเมื่อเกิดฟันผุในเด็กเล็ก ทพญ.กุลยา รัตนปรีดากุล อดีตประธานชมรมทันตกรรมสำหรับเด็กแห่งประเทศไทย เล่าว่า ฟันผุที่ไม่ได้รักษาจะเกิดอาการบวมและติดเชื้อในช่องปากได้ เด็กบางคนพบฟันผุมากบวมไปถึงใต้ตาจนเกือบตาปิดก็มี การรักษาฟันผุจำนวนมากต้องใช้เวลาการรักษามากกว่า 10 ครั้ง
กรณีติดเชื้อเฉียบพลัน 1.ควบคุมติดเชื้อไม่ให้ลุกลาม ให้การรักษาในโรงพยาบาลและให้ยาปฏิชีวนะทางหลอดเลือด (IV) 2.กำจัดสาเหตุของโรค โดยร่วมกับการดมยาสลบ ถอนฟันและผ่าระบายหนองออก จากนั้นจึงรักษาฟันผุซี่อื่นๆ ในช่องปาก
“เมื่อฟันผุเจ็บปวดเป็นหนอง จึงจำเป็นต้องได้รับการทำฟันโดยการดมยาสลบ ซึ่งแม้จะเป็นวิธีที่ช่วยให้เด็กเล็กได้รับการรักษาที่มีคุณภาพสูง แต่ทั้งทีมแพทย์และผู้ปกครองทราบดีว่าต้องยอมรับความเสี่ยงร่วมกันในการรักษานั้น การดมยาสลบในเด็กต้องทำอย่างรอบคอบ โดยเวลาที่ใช้ในการดมยาสลบ คือ 3-6 ชั่วโมง และฉีดยาให้เด็กหลับก่อนที่จะดมยา เพื่อไม่ให้เด็กฝังใจกลัวหมอฟัน เราจะใส่ท่อช่วยหายใจทางจมูกเพื่อช่วยให้มีพื้นที่ในช่องปากมากขึ้น และต้องมีการถ่ายเอกซเรย์ในช่องปากและวางแผนรักษา นอกจากนี้ไม่ควรดมยาสลบในเด็กที่มีอาการไข้หวัด ควรจะให้หายจากอาการหวัดประมาณ 2 สัปดาห์ถึงทำการรักษาได้” ทพญ.กุลยา รัตนปรีดากุล กล่าว
ขณะเดียวกันทันตแพทย์เด็กจะพบว่าในประเทศไทยมีเพียง 400 คน หรืออัตราส่วนทันตแพทย์ 1 คน ต่อเด็ก 12,000 คน ซึ่งไม่เพียงพอ เพราะการรักษาฟันในเด็กยากกว่ามาก มีความเสี่ยงหลายอย่าง มักพบว่าเด็กจะฟันผุในอัตรา 9-20 ซี่ได้ เมื่อเด็กฟันผุมากกว่า 10 ซี่ ก็จำเป็นต้องใช้วิธีดมยาสลบเพื่อรักษาในครั้งเดียว จากข้อมูลคณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล พบเด็กอายุน้อยที่สุดที่ถูกวางยาสลบเพียง 18 เดือนเท่านั้น ในปี พศ.2552-2553 มีหน่วยงานทันตกรรม 3 แห่ง ได้รักษาโดยบูรณะฟันทั้งปากและดมยาสลบให้คนไข้เด็กมากกว่า 200 ราย ค่ารักษาสูงถึง 3.9 ล้านบาท โดยทุกสัปดาห์จะมีเด็กเล็กอายุไม่ถึง 3 ปี จำนวน 2-3 คน มีฟันผุ 9-20 ซี่ ต้องดมยาสลบเพื่อรักษา คิดค่าใช้จ่ายเฉลี่ยต่อรายสูงถึง 12,000 -50,000 บาท เพราะเด็กเล็กต้องมีแพทย์ร่วมกันดูแลหลายด้าน
ดังนั้น จะเห็นได้ว่าการดูแลฟันซี่แรกของลูกๆ จึงเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อย ทางเครือข่ายสโมสรนิสิตนักศึกษาทันตแพทย์จิตอาสา หรือเครือข่าย “Ismileteen” และสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาทันตแพทย์แห่งประเทศไทย (สนทท.) จึงได้จัดกิจกรรมรณรงค์ “ลูกรักฟันดีเริ่มที่ซี่แรก” (First love, First tooth) ในวันที่ 21 ตุลาคมนี้ ตั้งแต่เวลา 09.00-12.00 น.เนื่องในโอกาสวันทันตสาธารณสุขแห่งชาติ เพื่อเทิดพระเกียรติสมเด็จย่า ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ทั่วประเทศ โดยมีกิจกรรมการให้ความรู้เกี่ยวกับฟันน้ำนม สอนพ่อแม่ให้แปรงฟันในเด็กเล็ก การประกวดหนูน้อยฟันสวย เล่านิทานฟันดี พร้อมรับกิฟต์เซ็ต “First love, First tooth” ฟรี ข้อมูลเพิ่มเติม www.healthydent.org
ดูแลฟันซี่แรกลูกรักตั้งแต่วันนี้ เพื่อยิ้มสวยของลูกน้อยตลอดไป
ที่มา : สุนันทา สุขสุมิตร Teamcontent www.thaihealth.or.th
Update : 21-10-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : สุนันทา สุขสุมิตร