พิชิตธุรกิจยุค AEC ด้วย’ดัชนีความสุข’
องค์กรสุขภาวะในอุตสาหรกรรมแฟชั่น ร่วมแสดงผลงานเป็นองค์กรต้นแบบเห่งความสุขทุกมิติ โดยใช้หลัก 3H คือ Hand ฝีมือ Head สมอง และ Heart จิตใจ
ประเทศไทยมีแรงงานขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคมกว่า 8,600,000 คน จากสถานประกอบการทุกขนาดเกือบ 400,000 แห่ง "พลเมืองแรงงาน" ที่มีอยู่มิใช่น้อย จึงสำคัญอย่างยิ่งยวด ต่อการอยู่รอดและเติบโตของธุรกิจ ในอดีตการพัฒนาแรงงานอาจมองเพียง การเพิ่ม ทักษะฝีมือ เพื่อให้สามารถทำงานได้ดีขึ้น ได้ผลผลิต (Productivity) ที่สูงขึ้น ทว่าปัจจุบัน โจทย์ที่สำคัญ กว่านั้น คือ การพัฒนาทักษะชีวิต เพิ่มปริมาณ"ความสุข" ให้กับแรงงาน "นอกจากต้องทำให้แรงงานมีทักษะในการทำงาน เขาต้องมีทักษะในการใช้ชีวิตด้วย" คำยืนยันจาก "มล.ปุณฑริก สมิติ" รองปลัดกระทรวงแรงงาน ในวันที่เข้าร่วมงานแสดงผลงาน 10 ต้นแบบองค์กรสุขภาวะในอุตสาหกรรม เครื่องนุ่งห่ม (Happy Work-Life Variety Show) และเปิดโครงการส่งเสริมการเป็นองค์กรสุขภาวะในอุตสาหกรรมแฟชั่น (Fashions Happiness Design) โดย มูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่อง นุ่งห่มไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการ สร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ผ่านมา ประเด็นเรื่อง "การสร้างองค์กรแห่งความสุข" (Happy Workplace) ถูกหยิบยกมาพูดถึงกันมากขึ้นในภาคอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ยุคที่สถานการณ์เปลี่ยน การแข่งขันรุนแรง ขณะเครื่องมือเดิมๆ ที่เคยใช้กัน ชักจะไม่พอและ "เอาไม่อยู่" ในยุคนี้ แม้แต่การสนับสนุนของกระทรวงแรงงาน ก็ขยายมาให้ความสำคัญกับแรงงานครอบคลุมทั้ง "3 H" นั่นคือ Hand ฝีมือ Head สมอง และ Heart จิตใจ
"อย่างกรณีการขึ้นค่าแรง 300 บาท เราพบว่า อุตสาหกรรมที่เตรียมตัวพร้อมที่สุดคือ เครื่องนุ่งห่ม โดยโรงงานเครื่องนุ่งห่มหลายโรง ต้องปรับค่าแรงเพิ่มเป็นเท่าตัว แต่ก็ยังอยู่ได้ด้วยพลังของพนักงาน ที่ช่วยกันปรับตัว ทั้งด้าน การบริหารจัดการ การผลิต ทักษะฝีมือ การลดต้นทุน ตลอดจน การสร้างความสุขในองค์กร"
การทำงานที่มีคุณค่า ได้ค่าตอบแทนที่ดี และมีความปลอดภัย อาจไม่พอสำหรับแรงงาน เธอบอกว่า นายจ้างต้องเห็นด้วยว่า พนักงานเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ขณะลูกจ้างเอง ก็ต้องเห็นคุณค่าของนายจ้าง ที่จะเป็นผู้นำพาองค์กรให้อยู่รอด เช่นเดียวกับมุมมอง ของ "นพ.ชาญวิทย์ วสันต์ธนารัตน์" ผอ.สำนักสุขภาวะองค์กร สสส. ที่บอกว่า
"ลูกน้อง ไม่ได้มีแค่ ค่าในการทำงาน แต่มีค่าในการใช้ชีวิตร่วมกับองค์กรด้วย"
