เผยพบผู้เสียชีวิตแล้ว 2 ราย
กรมควบคุมโรค เผย พบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเพิ่มอีก 2 รายติด ระบุ ปี 53 สังเวยให้หมาบ้าแล้ว 9 ราย สุดสยองแค่รอยข่วนรับเชื้อแค่เดือนเดียวตาย ประสาน กทม.ตามล่า หมาวัดท่าพระ กัดแมวจรจัด ที่แพร่เชื้อโรคตายยังลอยนวล เตือนอากาศร้อนจัด สุนัข-แมว เสี่ยงดุร้าย โดยเฉพาะระวังเด็กช่วงปิดเทอมใช้คาถา 5 ย.ป้องกัน
วานนี้ (17 มี.ค.) ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.มานิต ธีระตันติกานนท์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจาก กลุ่มโรคติดต่อจากสัตว์และคน สำนักโรคติดต่อทั่วไป ว่า เมื่อวันที่ 14-15 มี.ค.ที่ผ่านมา มีรายงานการเสียชีวิตดีวย
โรคพิษสุนัขบ้าในเขตกรุงเทพมหานคร 2 รายติดต่อกัน โดยรายแรกเสียชีวิตที่สถาบันบำราศนราดูร ส่วนอีกรายเสียชีวิตที่โรงพยาบาลตำรวจ เพิ่มจากรายที่ 7 ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข ที่เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2552
นพ.มานิต กล่าวต่อว่า จากรายงานการเสียชีวิตดังกล่าวทำให้เป็นที่น่ากังวล ว่า สถานการณ์ผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า ในปีนี้อาจจะมีแนวโน้มสูงขึ้นมาก จากปี 2551 ที่ตลอดทั้งปีมีผู้เสียชีวิตเพียง 9 ราย ในปี 2552 เพิ่มเป็น 23 ราย และ ในช่วง 2 เดือนเศษของปีนี้ เสียชีวิตรวม 9 ราย ที่น่าสังเกต คือ พื้นที่เกิดเหตุอยู่ในพื้นที่ซ้ำเดิมโดยเฉพาะ กทม.ที่ในปีนี้มีผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าแล้วถึง 5 ราย สาเหตุส่วนใหญ่มาจากสุนัขที่มีเจ้าของแทบทั้งสิ้น
“ในปี 2552 ผู้เสียชีวิต 7 ราย เสียชีวิตจากสุนัขของตนเองที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้ามาก่อน อีก 5 รายเกิดจากสุนัขไม่ทราบเจ้าของ ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่ไม่ได้ไปพบแพทย์ และไม่ได้สนใจกับบาดแผล โดยเห็นว่า สุนัขมีเจ้าของหรือบาดแผลเล็กน้อย คงไม่ติดโรคพิษสุนัขบ้า หรือเป็นลูกสุนัขคงไม่เป็นบ้า ความจริงแล้วแม้บาดแผลเล็กน้อย หากมีเชื้อโรคพิษสุนัขบ้าก็อันตรายถึงแก่ชีวิตได้” นพ.มานิต กล่าว
นพ.มานิต กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์ผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าจากรายงานโปรแกรมการลงรายงานผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้า ข้อมูลผู้สัมผัสโรคพิษสุนัขบ้าจากโรงพยาบาลต่างๆ ที่รายงานผ่านทางระบบออนไลน์ ณ วันที่ 29 ม.ค.2553 มีจำนวน 446,255 ราย กลุ่มผู้ถูกกัดมากที่สุด คือ เด็กอายุ 1-5 ปี รองลงมาอายุ 6-10 ปี สัตว์ที่กัดส่วนใหญ่เป็นสุนัข สุนัขที่กัดส่วนใหญ่เป็นสุนัขมีเจ้าของ โดยสัตว์ที่มีเจ้าของมีจำนวนสูงถึง 360,520 ตัว ไม่มีเจ้าของ 64,014 ตัว สัตว์ที่กัดเป็นสุนัขมากที่สุด คือ 390,135 ตัว รองลงมาเป็นแมว 55,222 ตัว
“ขณะนี้ใกล้ปิดเทอม ผู้ปกครอง และเด็กมีการเดินทางไปในที่ต่างๆ การเตือนผู้ปกครองให้บุตรหลานหลีกเลี่ยงการถูกสุนัขกัดเป็นสิ่งจำเป็น โดยลดพฤติกรรมที่ทำให้สุนัขกัดเพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกสุนัขกัด คือ อย่าแหย่ อย่าเหยียบ อย่าแยก อย่าหยิบ อย่ายุ่ง รวมทั้งเมื่อถูกสุนัขกัดแล้วต้องรีบล้างแผล ใส่ยา กักหมา หาหมอ และฉีดวัคซีนจนครบจะช่วยลดอัตรการเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าได้”อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว
ด้านสัตวแพทย์หญิง อภิรมย์ พวงหัตถ์ หัวหน้ากลุ่มโรคติดต่อจากสัตว์และคน กรมควบคุมโรค เปิดเผยรายละเอียดผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้ารายที่ 8 และ 9 ว่า ทั้ง 2 รายเสียชีวิตติดต่อกันรายวัน ที่น่าตกใจคือ มีการรับเชื้อเพียงแค่เดือนเดียวก็แสดงอาการและเสียชีวิตในเวลาอันรวดเร็ว
โดยรายที่ 8 เป็นชาย อายุ 32 ปี อาศัยอยู่ย่าน ถนนจรัญสนิทวงศ์ ซอยวัดท่าพระ แขวงวัดท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ ถูกแมวจรจัดในตลาดกัดที่นิ้วมือขวาเป็นแผลระหว่างนิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้ เมื่อเดือน ก.พ.2553 ขณะเข้าไปห้ามหมาซึ่งไล่กัดแมว แมวจึงหันมากัดผู้เสียชีวิตรายนี้ หลังจากนั้นแมวถูกหมากัดตาย
ผู้ป่วยเริ่มมีอาการป่วยเมื่อวันที่ 10 มี.ค.2553 เข้ารับการรักษา 13 มี.ค.2553 ที่โรงพยาบาลบางไผ่ หลังจากนั้น ถูกส่งตัวมารักษาที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร คนไข้มีอาการกลัวน้ำ กลัวลมชัดเจน และเสียชีวิตเมื่อ 14 มี.ค.2553 โรงพยาบาลบำราศนราดูร เก็บตัวอย่างน้ำลาย ปมรากผมส่งตรวจที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยวิธีพีซีอาร์ (pcr) พบเชื้อในน้ำลายและเซลล์กระจกตา แต่คนไข้รายนี้ไม่มีการเก็บเนื้อสมมองยืนยันไม่มีแพทย์เก็บตัวอย่าง หรือสั่งการให้เก็บ และขณะนี้ญาติผู้เสียชีวิต แจ้งว่า สุนัขตัวที่กัดแมวยังมีชีวิตอยู่ในตลาด ซึ่งจะต้องติดตามดูอาการสุนัข หลังจากกัดแมวนาน 6 เดือน หรืออาจจะต้องแจ้ง กทม.เพื่อเข้าไปกำจัดสุนัขตัวนี้ ก่อนที่จะแพร่เชื้อโรคไปให้สัตว์หรือคนอีกเป็นจำนวนมาก
สัตวแพทย์หญิง อภิรมย์ กล่าวต่อว่า สำหรับรายที่ 9 เป็นชาย อายุ 67 ปี อาศัยอยู่แถวซอยอาจณรงค์ แขวงและเขตคลองเตย เมื่อ 15 ก.พ.2553 มีลูกสุนัขติดล้อรถ จึงเข้าไปช่วยและถูกลูกสุนัขกัดเข้าที่เล็บของมือข้างซ้ายวันรุ่งขึ้นลูกสุนัขตัวนั้นตาย ภรรยาได้บอกให้ไปฉีดวัคซีน แต่ผู้ตายไม่เชื่อ และไม่ยอมไปหาหมอ โดยอ้างว่า เป็นแค่ลูกหมาตัวเล็กๆ จึงแค่กินยาแก้ปวดพาราเซตามอล ผู้เสียชีวิตรายนี้เริ่มมีอาการกลัวลม ไม่อยากดื่มน้ำ เมื่อ 15 มี.ค.2553 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลตำรวจและเสียชีวิตตกลางคืนในวันเดียวกัน เก็บน้ำลายตรวจศูนย์โรคโรงพยาบาลจุฬา พบเชื้อพิษสุนัขบ้า
“ขณะนี้เหตเกิดใน กทม.ค่อนข้างถี่ และการจัดการกับสุนัขทั้งที่ตลาดนัดสวนจตุจักร ห้างสรรพสินค้าที่ กทม.เคยประกาศไว้ก็ยังไม่ได้มีการดำเนินการอย่างจริงจัง รวมถึงจำนวนประชากรของสุนัขจรจัดที่เพิ่มมากขึ้นด้วย ที่สำคัญ ช่วงนี้อากาศร้อนจัดมาก โอกาสที่สุนัขจะมีอารมณ์ดุร้าย มีสูงมาก จึงน่าจะมีมาตรการป้องกัน หรือให้ความรู้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า แม้จะไม่ได้ถูกกัด แค่ถูกน้ำลายที่สัตว์ ซึ่งมีเชื้อโรคมาเลียก็อาจทำให้ติดเชื้อได้ ทั้งนี้ จากข้อมูล พบว่า สัตว์ต้นเหตุที่ทำให้คนเสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้าเกิดจาก สุนัขมีเจ้าของ 6 ราย สุนัขจรจัด 2 ราย และ แมวจรจัด 1 ราย” สพญ.อภิรมย์ กล่าว
ที่มา : หนังสือพิมพ์ ผู้จัดการ
update 18-03-53
อัพเดทเนื้อหาโดย : ฤทัยรัตน์ ไกรรอด