เขาบอกว่า ลองเทียบลูกน้องหนึ่งคนที่ทำงานดี แต่คิดเพียงว่า มาทำงานตามหน้าที่ เลิกงานก็ กลับบ้าน ไม่ผูกพันกับองค์กร ขณะที่อีกคนบอกว่า ไม่ได้แค่มาทำงาน แต่ "มาใช้ชีวิตร่วมกับทุกคนในที่ทำงาน" คนแบบหลังนี้ จะมีความรักและผูกพันกับองค์กร เมื่อมีปัญหาก็เต็มใจร่วมแก้ไข พร้อมร่วมกันคิดก่อเกิดนวัตกรรมให้องค์กร ซึ่งการสร้างคนที่คิดแบบนี้ ด้วยโมเดลองค์กรแห่งความสุข ยังสามารถเพิ่มผลผลิต (Productivity) ในการทำงานให้สูงขึ้นได้ สร้างแต้มต่อในการแข่งขันให้กับธุรกิจในยุคนี้
เครื่องมือที่ชื่อ "ความสุข" จึงช่วยให้หลายองค์กร ฝ่าวิกฤติได้ สอดรับกับคำยืนยันของ "พิษณุ มุนิกานนท์" ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรม เครื่องนุ่งห่มไทย ที่บอกว่า จากการดำเนินโครงการส่งเสริมองค์กรสุขภาวะในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2555-พ.ค. 2557 สามารถกระตุ้นให้เกิดองค์กรสุขภาวะในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม จำนวน 137 องค์กร และสามารถสร้างต้นแบบองค์กรสุขภาวะ 10 องค์กร มีผู้ได้รับประโยชน์ไม่ต่ำกว่า 137,000 คน เกิดกลุ่ม Community เชื่อมโยงความสุขทั้งในและนอกองค์กร ขณะที่ค่าเฉลี่ย Productivity เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10%
"สิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากภาคการผลิตในพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม หรือที่อื่นๆ คือ ที่อื่นเขามุ่งเน้น Productivity ด้วยระบบกับคน แต่ไม่ได้มุ่งเน้นผ่านกระบวนการที่เรียกว่า สุขภาวะ ควบคู่กันไปด้วย ผมมองว่า นี่เป็นสิ่งที่ประเทศไทยมี อยู่แล้ว และเหนือกว่าประเทศอื่นที่ทำงานเหมือนกับเรา ฉะนั้นต้องพยายามรักษามันไว้"
แค่เปลี่ยนจากการชี้นิ้วสั่ง หัวหน้าใช้แต่อารมณ์ ชัดเจนว่า ฉันเป็นเจ้านาย เธอเป็นลูกน้อง มาเป็นใช้ความเป็นพี่เป็นน้อง พูดคุยและรับฟังซึ่งกันและกัน เลือกจับมือกันทำงานแทนการชี้นิ้ว ก็ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้
"กฤษติยา ถาวรพฤกษ์" กรรมการบริหารโรงงานฟุตบอลไทย สปอร์ตติ้ง กู้ดส์ จำกัด (FBT) หนึ่งองค์กรต้นแบบความสุข ด้านการให้คุณค่า และความสำคัญกับพนักงานและครอบครัว บอกปัญหาของการที่หัวหน้างานเคยอารมณ์ร้อน ใช้อำนาจในทางที่ผิด มีช่องว่างขนาดใหญ่ระหว่างเจ้านายกับลูกน้อง ทำให้นอกจากไม่ได้ใจ ยังไม่ได้ผลผลิตที่สูงขึ้นด้วยเพราะทุกคนไม่อยากให้ความร่วมมือ
"แต่ก่อนเราทำงานด้วยอารมณ์ มีความเครียด วันหนึ่งลูกน้องถามว่า จะเปลี่ยนตัวเองได้ไหม เลยถามเขาว่า จะให้เวลาเท่าไร เขาให้ 6 เดือน ก็บอกโอเค ทำให้ สรุปสามารถเปลี่ยนตัวเองได้ในสามเดือน เลยถามเขากลับไปว่า พอใจไหม เขาบอกพอใจ คราวนี้ เลยขอเขาบ้างว่า ความรู้ที่มีอยู่ขอให้คนอื่นได้รู้ด้วย อย่ารู้อยู่คนเดียว ก็แลกเปลี่ยนกับเขา"
จากเจ้านายอารมณ์ร้าย ก็กลายเป็นคนยิ้มแย้ม แจ่มใส ทำผิดก็รู้จักขอโทษ แม้คนตรงหน้าจะเด็กกว่า ใจเย็น และรับฟัง ทำให้พนักงานไว้ใจ ขณะที่ ลองเปลี่ยนการทำงานจากระบบเหมาที่พนักงานจะทำงานแบบตัวใครตัวมัน รายได้ก็เหลื่อมล้ำ มาทำงานเป็นกลุ่ม เป้าหมายเดียวกัน มีได้รายได้เท่าๆ กัน ทุกคนก็ร่วมแรงร่วมใจกันมากขึ้น และพยายามเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้นด้วย เพื่อที่จะมี รายได้เพิ่มจากการร่วมแรงครั้งนี้ และนั่นก็คือ ผลบวก "ตรงๆ" ที่กลับเข้าสู่องค์กร
เช่นเดียวกับความเปลี่ยนแปลงใน บริษัท พีเจ การ์เม้นท์ (ประเทศไทย) ผู้ผลิตยูนิฟอร์มพนักงาน ที่อยู่ในสนามมากว่า 20 ปี มีพนักงานรวมสองโรงงาน ประมาณ 250 คน ทำตลาดทั้งในและต่างประเทศ ในวันนี้ทายาทรุ่นสอง "วิภาพร สัตยาอภิธาน" ผู้จัดการฝ่ายการตลาด เข้ามาสานต่อธุรกิจ และเริ่มนำแนวคิดใหม่ๆ เข้ามาใช้กับองค์กร หนึ่งในนั้นก็คือวิถี Happy Workplace องค์กรแห่งความสุข
"มีความคิดว่า ต้องทำอย่างไรที่จะให้พนักงานทุกคนรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร มีความเป็นเจ้าของ เพราะถ้าได้ความรู้สึกนี้ เราก็น่าจะได้ Productivity เพิ่มขึ้น พนักงานก็ได้ค่าตอบแทนที่ดีขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดีตามไปด้วย"
ที่มาของการตัดสินใจที่เข้าร่วมโครงการน้ำดี โดยนำแนวคิด Happy8 สุขทั้ง 8 ของสสส.มาปรับใช้ เริ่มจากปรับระบบการทำงานจากที่จ่ายแบบรายวัน มาใช้ระบบเหมา ที่ทำให้พนักงานได้รายได้มากขึ้น องค์กรก็เพิ่มผลผลิตได้มากขึ้นด้วย บรรยากาศการทำงานมีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยการให้คุณค่าและความสำคัญกับพนักงานในทุกระดับ เปิดโอกาสให้ได้แสดงความคิดเห็น ว่าต้องการอะไรจากองค์กร และทำอย่างไรที่จะให้องค์กรปรับไปในทางที่ดีขึ้น สอดคล้องกับความต้องการของเขา ที่มาของผลลัพธ์ "ระดับความสุข" ของพนักงานที่เคยมีเพียงแค่ 30% เพิ่มขึ้นเป็น 70% ภายในปีเดียว
นี่คือตัวอย่างของการปรับตัวในอุตสาหกรรมยุคที่กำลังก้าวเข้าสู่ AEC โดยเลือกใช้อาวุธอย่าง "ความสุข" ฝันฝ่าวิกฤติ และสร้างแต้มต่อให้กิจการ เพื่อให้ชาติไทยไม่เป็นรองชาติใดในอาเซียน
"เป็นเอสเอ็มอีภาคการผลิต มีแต่เรื่องช้ำๆ และโจทย์หินๆ ทั้ง ต้นทุนแพง ค่าแรงพุ่ง แรงงานหายาก ตลาดเปลี่ยน คู่แข่งล้นสนาม ความสามารถในการแข่งขันก็ลดน้อยถอยลงเรื่อยๆ สำหรับอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม พวกเขาเลือกฝ่าวิกฤติด้วยวัคซีนที่ชื่อ "ความสุข" สูตรเพิ่ม Productivity สร้างแต้มต่อในสนามแข่ง AEC"
"สิ่งที่ทำให้เราแตกต่างจากภาคการผลิตในพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม คือ Productivity ด้วยระบบกับคน"
ที่มา: หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